รพ.เอกชน ดิ้น “คุมค่ายา” โต้แก้ไม่ตรงจุด…ต้นทุนเราไม่เท่ากัน

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ทันทีที่กระทรวงพาณิชย์มีมติเพิ่มเวชภัณฑ์ เป็นรายการสินค้าควบคุม และยังรวมถึงค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ ของสถานพยาบาล ให้เข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุม

เป็นแรงกระเพื่อมให้ราคาหุ้นโรงพยาบาลที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปรับตัวลดลงในช่วงเย็นวันนั้นทันที (9 ม.ค. 2562) โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เจ้าของ โรงพยาบาลกรุงเทพ สมิติเวช พญาไท เปาโล กลุ่มธนบุรีเฮลท์แคร์

“มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ จำกัด ที่ระบุว่า ทันทีที่กระทรวงพาณิชย์มีมติให้เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าควบคุมก็ทำให้เกิดแรงขายหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลทันที เนื่องจากส่งผลทางจิตวิทยาและบรรยากาศการลงทุน

อีกด้านหนึ่งโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ก็ออกมาแสดงความเห็นว่า “ไม่เห็นด้วย” และ “ค้าน” แนวคิดดังกล่าว และชี้ให้เห็นว่า รพ.เอกชนนั้นถือเป็น “ทางเลือก” ของประชาชน

ขณะที่แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ แสดงความเห็นในเรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” การกำหนดให้เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าควบคุมนั้นคงต้องวางแนวทางให้ชัดเจน เพราะต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนและรัฐบาลแตกต่างกัน ซึ่งประชาชนมีสิทธิ์ในการเลือกใช้บริการตามความเหมาะสม ถ้าจะกำหนดให้ราคายาของ รพ.เอกชนเท่ากับ รพ.รัฐบาลคงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้นทุนไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายนี้ยอมรับว่า โรงพยาบาลเอกชนบางรายก็เก็บค่ายาและบริการบางรายการสูงเกินไป ขณะเดียวกัน การพิจารณาก็จะต้องมองในหลาย ๆ มุม เพราะยาบางตัวมีราคาสูง เนื่องจากมีต้นทุนการวิจัยสูง การควบคุมค่าเวชภัณฑ์อาจจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะทุกวันนี้ รพ.ของรัฐยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งเป็นที่มาของการที่รัฐต้องมีมาตรการจูงใจการลงทุนขึ้นมา

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชนอีกรายย้ำว่า การให้เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าควบคุม ทางการจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย เพราะต้นทุน รพ.เอกชนแต่ละแห่งก็มีความแตกต่างกัน หากตั้งเพดานต่ำเกินไป ธุรกิจรพ.เอกชนก็คงต้องหาทางออกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การลดค่าใช้จ่าย ชะลอการลงทุน เป็นต้น และอาจจะเป็นผลเสียกับธุรกิจ และในระยะยาวอาจจะทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยเสียโอกาสทางการแข่งขันกับโรงพยาบาลในต่างประเทศ รัฐบาลต้องนำมุมมองเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาด้วย

“ที่ผ่านมา รัฐมีนโยบายการเปิดเผยราคายา และสอบถามเพื่อให้คนไข้มีสิทธิ์ตัดสินใจในการเข้ารักษาอยู่แล้ว และหาก รพ.ใดมีราคาสูงเกินไป ไม่คุ้มค่า ก็สามารถเลือกไม่ใช้บริการได้ หรือถ้าในกรณีฉุกเฉินรัฐก็มีกฎหมายรองรับให้สามารถเข้ารับการรักษาที่ รพ.ใกล้ที่สุดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งรัฐควรสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้เพิ่มขึ้น แทนการควบคุมเพดานราคาทั้งหมด”

ประเด็นสำคัญคือ รัฐควรสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ให้แก่ รพ.รัฐและเอกชนเพิ่ม โดยเฉพาะ รพ.เอกชนที่เป็นคู่สัญญาของรัฐ ก่อนที่ทุก รพ.จะไม่สามารถคุมต้นทุนได้และต้องออกจากการเป็นคู่สัญญา รวมถึงเปลี่ยนมุมมองกับ รพ.เอกชนในเชิงบวกมากขึ้น ว่า รพ.เอกชนเป็นพันธมิตรดูแลคนไข้ที่ รพ.รัฐไม่สามารถครอบคลุมได้

เรื่องคุมค่ายา-บริการ รพ.เอกชน จะเป็นจริงหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!