ปิติ ภิรมย์ภักดี แม่ทัพ “ฟู้ด แฟคเตอร์” ติดปีกธุรกิจอาหารบุญรอดฯ

เพื่อทำให้องค์กรขนาดใหญ่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง สร้างการเติบโตและผลกำไรที่น่าพอใจ ท่ามกลางยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อน การปรับตัวเท่านั้นจึงจะทำให้ธุรกิจอยู่รอด

“บุญรอดบริวเวอรี่” เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีการจัดทัพครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับแลนด์สเคปของธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นภาพของความพยายามในการแตกไลน์ธุรกิจออกไปสู่กลุ่มใหม่ ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น (diversify) เพื่อต่อยอดจากธุรกิจเบียร์ โซดา และน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส ธุรกิจระดับภูมิภาค (รีจินอล) ภายใต้ สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยสิงห์เอสเตท ธุรกิจซัพพลายเชน ภายใต้บุญรอด ซัพพลายเชน และธุรกิจอาหาร โดยฟู้ด แฟคเตอร์จากที่เคยพึ่งพิงอยู่แค่เสาหลักเดียว วันนี้บุญรอดฯมี “6 เสาหลัก” ที่จะเป็นหัวหอกในการสร้างการเติบโตแบบรอบด้าน โดยเฉพาะ “ธุรกิจอาหาร” ที่พร้อมต่อยอดไปสู่การเติบโตใหม่ ๆ ในสปีดที่เร็วกว่าเดิม หลังจากที่เพิ่งปิดดีลใหญ่กับ “ซานตาเฟ่ สเต็ก” ไปเมื่อไม่นานมานี้

“ปิติ ภิรมย์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ฉายภาพว่า ซานตาเฟ่ คือ “จิ๊กซอว์” ชิ้นสำคัญที่จะมาเสริมศักยภาพให้กับฟู้ด แฟคเตอร์ ทั้งในด้านของแบรนด์พอร์ตโฟลิโอ ยอดขายที่อยู่ราว ๆ 1,200 ล้านบาทต่อปี มีสาขาในปัจจุบันมากกว่า 117 สาขา

โนว์ฮาวในการบริหารจัดการของร้าน ระบบแฟรนไชส์ ไปจนถึงการเป็นห้องทดลองให้กับสินค้าและบริการใหม่ ๆ เพื่อดูการตอบรับของผู้บริโภค ตลอดจนการเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าอื่น ๆ ของบริษัทและเครือ ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากซานตาเฟ่ได้นำร่องขยายไปแล้วที่กัมพูชาในช่วงก่อนหน้านี้

ดีลนี้ใช้เวลาพูดคุยกับทาง “เคที เรสทัวรองท์” เจ้าของร้านซานตาเฟ่ อยู่ประมาณ 9 เดือน และเป็นเพียงแบรนด์เดียวที่ลงตัว ทั้งในแง่ของวิสัยทัศน์ วัฒนธรรมองค์กร คุณค่าต่าง ๆ ที่ผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่ายให้ความสำคัญ ท่ามกลางการพูดคุยกับรายอื่น ๆ อีก 6-7 ราย ซึ่งมีขนาดธุรกิจระดับ 100-1,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่คลิก หรือสามารถแมตช์กันได้

ฟู้ด แฟคเตอร์ ทุ่มเงินไปกับดีลดังกล่าว 1,300 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 88% จากมูลค่าธุรกิจรวมทั้งหมดที่อยู่ราว ๆ 1,490 ล้านบาท โดยกลุ่มเคทีฯยังคงถือหุ้นอยู่ 12% และมีอำนาจในการบริหารจัดการต่อไปอีก 3 ปี

จากงบฯที่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ดของบุญรอดฯ 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจในช่วง 5 ปี (2561-2565) ทำให้ “ปิติ” ยังเหลืองบฯสำหรับการซื้อกิจการอื่น ๆ หรือลงทุนด้านต่าง ๆ เพื่อต่อยอดการเติบโตได้อีกกว่า 3,000 ล้านบาท หรืออีก 2-3 แบรนด์ ซึ่งเขาเองก็เปิดรับการลงทุนทุกรูปแบบ จะพัฒนาเอง ซื้อกิจการ หรือเข้าไปร่วมทุน โดยไม่ต้องเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ได้ แต่เน้นพาร์ตเนอร์ที่มีความหลงใหล (passion) ในการทำธุรกิจอาหารเหมือนกัน และหากมีดีลที่น่าสนใจก็พร้อมที่จะขอบอร์ดอนุมัติงบฯเพิ่มได้

