โควิดปลุกกระแส “ปั่นออนไลน์” จักรยานคึกคัก “โปรไบค์” รุกอีคอมเมิร์ซ

จักรยาน

โควิด-19 ปลุกกระแสการปั่น ตลาดจักรยานยอดขยับ รับกระแสสุขภาพ “โปรไบค์” ชี้แนวโน้มการปั่นออนไลน์มาแรง ตอบโจทย์นิวนอร์มอล จัดทัพเพิ่มดีกรีรุกอีคอมเมิร์ซ หนุนดีลเลอร์-ซับดีลเลอร์เต็มสูบ เพิ่มโอกาสขาย ควบคู่ลงทุนอัพเกรดหน้าร้าน นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างบิ๊กดาต้า-ต่อยอดการตลาด เผยยังไม่วางใจ พิษไวรัส-เศรษฐกิจชะลอตัว เน้นลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น-อัดโปรฯกระตุ้นยอดขาย-ระบายสต๊อก หวังประคองธุรกิจ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลาดช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลให้ตลาดจักรยานที่มีมูลค่าตลาดรวมราว ๆ 7,000-7,500 ล้านบาท มีความคึกคักตามไปด้วย หากจะสังเกตได้ว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากที่หันมาออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานมากขึ้น และกำลังมีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นโดยเฉพาะการปั่นจักรยานออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตา

โควิด-19 หนุนการปั่น

นายสร้างสรรค์ ประชาอนุวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรไบค์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายจักรยาน และอะไหล่ ภายใต้แบรนด์ เทรค, ชิมาโน่ และอื่น ๆ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านบวกและด้านลบให้กับตลาดจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายด้านเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ ที่ส่งผลทั้งกับผู้บริโภค, ร้านค้า และผู้นำเข้า ไปจนถึงผู้ผลิตสินค้าหรือซัพพลายเออร์ที่มีความเข้มงวดด้านการเงินมากขึ้น เช่น ลดเครดิตเทอมลง ในขณะที่ผู้นำเข้าและร้านค้าต้องเพิ่มความเข็มงวดในการบริหารสต๊อก และรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาเงินสด

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามตลาดจักรยานในภาพรวมก็พบว่า กลุ่มผู้บริโภคระดับบน-ไฮเอนด์ ยังมีการจับจ่ายและลงทุนเพื่ออัพเกรดจักรยานของตัวเองอยู่เป็นระยะ ๆ รวมถึงการออกกำลังกายด้วยการซ้อมการปั่นจักรยาน การออกทริปปั่นจักรยานต่าง ๆ มีมากขึ้น ขณะที่ ยอดขายจักรยานระดับเริ่มต้น จักรยานเสือภูเขา และจักรยานสำหรับเด็กก็มีตัวเลขที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ปั่นออนไลน์เทรนด์ใหม่มาแรง

นายสร้างสรรค์กล่าวว่า นอกจากนี้การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างเทรนด์ใหม่ให้เกิดขึ้นกับแวดวงการปั่นจักรยานและที่เป็นโอกาสทางธุรกิจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการปั่นจักรยานซ้อม-ออกทริปปั่นจักรยานออนไลน์ ซึ่งในช่วงที่ทางการมีมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีนักปั่นจำนวนมากหันมาปั่นจักรยานแบบออนไลน์แทนการออก

ทริปกับเพื่อนฝูง หรือเดินทางไปซ้อมปั่นตามสนามต่าง ๆ เช่น เมื่อช่วงเดือนเมษายน สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดโครงการ “ปั่นในบ้าน ต้านโควิด” ผ่านแอปพลิเคชั่น ซวิฟต์ (Zwift) พร้อมไลฟ์สดบรรยากาศงานผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ส่วนโปรไบค์เองจัดกิจกรรมปั่นจักรยานบนซวิฟต์แบบรายสัปดาห์เช่นเดียวกัน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200-300 คน และได้รับการตอบรับที่ดีมาก สะท้อนจากยอดจำหน่ายบัตรเติมเงินสำหรับใช้บริการซวิฟต์ที่มีมากกว่า 2,000 ใบ ส่วนเทรนเนอร์หรืออุปกรณ์ซ้อมปั่นจักรยานหมดสต๊อกเช่นกัน

ทั้งนี้ การปั่นออนไลน์หลัก ๆ จะเป็นการเชื่อมต่อเทรนเนอร์ และอุปกรณ์วัดรอบ-พาวเวอร์มิเตอร์ เข้ากับแอปพลิเคชั่นซวิฟต์ ในคอมพิวเตอร์หรือมือถือ ทำให้ผู้ใช้สามารถปั่นจักรยานร่วมกับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ได้คล้ายกับเกมออนไลน์ และการปั่นออนไลน์ดังกล่าว ผู้ปั่นยังสามารถเลือกเส้นทางในการปั่นได้ด้วย หรือหากใช้เทรนเนอร์แบบสมาร์ท ผู้ปั่นก็จะสามารถจำลองความชันของเส้นทางต่าง ๆ ด้วยการเปลี่ยนความหนืดในการปั่นได้ ซึ่งจะทำให้ได้ประสบการณ์เหมือนปั่นในสถานที่จริง การปั่นออนไลน์จะมีค่าบริการแบบรายเดือนอยู่ที่ประมาณเดือนละ 500 บาท ส่วนอุปกรณ์ก็มีระดับราคาให้เลือกหลากหลาย เริ่มต้นประมาณ 4,000-5,000 บาท

