“สุรินทร์” นำทัพช่อง 3 ทวงบัลลังก์ “ข่าว-ละคร”

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ผู้บริหาร บีอีซี เวิลด์

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของช่อง 3 หนึ่งในยักษ์ธุรกิจทีวีของไทยอาจจะถูกมองว่าตกอยู่ในสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำ จากสภาพการขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปี หรือตั้งแต่ปี 2561 และปีนี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้บรรดาผู้ลงโฆษณาต่างชะลอการใช้งบฯ ซ้ำเติมกับดิจิทัลดิสรัปชั่น หรือความนิยมของสื่อใหม่ ๆ อย่างโซเชียล ยูทูบ และสตรีมมิ่ง ที่มาชิงผู้ชมรุ่นใหม่

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “บีอีซี เวิลด์” ดึงตัวอดีตผู้บริหารมือดีอย่าง “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” กลับมากุมบังเหียนช่อง 3 อีกครั้ง เพื่อช่วยพลิกสถานการณ์หลังไปรับหน้าที่บริหารช่อง PPTV ตั้งแต่กันยายนปี 2560 หรือเกือบ 3 ปีก่อน

พลิกดิสรัปต์เป็นโอกาส

“สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจทีวี บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ได้กล่าวกับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้เริ่มอธิบายถึงภาพธุรกิจทีวี และแนวทางการพลิกฟื้นช่อง 3

ให้กลับมายิ่งใหญ่ว่า ปัจจุบันกระแสความนิยมใช้บริการรับชมคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ โอทีที (OTT) ที่มีหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์, อเมซอน ไพร์ม, ดิสนีย์ รวมถึงรายเดิมอย่าง “ยูทูบ” นั้น จะว่าไปแล้ว “โอทีที” ดังกล่าวไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่เป็นโอกาสสำหรับช่อง 3 เนื่องจากคอนเทนต์ยังถือเป็นกุญแจสำคัญของธุรกิจสื่อ ซึ่งไม่ต่างจากในอดีตที่ธุรกิจทีวีขายด้วยคอนเทนต์ล้วน ๆ

นั่นเพราะไม่ว่าจะยุคไหน ผู้ชมก็จะเลือกดูช่อง-รายการที่ดี ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนมากที่สุดเสมอ และไม่จำกัดว่าจะดูผ่านทางช่องทางไหน หรือในช่วงเวลาใด ดังนั้น ผู้ที่มีคอนเทนต์เด่นในมือย่อมมีโอกาสที่จะครองอายบอล หรือผู้ชมทั้งหมดตามไปด้วย

เช่นเดียวกับการรุกตลาดของแพลตฟอร์มโอทีทีต่าง ๆ ที่จะทำให้คอนเทนต์ทวีมีความสำคัญ และมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อแพลตฟอร์มเหล่านี้รุกตลาดประเทศใด ก็ย่อมต้องการคอนเทนต์จากผู้ผลิตในประเทศนั้น ๆ เช่น มาเปิดในไทยก็ย่อมต้องการคอนเทนต์ไทย จึงเป็นโอกาสที่ช่องจะสร้างรายได้

ย้ำผู้ผลิตคอนเทนต์เบอร์ 1

ขุนพลใหญ่แห่งช่อง 3 ย้ำว่า เพื่อชิงโอกาสจากเทรนด์นี้ “บีอีซีฯ” จึงปรับโพซิชั่นตัวเองเพื่อก้าวไปเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ “อันดับ 1 ของไทย” ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่เคยทำคอนเทนต์ตอบโจทย์ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายในกรุงเทพฯและจังหวัดหัวเมืองกำลังซื้อสูง ซึ่งรวม ๆ แล้วมีจำนวนประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร พร้อมกับทรัพยากรอย่างทัพศิลปิน, ผู้จัด พันธมิตรผู้เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ ในวงการ ไปจนถึงไลน์อัพคอนเทนต์เก่า ๆ ในอดีตที่ยังมีศักยภาพ สะท้อนจากการรีรันในช่วงที่ครึ่งปีแรกซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับช่องได้ แม้จะไม่เท่าสมัยฉายครั้งแรก

