ตลาดอาหารญี่ปุ่นแรงทะลุ 4 พันร้าน เบอร์ 1 อาเซียน-ต่างจังหวัดอนาคตสดใส

เจโทรชี้ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยโตต่อเนื่อง ยอดทะลุ 4 พันร้าน ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในอาเซียน แฟรนไชส์ร้าน “ซูชิ” เบ่งบานสุด ๆ จับตาตลาดจังหวัดมาแรงมีครบทุกจังหวัด แนวโน้มสดใส เผยผลพวงโควิดทำพิษยอดขายร่วงหนัก ดีลิเวอรี่ช่วยไม่ได้ ร้านปิด-ขายกิจการกว่า 726 สาขา

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ เปิดเผยถึงผลการสำรวจตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยปี 2563 ว่า มีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 12.6% เป็น 4,094 ร้าน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3,637 ร้าน ซึ่งร้านอาหารประเภทซูชิเพิ่มขึ้นสูงสุดกว่า 504 ร้าน มากกว่าปี 2562 ถึง 50.9% จากการขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ จากเชนใหญ่ต่าง ๆ ที่เร่งบุกตลาด และจากผู้เล่นรายใหม่ที่กระโดดเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจัยที่ส่งเสริมให้ตลาดอาหารญี่ปุ่นขยายตัวสวนกระแสเศรษฐกิจ อาจมาจากความชื่นชอบประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคอาหารญี่ปุ่นที่มากและหลากหลายยิ่งขึ้น รวมไปถึงตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งประเภทอาหารและช่วงราคา ทำให้ฐานลูกค้าขยายตัวขึ้นตามไปด้วย

อัทสึชิ-ทาเคทานิ
อัทสึชิ ทาเคทานิ

ประธานเจโทรยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุดในอาเซียน และจากการสำรวจเมื่อปี 2561 และ 2562 พบว่าร้านอาหารญี่ปุ่นไม่ได้มีอยู่ทุกจังหวัด แต่ปี 2563 นี้ พบว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นกระจายตัวทั่วทุกจังหวัดของไทยแล้ว ซึ่งส่งผลให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดเติบโตขึ้นถึง 21% ทำให้ปัจจุบันมี 1,989 ร้าน เติบโตกว่ากรุงเทพฯ 4 เท่าตัว ที่มี 2,105 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.6% ซึ่งแนวโน้มการขยายตลาดอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ปี 2560 โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 37.3% และเพิ่มเป็น 48.6% ในปีนี้

โดยเฉพาะร้านอาหารประเภทซูชิและภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นซึ่งมีมากกว่ากรุงเทพฯ 2 เท่า ทำให้สัดส่วนกว่า 60% ของร้านอาหารทั้ง 2 ประเภทข้างต้นเป็นร้านที่อยู่ในต่างจังหวัด และคาดว่าตลาดอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดของไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีก เนื่องจากในต่างจังหวัดวัฒนธรรมการรับประทานอาหารญี่ปุ่นยังมีไม่มากนัก ทั้งนี้ กรุงเทพฯและชลบุรี เป็น 2 จังหวัดที่มีการเพิ่มร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุด จากปัจจัยด้านประชากร ซึ่งมีชาวญี่ปุ่นอาศัยมากที่สุดเป็น 2 อันดับแรก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอัตราการขยายตัวของร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีการลดลงของจำนวนร้านมากเป็นประวัติการณ์ คือ ลดลงถึง 726 ร้าน นับตั้งแต่ปี 2550 โดยมีทั้งการปิดกิจการและขายกิจการให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ซึ่งมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาร้านอาหารญี่ปุ่นมียอดขายเพียง 0-30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน (เดือนเมษายน) แม้จะมีการปรับตัวเน้นการส่งดีลิเวอรี่มากขึ้นก็ตาม ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาทำอาหารทานเองที่บ้าน ทำให้หลายร้านยังฟื้นตัวได้ช้า โดยเฉพาะร้านที่พึ่งพิงชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้เพิ่มการส่งออกมายังประเทศไทยได้ถึง 2.3% หรือราว 9.86 พันล้านบาท ทั้งสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอาหาร อาทิ ปลาทูน่า ไข่ปลา เนื้อวัว องุ่น แอปเปิล เป็นต้น ซึ่งมีดีมานด์สูงขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทย และมีปัจจัยหนุนจากการเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สินค้าญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับกระตุ้นการจับจ่ายด้วยแคมเปญต่าง ๆ