“เชื่อว่าเทรนด์การปั่นออนไลน์จะยังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากราคาอุปกรณ์และค่ารายเดือนที่จับต้องได้รวมกับความสะดวกจากการสามารถปั่นในบ้าน ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องของ new normal ที่จำนวนงานปั่นอาจไม่เยอะนัก เพื่อรับดีมานด์ บริษัทได้สั่งเทรนเนอร์เข้ามาเพิ่ม โดยจะมีสินค้าเข้ามาช่วงสิงหาคม-กันยายนนี้ รวมถึงจัดกิจกรรม-เวิร์กช็อปพัฒนาการปั่นบนซวิฟต์ต่อเนื่องเพื่อรักษาและขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น”

เพิ่มดีกรีรุกอีคอมเมิร์ซ

นายสร้างสรรค์กล่าวต่อไปว่า จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทได้เร่งปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการปรับโครงการองค์กรด้านต่าง ๆ รวมถึงกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาดไปพร้อมกัน และจากนี้ไปจะเน้นการเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดและการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้ทยอยเพิ่มทีมแอดมิน และทีมซัพพอร์ตขึ้นมาดูแล พร้อมพัฒนาเว็บไซต์และแพลตฟอร์มใหม่ สำหรับทั้งคู่ค้าและลูกค้า ที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการปั่นจักรยาน เรื่องของสุขภาพ การเป็นคอมมิวนิตี้จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน-แลกเปลี่ยนความรู้ ไปจนถึงการถ่ายทอดสดการปั่นจักรยานออนไลน์ผ่านแอปซวิฟต์

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ให้ความสำคัญกับการจัดอบรมเพิ่มทักษะให้กับพนักงานของบริษัทและดีลเลอร์ที่มีอยู่กว่า 60 ราย ซับดีลเลอร์อีก 25-27 ราย เน้นด้านซอฟต์สกิล เช่น การบริการ, กระบวนการตัดสินใจของลูกค้า ไปจนถึงเทคนิคการดึงผู้บริโภคออนไลน์มาปิดการขายที่หน้าร้าน หรือโอทูโอ จากเดิมที่ผ่านดีลเลอร์ของบริษัทจำนวนหนึ่งยังไม่มีการขายหรือการทำตลาดทางช่องทางออนไลน์ ซึ่งแนวคิดของกลยุทธ์นี้ก็คือ การทำให้พนักงาน-ดีลเลอร์ของโปรไบค์เก่งกว่าที่อื่น ซึ่งจะช่วยให้กลายเป็นตัวเลือกหลักของลูกค้าเมื่อต้องการซื้อสินค้า-หาข้อมูล และนำไปสู่โอกาสในการขายที่มากขึ้น

“ส่วนหน้าร้าน หรือออฟไลน์ บริษัทเตรียมจะลงทุนเพื่ออัพเกรดหน้าร้าน ด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ เช่น การสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อสั่ง-ดูข้อมูลสินค้า รวมถึงการเก็บบิ๊กดาต้ามาต่อยอดด้านการตลาด ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่ต่อยอดจากจุดแข็งด้านความรู้ความเชี่ยวชาญในตัวสินค้าของพนักงาน เช่น เปิดคอร์สอบรมให้ชมรมจักรยานของบริษัท-หน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น”

ลดรายจ่าย-เร่งเพิ่มยอดขาย

นายสร้างสรรค์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมรับมือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จากนี้ไปบริษัทจะคงใช้นโยบายรัดเข็มขัดเพื่อลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็น หรือ lean management ต่อเนื่อง หลังจากช่วงที่มีโควิด เพื่อลดความเสี่ยงและรักษาสภาพคล่อง เช่น วางแผนสต๊อกสินค้าให้รัดกุมขึ้น เข้มงวดหนี้การค้า ลดค่าใช้จ่ายด้านกิจกรรม การพึ่งเอาต์ซอร์ซ-พาร์ตเนอร์ในด้านที่ไม่ชำนาญแทนการรับพนักงานใหม่ เช่น การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า และการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมานอกจากบริษัทจะได้ทยอยเจรจากับเจ้าของพื้นที่เพื่อลดค่าเช่าแล้ว อีกด้านหนึ่งบริษัทก็พยายามจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายและพยายามจะระบายสต๊อกสินค้า ลดการสั่งสินค้าใหม่เพิ่ม ลดเงินเดือนผู้บริหาร รวมถึงยกเลิกแผนลงทุนบางด้านลง

“จากดีมานด์ของจักรยานที่มีมากขึ้น การเริ่มปรับตัวตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ แม้จะช่วยให้รายได้เดือนมีนาคม-เมษายนเพิ่มสูงสุดในรอบ 2 ปี แต่จากนี้ไปยังต้องจับตาดูสถานการณ์การระบาดและเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด จึงยังไม่วางเป้ารายได้-การเติบโตของปี แต่เน้นประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อเนื่องได้เป็นหลัก” นายสร้างสรรค์กล่าว