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และเป็นตัวเลือกแรกของแพลตฟอร์มโอทีทีที่ต้องการเข้ามาทำตลาดในไทย และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายนี้บริษัทได้รับกลยุทธ์การผลิต-ขายคอนเทนต์ด้วย โดยเน้นแนวคิด single content multiple platform หรือการผลิตคอนเทนต์เดียวให้สามารถนำไปออกอากาศ-ขายให้กับหลายแพลตฟอร์ม เช่น ฉายทีวีแล้วก็สามารถไปขายให้โอทีที รวมถึงต่างประเทศได้อีกต่อหนึ่ง

โดยส่วนหนึ่งที่เริ่มทำไปแล้ว คือ การผลิตตามอินไซต์ของกลุ่มผู้ชม เช่น คอนเทนต์สำหรับวัยรุ่น, วัยผู้ใหญ่, วัยดึก เป็นต้น และยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องทำ”แม้ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่จะไม่ได้ดูทีวีแล้ว แต่ไม่ใช่ปัญหา เพราะโอทีทีช่วยให้เราสามารถนำคอนเทนต์ไปให้เด็กรุ่นใหม่ได้ดูในเวลาและรูปแบบที่พวกเขาอยากดู”

“ข่าว-ละคร” ต้องกลับมายิ่งใหญ่

“สุรินทร์” ยังย้ำด้วยว่า หนึ่งในนั้นคือการยกระดับรายการข่าวที่ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าเป็นตา รายการข่าวเป็นชื่อเสียงของสถานีมานาน เพราะจากการวิเคราะห์ผู้ชมชาวไทยหลัก ๆ จะดูรายการข่าวจากผู้ประกาศที่ตนชื่นชอบ จึงต้องเร่งสร้างบุคลากรในฝ่ายข่าวที่มีชื่อเสียง พร้อมกับคุณภาพรายการที่ดี เช่น การวิเคราะห์ข่าว เพื่อชิงคนดู โดยขณะนี้ผู้บริหารพร้อมที่จะเติมบุคลากรให้กับฝ่ายข่าวมาเสริมทัพกับ “หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย” ซึ่งเป็นผู้ประกาศข่าวคนสำคัญของสถานีในปัจจุบันและอนาคต

ขณะเดียวกัน บีอีซีฯยังมีเป้าหมายที่จะทำให้ละครของช่อง 3 กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และดึงรายการข่าวให้กลับมาเป็นรายการข่าวที่คนทั่วไปเลือกเสพเป็นช่องแรก เช่นเดียวกับดึงรายการวาไรตี้ต่าง ๆ ให้กลับมาโดดเด่นเหมือนเดิมเพื่อให้คอนเทนต์นั้น ๆ เป็นท็อปออฟไมนด์ (top of mind) ที่ผู้ชมเลือกดูเป็นรายการแรก ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งผู้ลงโฆษณา และแพลตฟอร์มโอทีที เมื่อมีคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ เราจะไปในช่องทางไหน เวลาใดก็ได้

นอกจากความได้เปรียบในการแข่งขันแล้ว แนวคิด “1 คอนเทนต์หลายแพลตฟอร์ม” นี้ยังจะทำให้ช่องมีความได้เปรียบด้านการบริหารต้นทุน เพราะลงทุนทำคอนเทนต์เพียงครั้งเดียว แต่สามารถสร้างรายได้หลายครั้งจากทั้งในและนอกประเทศ โดยเร็ว ๆ นี้จะตั้งทีมงานมาดูแลด้านการขายคอนเทนต์เป็นการเฉพาะไม่เพียงโอกาสที่แพลตฟอร์มโอทีทีจะเข้ามาทำตลาดในไทยเท่านั้น แต่ช่อง 3 ยังมองไปถึงการรุกออกสู่ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีนอีกด้วย

