“ไทยรัฐ” ดิ้นสู้ เปิดธุรกิจใหม่ “โลจิสติกส์”

รถไทยรัฐ
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก รถไทยรัฐ

“ไทยรัฐ” ปรับตัวอีกครั้ง คราวนี้เป็นการใช้จุดแข็งเรื่อง “โลจิสติกส์” ต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ ที่ไม่จำกัดตัวเองแค่การเป็น “สื่อ” เท่านั้น 

ย้อนเส้นทางก่อน “ไทยรัฐ” เบนเข็มสู่ “โลจิสติกส์”

ที่ผ่านมาสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “หนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดอันดับ 1 ของประเทศ” พยายามอย่างหนักเพื่อปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภค

หลังเริ่มจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2505 ในอีก 47 ปีต่อมา ไทยรัฐจึงขยับเข้าสู่สนามออนไลน์ โดยมีรุ่นหลานของ “กำพล วัชรพล” เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นั่งเก้าอี้ผู้บริหาร “ไทยรัฐออนไลน์” 

จากนั้นใช้เวลาเพียง 5 ปี จึงขยับสู่สนาม “ทีวี” เริ่มทดลองออกอากาศ ผ่านอุปกรณ์รวมส่งสัญญาณ ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นภาพทดสอบพร้อมเสียงระบบดอลบี 5.1 เมื่อปี 2557

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในยุคโควิด ไทยรัฐเริ่มคิดนอกกรอบ ไม่จำกัดตัวเองแค่การเป็น “สื่อ” เท่านั้น ด้วยการเปิดธุรกิจ “โลจิสติกส์” เพิ่มช่องทางหารายได้อีกทาง

หลังจากเมื่อปีที่แล้ว (2562) ผลประกอบการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขาดทุนไปกว่า 36 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐขาดทุน ตามการรายงานของเว็บไซต์ “ส่องสื่อ” 

ประกาศรับพนักงานลุยธุรกิจใหม่

โดยล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก Thairath Careers ได้ประกาศรับสมัครพนักงานในตำแหน่งต่างๆ รวม 8 ตำแหน่ง ได้แก่

  • Operations Director
  • Sales & Marketing
  • Process Control & Improvement
  • Solution Design & Service
  • Logistics Analyst
  • Customer Service
  • Warehouse
  • Driver

ที่น่าสนใจคือตำแหน่ง “พนักงานขับรถ” ซึ่งระบุหน้าที่และความรับผิดชอบว่า

  • ตรวจสอบสินค้า จัดสินค้า ขึ้นรถบรรทุก
  • รับผิดชอบงานขับรถรับ-ส่งสินค้า ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ รวมทั้งติดต่อลูกค้าเพื่อนัดหมายการรับ-ส่งพัสดุ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการทำงานของบริษัท
  • จัดส่งสินค้าตามเส้นทางการจัดส่งที่ดูแล โดยจัดเรียงตามความใกล้-ไกลของที่อยู่ลูกค้าในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือตามความถนัด เพื่อเตรียมการส่งสินค้าให้ลูกค้า
  • บำรุง ดูแล รักษารถ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ
  • ปฏิบัติงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย

คุณสมบัติ

  • วุฒิการศึกษาระดับมัธยมต้นขึ้นไป
  • มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์
  • รู้จักเส้นทางที่รับผิดชอบเป็นอย่างดี
  • สามารถยืดหยุ่นเวลาในการทำงานได้
  • มีใจรักในงานบริการ

หากประเมินศักยภาพ “รถไทยรัฐ” ในแง่ความเร็ว เรียกได้ว่า “โดมินิค ทอเร็ตโต” พระเอกหนังตระกูลฟาสต์ ต้องชิดซ้าย โดยข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ เผยว่า รถขนส่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นรถบรรทุก 6 ล้อ เครื่องยนต์พิเศษ ทำความเร็วเฉลี่ย 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อีกเรื่องที่โดดเด่นคือความชำนาญเรื่องเส้นทาง จากประสบการณ์การส่งหนังสือพิมพ์ให้กับเอเย่นต์ทั่วประเทศ

ความท้าทายของธุรกิจโลจิสติกส์

เมื่อช่วงต้นปีEIC ธนาคารไทยพาณิชย์” เผยบทวิเคราะห์ “ธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2020 ซึ่งคาดว่ามูลค่าตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุของไทย มีแนวโน้มเติบโตราว 35% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 66,000 ล้านบาท

ตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ มีการเติบโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปี (ระหว่างปี 2560-2562) โดยขยายตัวได้เฉลี่ย 40% ต่อปี ตามความนิยมในการใช้บริการ “อี-คอมเมิร์ซ” 

คาดว่าการขนส่งพัสดุในปี 2020 จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน 

ข้อมูลปี 2561 ชี้ว่า ธุรกิจนี้มีเจ้าตลาด 2 ราย ได้แก่ “ไปรษณีย์ไทย” ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 41% ตามด้วย “เคอร์รี เอ็กซ์เพรส” 39% นอกนั้นเป็นรายอื่นๆ ที่มีส่วนแบ่ง 2-3%

ทว่าในช่วงปี 2561-2562 ทุนใหญ่จากต่างชาติเริ่มเข้ามาในประเทศ ทั้ง เบสท์ โลจิสติกส์, เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส และ ซีเจ โลจิสติกส์

ซึ่งหลังจากนี้ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ อาจหนาวๆ ร้อนๆ เมื่อคู่แข่งหน้าใหม่ (เอี่ยม) ก้าวเข้ามาอีกราย