เฟซบุ๊ก เปลี่ยนเกมธุรกิจ บิ๊กดีล “พรีเมียร์ลีก” สะเทือนทุกวงการ

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

แม้จะยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทางเฟซบุ๊ก แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้แก่หลาย ๆ ธุรกิจไม่น้อย

เมื่อแพลตฟอร์มออนไลน์เบอร์ยักษ์ของโลก อย่าง “เฟซบุ๊ก” ได้ทุ่มเงินกว่า 200 ล้านปอนด์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8,000 กว่าล้านบาท) ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ครบ 380 แมตช์ รวม 3 ฤดูกาล (2019-2022) ครอบคลุม 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว

ซึ่งการประมูลครั้งนี้เป็นที่น่าจับตา เพราะเฟซบุ๊กสามารถเอาชนะยักษ์ที่เคยคว้าสิทธิ์การถ่ายทอดสดในภูมิภาคนี้มาแล้วอย่าง บีอินสปอร์ต และฟ็อกซ์ สปอร์ต เอเชีย ที่มีเครือข่ายช่องรายการกีฬาอันดับต้น ๆ ทั่วเอเชีย

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศ “เดอะไทม์ส” ได้ระบุว่า เฟซบุ๊กได้คว้าสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษรวม 3 ฤดูกาล (2019-2022) สูงถึง 200 ล้านปอนด์ ชนะคู่แข่งขันอย่าง บีอินสปอร์ต และฟ็อกซ์ สปอร์ต เอเชีย

ปรากฏารณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงบทบาทของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลขึ้น ขณะที่แพลตฟอร์มเดิมอย่าง ฟรีทีวี โทรทัศน์บอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) ก็กำลังถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ จากพฤติกรรมคนดูและแนวโน้มตลาดสื่อที่เปลี่ยนไป

พรีเมียร์ลีก…บิ๊กดีล 8 พันล้าน

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมทีวีฉายภาพว่า ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กได้ทดลองถ่ายทอดสดกีฬามาแล้ว โดยต้นปีที่ผ่านมาก็ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลลีกฟุตบอลสูงสุดในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา (MLS : Major League Soccer) และฟุตบอลลาลีกาสเปนมาแล้ว

ขณะที่การทุ่มเม็ดเงินกว่า 200 ล้านปอนด์ เพื่อซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษครั้งนี้คาดว่า เฟซบุ๊กคงกำลังทดลองโมเดลใหม่ ๆ อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กทำมาตลอด เพราะยังไม่มีโมเดลการหารายได้ที่ชัดเจนออกมาว่าจะปล่อยให้ชมฟรีแต่มีโฆษณาเหมือนฟรีทีวี หรือจะเก็บเงินด้วยระบบสมาชิกแบบเพย์ทีวี แต่เชื่อว่าเฟซบุ๊กก็คงมีข้อมูลของกลุ่มผู้ชมใน 4 ประเทศนี้ที่ดี ถึงกล้าที่จะตัดสินใจลงทุนซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษนี้

“การเข้ามาซื้อคอนเทนต์กีฬาของเฟซบุ๊ก สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่การเกิดขึ้น นั่นคือพฤติกรรมคนดูและจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เพิ่มขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งในแง่ของแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ต้องสร้างการเติบโต ซึ่งคอนเทนต์ถือเป็นสิ่งสำคัญของทุก ๆ แพลตฟอร์ม”

ขณะที่ “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความคิดเห็นว่า เฟซบุ๊กให้ความสนใจคอนเทนต์กีฬาอยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดบาสเกตบอล NBA ที่อเมริกา แต่อาจจะต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง ขณะเดียวกันการหารายได้จากพรีเมียร์ลีกอังกฤษก็ยังไม่ค่อยชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบใด จะเป็นแบบฟรีแต่มีโฆษณาหรือการเก็บเงิน