เจาะ “จีน-อาเซียน” ตลาดใหญ่

“สุรินทร์” ขยายความต่อไปว่า จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของละครช่อง 3 ในตอนนี้ เนื่องจากชาวจีนนิยมดูละครไทยผ่านโอทีทีเจ้าต่าง ๆ ส่วนเจ้าของแพลตฟอร์มเองก็กล้าซื้อละครในราคาที่สูง หากมีดาราที่ได้รับความนิยมในจีนร่วมแสดง สะท้อนจากความสำเร็จของละครไทย 2 เรื่อง คือ อกเกือบหักแอบรักคุณสามี และพยากรณ์ซ่อนรัก ที่นำไปออกอากาศแบบสดพร้อมประเทศไทย (simulcast) เมื่อเดือนเมษายนและมิถุนายนที่ผ่านมา

และยังนำคอนเทนต์ไปขายในประเทศอื่น ๆ ทั้งแบบขายเองและผ่านดิสทริบิวเตอร์ เช่น “เจเคเอ็น” (JKN) ที่ได้สิทธิเอ็กซ์คลูซีฟขายในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, บรูไน และเกาหลี แม้สัดส่วนรายได้จะยังไม่มากนัก แต่มีศักยภาพในระยะยาว เพราะเจเคเอ็นเป็นหนึ่งในดิสทริบิวเตอร์ที่มีชื่อเสียงในตลาดต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ก็จะสามารถต่อยอดกระแสความนิยมนี้มาสร้างรายได้เสริมให้กับศิลปินและช่องได้ด้วย เพราะบริษัทจีนที่ซื้อละครไทยไปนั้นต้องทำการตลาดเพื่อโปรโมตละครให้เป็นที่รู้จักของผู้ชม เปิดโอกาสให้ศิลปินและช่องขยายฐานแฟนคลับ และสร้างรายได้จากงานอีเวนต์ รวมไปถึงค่ารอยัลตี้จากการผลิต-ขายสินค้าที่ระลึก

“ดาราของเรามีหลายคนที่มีแฟนคลับหรือฟอลโลเวอร์ระดับ 10 ล้านคน หากสามารถขายสินค้าให้คนเหล่านี้แค่ 1% ก็ได้หลักหลายแสนแล้ว จึงเป็นหนึ่งในโอกาสสร้างรายได้ของช่องในอนาคตที่จะทำได้หากสามารถพัฒนาศิลปินขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง”

พร้อมกันนี้ ช่อง 3 ยังเดินหน้าปั้นแพลตฟอร์มของตนเองไปพร้อมกัน โดยขณะนี้กำลังพยายามรวมคอนเทนต์ต่าง ๆ ของช่องให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน พร้อมดึงคนดูที่เคยดูคอนเทนต์เหล่านี้บนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้กลับมา เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลอินไซต์ต่าง ๆ และนำมาสร้างมูลค่าในการขายโฆษณาในอนาคต เพราะนอกจากจำนวนผู้ชมแล้ว ข้อมูลของผู้ชม เช่น ชอบดูคอนเทนต์แบบไหน หรือดูละครแบบไหน ข่าวแบบใด เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเวลาโฆษณา

“ฐานผู้ชมที่เราเชี่ยวชาญ คือ คน กทม.-หัวเมืองที่มีกำลังซื้อสูง มีจำนวนประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร ดังนั้น หากวัดเฉพาะเรตติ้งเราไม่มีทางเป็นอันดับ 1 แต่เรามีสิทธิที่จะมีรายได้เป็นอันดับ 1”

อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าหมายในปีนี้จากภาพรวมของเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เบื้องต้นวางเป้าภาพรวมเพียงต้องการให้ช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีผลประกอบการดีกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ 6 เดือนแรกอุตฯทีวีหดตัวไป 15% พร้อมกับสร้างรายได้จากการขายคอนเทนต์ในต่างประเทศแตะ 500 ล้านบาท