ปิดร้านขายยา 5 พันแห่ง หนีกม.ใหม่ ไม่ผ่านเกณฑ์อย.ค่ายใหญ่แย่งตลาด

แลนด์สเคปธุรกิจเปลี่ยน ตลาดร้านขายยาเฉียด 4 หมื่นล้าน โตแค่ 4-5% จากปกติโตปีละ 10-15% เผยปีที่ผ่านมาร้านหายไปราว 5,000 ราย ผลพวงกฎหมายใหม่ ร้านไม่ผ่านเกณฑ์ GPP เพียบ แถมเจอสรรพากรไล่ต้อนเข้าระบบ-เภสัชกรหายาก ส่วนค่ายใหญ่ไม่สนยังเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่อง

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านขายยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปัจจุบันตลาดร้านขายยามีมูลค่าตลาดรวมใกล้ ๆ จะแตะ 4 หมื่นล้านบาท จากเมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว ปัจจัยหลัก ๆ เป็นผลมาจากโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนไป คือ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทำให้ยารักษาโรคหลาย ๆ ชนิด อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยปกติแต่ละปีตลาดร้านขายยาจะเติบโตปีละ 10-15% แต่ปี 2562 ที่ผ่านมาตลาดรวมชะลอตัวเล็กน้อย หรือมีการเติบโตเพียง 3-4% เนื่องจากมีร้านขายยาจำนวนหนึ่งที่หายไปจากระบบ ซึ่งคาดว่าตัวเลขน่าจะสูงถึง 4,000-5,000 ร้าน โดยส่วนใหญ่เป็นร้านรายเล็กทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

แลนด์สเคปธุรกิจเปลี่ยน

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ตัวแปรหลัก ๆ มาจากเรื่องของกฎหมายใหม่ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2557 ที่กำหนดว่าร้านขายยาจะต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน การกำหนดคุณสมบัติร้านขายยาว่าต้องมีพื้นที่ขาย-ให้คำปรึกษาแนะนำการใช้ยาขนาดไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่เก็บสำรองยา เป็นสถานที่ที่สามารถควบคุมอุณภูมิได้ หรือต้องติดแอร์ เป็นต้น

“ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่มีการปรับปรุงร้าน แต่ไม่ผ่านมาตรฐานจีพีพี (GPP : Good Pharmacy Practices)ที่ อย.กำหนด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของภาษีเนื่องจากที่ผ่านมากรมสรรพากรกำหนดให้ร้านขายยาต้องจดทะเบียนและเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งมีร้านจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมเข้าระบบและเลิกกิจการไป ซึ่ง 2 เรื่องนี้เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน และทำให้ร้านขายยารายเล็ก ๆ หายไปจากระบบจำนวนมาก”

แหล่งข่าวรายนี้ยังกล่าวด้วยว่า โจทย์ที่ยากอีกอย่างหนึ่งของร้านขายยา คือ เภสัชกรประจำร้านที่หายาก และมีร้านขายยาจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถหาเภสัชกรมาอยู่ประจำร้านได้ หรือหามาได้แต่ต้องจ่ายเงินเดือนเภสัชกรในอัตราที่ค่อนข้างสูง จึงมีหลายรายตัดสินใจเลิกทำร้านขายยา

“ปัจจุบันแม้จะมีเภสัชกรจบออกมามาก แต่เภสัชกรก็ไปทำอาชีพอื่น ๆ หากสังเกตจะเห็นได้ว่าปัจจุบันร้านเฮลท์แอนด์บิวตี้จำนวนหนึ่งก็ไม่สามารถจะหาเภสัชกรมาอยู่ประจำร้านได้เต็มเวลา บางสาขาจะมีเภสัชกรประจำอยู่เฉพาะบางเวลา”

ปี”62 หายไปเกือบ 5 พันแห่ง

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการสำรวจจำนวนร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1)ณ สิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีร้านขายยาทั่วประเทศ 13,906 ร้าน ลดลงจากปี 2561 ที่มี 18,900 ร้าน หรือลดลง 4,994 ร้าน แบ่งเป็นร้านในกรุงเทพฯ 1,675 ร้าน และต่างจังหวัด 3,319 ร้าน

นอกจากนี้ หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า จากจำนวนร้านขายยาทั่วประเทศในปี 2562 ที่มี 13,906 ร้าน แบ่งเป็นร้านขายยาในกรุงเทพฯ 3,558 ร้าน และร้านในต่างจังหวัด 10,348 ร้าน จากปี 2561 ที่มีร้านขายยา 18,900 ร้านในกรุงเทพฯ 5,233 ร้าน และร้านในต่างจังหวัด 13,667 ร้าน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จำนวนร้านขายยาที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้เมื่อ 25 มิถุนายน 2557 (เรื่องการกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน) ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็มีระยะเวลาผ่อนผันให้ปรับปรุงร้านเป็นเวลา 8 ปี สำหรับผู้ประกอบการร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่ 25 มิถุนายน 2557 โดยการผ่อนผันดังกล่าวออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ต้องปรับปรุงร้านให้เสร็จในสิ้นปี 2561 ระยะที่ 2ภายในปี 2563 และระยะที่ 3 คือภายใน 25 มิถุนายน 2565

รายใหญ่เดินหน้าเปิดสาขาเพิ่ม

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านขายยาอีกรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีผู้ประกอบการร้านขายยาจำนวนหนึ่งที่ปิดกิจการไปซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากร้านไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด หรือไม่สามารถหาเภสัชกรมาประจำร้านได้ หรือบางส่วนอาจจะไม่ต้องการทำร้านต่อ แต่ร้านขายยารายใหญ่ หรือร้านขายยาที่เป็นเครือหรือเชนก็ยังมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง อาทิ ร้านขายยาเซฟดรักบริษัทในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็มีแผนจะลงทุนเพื่อเปิดสาขาใหม่เพิ่มเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่มีอยู่มากกว่า 100 สาขา เช่นเดียวกับร้านขายยาฟาสซิโนที่มุ่งเน้นการขยายสาขาในรูปแบบของการขายแฟรนไชส์ ซึ่งตั้งเป้าจะเปิดสาขาให้ครบ 200 สาขาภายใน 3 ปี จากเดิมที่มีอยู่มากกว่า 100 สาขาทั่วประเทศรวมถึงร้านขายยาไอแคร์ที่มีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 5-6 สาขาภายในปีนี้ จากเดิมที่มีสาขาทั้งสิ้นประมาณ 25 สาขา

“ร้านขายยาเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ทำให้ทุกค่ายต่างก็มีแผนจะลงทุนเปิดสาขาใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่การแข่งขันราคาที่สูง ประกอบกับร้านขายยาจะมีมาร์จิ้นต่ำ แต่ละค่ายจึงต้องมีการบริหารการจัดการที่ดี”