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เครื่องรับทีวีรุ่นใหม่ในไทยก็เป็นอินเทอร์เน็ตทีวีเกือบหมดแล้ว ที่มีแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ ติดมากับเครื่อง ทำให้ผู้ชมก็รับชมได้ เพียงแต่ต้องเสียค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่มเท่านั้น ซึ่งสะท้อนภาพของตลาดว่า แพลตฟอร์มยังคงต้องการคอนเทนต์เพื่อดึงคนดู

เปลี่ยนเกมตลาดฟรีทีวี

“เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสทม จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงเทรนด์ตลาดและพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยเฟซบุ๊กกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กำลังเปลี่ยนตลาด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบต่อแพลตฟอร์มเดิม ๆ ในไทย ทั้งธุรกิจฟรีทีวี เพย์ทีวี ที่เคยใช้ลิขสิทธิ์กีฬาเป็นตัวสร้างจุดขายหารายได้ ดังนั้นในแง่ของผู้ประกอบการฟรีทีวีและเพย์ทีวีก็อาจจะต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อสร้างรายได้ พร้อมกับลดการพึ่งพาคอนเทนต์กีฬาจากต่างประเทศ เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์กีฬาที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งไม่สอดรับกับรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“การที่แพลตฟอร์มใหม่ เฟซบุ๊คโตขึ้น และเข้ามาซื้อคอนเทนต์กีฬา สะท้อนว่าแนวโน้มตลาดเปลี่ยน คนดูเปลี่ยน นั่นหมายถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับฟรีทีวี เพย์ทีวี แต่ในแง่ของผู้บริโภคเองก็สามารถรับชมคอนเทนต์กีฬานี้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา ผ่านสมาร์ทโฟน หรือดีไวซ์ต่าง ๆ ส่วนจะดูฟรี หรือต้องสมัครสมาชิกก็ต้องรอความชัดเจนจากทางเฟซบุ๊กอีกครั้ง”

เม็ดเงินโฆษณาไหลออกทั้งระบบ

เช่นเดียวกับ “ณรงค์ ตรีสุชน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) จำกัด มีเดียเอเยนซี่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทีวีและเพย์ทีวีของไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากคอนเทนต์กีฬาและการถ่ายทอดสดเสมือนเป็นคอนเทนต์สุดท้ายที่สามารถดึงกลุ่มคนดูได้อย่างเหนียวแน่น และช่องทีวีดิจิทัลหลายช่องก็ใช้คอนเทนต์ฟุตบอลเป็นแม็กเนตหลักในการสร้างชื่อ สร้างเรตติ้งและสร้างรายได้ แต่เมื่อแม็กเนตตัวสำคัญถูกออนไลน์แพลตฟอร์มเข้ามาแย่งไป ทำให้ช่องต่าง ๆ ก็อาจจะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อดึงคนดูต่อให้ได้

“แม้เฟซบุ๊กจะไม่เข้าประมูลในทุก ๆ คอนเทนต์ที่สำคัญ ๆ แต่ช่องต่าง ๆ ก็ต้องปรับกลยุทธ์ เพราะค่าลิขสิทธิ์กีฬาเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และแม้ช่องหรือผู้ประกอบการเพย์ทีวีจะประมูลคอนเทนต์กีฬาได้ แต่ในแง่ของการสร้างรายได้ก็อาจไม่เติบโตเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดและพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนเร็ว”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มออนไลน์ขยายตัวขึ้น หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ทุกปี ซึ่งสวนทางกับแพลตฟอร์มเก่าที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง โดยสิ่งที่น่ากังวล คือ เม็ดเงินโฆษณาที่สินค้าในไทยใช้กับแพลตฟอร์มต่างประเทศนี้ ทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ เหล่านี้จะไหลออกนอกประเทศ โดยไม่ถูกหมุนเวียนกลับเข้าในประเทศเหมือนที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินโฆษณาลดลงและกระทบภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาทั้งระบบ รวมถึงบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้ด้วย

เมื่อเฟซบุ๊กกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนเกมของหลาย ๆ ธุรกิจ ขณะที่คอนเทนต์เองก็กลายเป็นขุมทรัพย์สำคัญของทุก ๆ แพลตฟอร์มในการดึงคนดูเช่นกัน