“การลงทุนใหม่ ๆ จะพิจารณาถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของบุญรอดฯ หากเป็นบริษัทที่ดี มีสินค้าเข้ามาเสริมศักยภาพฟู้ด แฟคเตอร์ โดยเฉพาะการลงทุนร้านอาหารที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง คุณภาพดี รสชาติอาหารอร่อย เพื่อเพิ่มพอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารให้ครอบคลุมตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

“ปิติ” ระบุว่า นี่คือเฟสที่ 2 ของฟู้ด แฟคเตอร์ ที่เตรียม “พุ่งทะยาน” ไปสู่การเติบโตแบบรอบด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หลังจากเขาใช้เวลาเกือบ 3 ปีก่อนหน้านี้ในการปรับโครงสร้างองค์กร กลุ่มธุรกิจอาหาร ที่เคยบริหารจัดการแบบแยกกัน ต่างคนต่างทำไม่ว่าจะเป็น กลุ่มของโปรดักต์และโปรดักชั่น อย่าง เฮสโก้ โซลูชั่น, เฮสโก้ ฟู้ด กลุ่มของรีเทล อย่าง ร้านอาหารเอส 33, ฟาร์มดีไซน์, คิตะโอจิ ฯลฯ ที่อยู่อันเดอร์ เอสคอมพานี รวมถึงซานตาเฟ่ ซึ่งเป็นแบรนด์ล่าสุด และกลุ่มฟู้ดเน็ตเวิร์ก หรือธุรกิจซัพพลายเชนอย่าง บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ ให้เข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารของฟู้ด แฟคเตอร์ ที่จะบูรณาการ เชื่อมโยงองค์ความรู้ทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด

“เพื่อสร้างซัพพลายเชนในธุรกิจอาหารให้ครบวงจร เรากำลังศึกษาถึงการทำครัวกลาง เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้า โดยร่วมกับกลุ่มเฮสโก้ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องผลิตอาหาร ขณะที่เราเองก็มีฟู้ด อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ที่เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงเบฟเชน โลจิสติก ที่มีเครือข่ายกระจายสินค้าทั้งในและภูมิภาคอาเซียน”

ตลอดจนการปั้น “product champion” ให้ติดตลาด เพื่อรุกขยายทั้งในประเทศและส่งออกอีกกว่า 25 รายการ จากปัจจุบันที่ยังมีเพียง ซอสต๊อด หรือซอสพริก Made by Todd และสาหร่ายมาชิตะเท่านั้น

สอดคล้องไปกับโอกาสในธุรกิจอาหาร ที่ “ปิติ” ยังมองว่า ตลาดนี้ยังมีโอกาสอีกมากเฉลี่ยปีละ 15% ต่อเนื่องไปอีก 3 ปีข้างหน้า จาก 2 ปัจจัยหลัก ไม่ว่าจะเป็น การเกิดขึ้นของสังคมเมือง (urbanization) ขนาดครอบครัวที่เล็กลงไม่เหมาะกับการทำอาหารกินเอง ผู้บริโภคหันมารับประทานอาหารนอกบ้าน หรือสั่ง delivery และ take away ซึ่งมีความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น 2.ร้านอาหารที่ให้บริการอาหารระดับราคาปานกลาง ในบรรยากาศสบาย ๆ (casual dining) เป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับกลุ่มเพื่อนและกลุ่มครอบครัวทำให้ภายใน 5 ปี หรือปี 2565 ฟู้ด แฟคเตอร์ เมื่อรวมกับธุรกิจซัพพลายเชน จะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้ประมาณ 4,500 ล้านบาท และมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามรอยธุรกิจอื่น ๆ ในเครือบุญรอดฯ ที่ได้ใช้วิธี spin-off เพื่อติดปีกธุรกิจ สร้างความเป็นมืออาชีพ และนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาใช้ในการขยายธุรกิจ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป

ต้องจับตาดูย่างก้าวนี้ของฟู้ด แฟคเตอร์ เอาไว้ให้ดี…