วิชา พูลวรลักษณ์ นำทัพ “เมเจอร์” ฝ่าวิกฤต

วิชา พูลวรลักษณ์
สัมภาษณ์

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกให้หยุดชะงักไปชั่วขณะ โดยเฉพาะธุรกิจโรงหนังที่เรียกได้ว่าสาหัสสากรรจ์จากมาตรการ “ล็อกดาวน์” นับเป็นอีกหนึ่ง global crisis ที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) แม่ทัพใหญ่ผู้ปลุกปั้นเชนโรงหนังยักษ์ใหญ่ทั่วประเทศกว่า 172 สาขา และ “แมคโดนัลด์” ผ่านมุมมองที่เจ้าตัวบอกว่าชื่นชอบ “ไอรอนแมน-Iron Man” และขอทำหน้าที่ตามแบบซูเปอร์ฮีโร่กับภารกิจสุดหินในครั้งนี้ไปให้ได้

“วิชา” เปิดใจว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมโรงหนังทั่วโลกได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในส่วนของโรงภาพยนตร์ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อรายได้ตกต่ำสุดในรอบปี ทำให้ในปี 2564 จะเป็นปีที่เมเจอร์ต่อสู้ด้วยการเดินหน้าเชิงรุกที่จะต้องฉายทั้งในประเทศและส่งออกเพื่อกอบกู้วิกฤตให้มากที่สุด

“ยอมรับว่าเป็นปีที่เหนื่อยมาก วิกฤตครั้งนี้มองว่า 3 ปีภาพรวมหลายอุตสาหกรรมก็น่าจะยังไม่ฟื้น แต่ที่บริษัทผ่านมาได้เพราะมีวิกฤตหลายครั้ง มีบทเรียนมากมายที่เรียนรู้กันมา แต่รอบนี้วิกฤตหนักมาก ต้องอยู่ในตลาดอย่างมั่นคงให้ได้ ต้องสู้ ไม่ยอมแพ้ ก็เปรียบตัวเองเป็น iron man ที่ไม่ว่ายังไงก็จะต้องสู้ นักธุรกิจหลายคนเครียด ทุกคนเจอหมด แต่ก็ต้องฝ่าไปให้ได้ อาศัยไม่ลงทุนเกินตัว ใช้เเคชโฟลว์เป็นหลัก นั่นคือแนวคิดหลักในการทำงานและบาลานซ์ความเสี่ยงในการลงทุนต่าง ๆ เพราะหากแคชโฟลว์ไม่เพียงพอก็จะไม่มีการลงทุน”

ไม่เพียงวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ลูกค้าเข้ามาชมภาพยนตร์ในโรงหนังน้อยลงเท่านั้น แต่การเข้ามาของ “แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง” คืออีกตัวแปรสำคัญที่เข้ามาดิสรัปต์การชมภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ของคนไทยให้เปลี่ยนไป ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ก็สร้างความกังวลให้แก่ธุรกิจโรงหนังอยู่ไม่น้อย

“ในยุคที่ผู้ชมคุ้นเคยกับการดูภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครจากสตรีมมิ่งมากขึ้น เราไม่ได้มองว่าช่องทางดังกล่าวเป็นคู่แข่ง แต่จะมองมุมกลับว่าจะต่อยอดธุรกิจจากโรงหนังสู่การฉายในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งโดยใช้คอนเทนต์ที่มีอยู่ในมือต่อยอดออกอากาศช่องทางดังกล่าวเพื่อรองรับ เช่นเดียวกับกับดิสนีย์ ค่ายหนังระดับโลกที่หันมาประกาศรุกแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเช่นกัน”

แต่จะทำอย่างไรให้โรงหนังยังเป็นแหล่งเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของคนยุคใหม่ควบคู่กันไป ? นั่นคือโจทย์ที่จะต้องหาคำตอบที่มาพร้อมกับภารกิจที่สุดท้าทาย

ซีอีโอใหญ่เปิดใจว่า แม้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งเทรนด์การรับชมของผู้ชมยุคใหม่ แต่ทว่าไม่เคยมองว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นคู่แข่งแต่อย่างใด แต่จะทำอย่างไรให้สตรีมมิ่งและโรงหนังสามารถทำตลาดควบคู่กันไปได้

คำตอบที่ได้คือต้องทรานส์ฟอร์มธุรกิจ พร้อมทั้งจัดทัพภายในใหม่ สู่ความเป็น “total digital organization” และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้แข็งแกร่ง พร้อมทั้งเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดธุรกิจ, การพัฒนาแอปพลิเคชั่นของเมเจอร์ด้วย AI ให้มีความชาญฉลาดขึ้น การลงทุนสร้างภาพยนตร์ไทยใหม่ ๆ ป้อนตลาด

อีกทั้งยังมองหาธุรกิจใหม่เพื่อเสริมทัพ ภายใต้เม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านบาท (งบฯลงทุนรวม) เทียบเท่าปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อกู้วิกฤตครั้งนี้ สู้ด้วย 3 T ประกอบไปด้วย 1.Thai movie ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์วิกฤตของไวรัสโควิด-19 ภาพยนตร์ไทยกลายเป็นคอนเทนต์หลักที่ช่วยให้โรงภาพยนตร์สามารถผ่านจุดวิกฤตได้ ถือเป็นช่วงโอกาสทองของภาพยนตร์ไทยที่จะโชว์คอนเทนต์อย่างเต็มที่สู่ตลาด

โดยปี 2564 จะต้องมีภาพยนตร์ไทย เมเจอร์จะร่วมทุนกับทางค่ายผู้ผลิตต่าง ๆ เปิดตัวภาพยนตร์ไทยออกฉายเฉลี่ย 1 เรื่องต่อสัปดาห์ หรือ 80-100 เรื่องต่อปี ภายใต้งบฯการลงทุน 350-400 ล้านบาท พร้อมทั้งโกยมาร์เก็ตแชร์ในส่วนของภาพยนตร์ไทยเพิ่มเป็น 50% ในโรงหนัง

2.technology ภายใต้นโยบาย Major 5.0 ที่จะต้องชูเทคโนโลยี AI ให้สอดรับการทำงานให้มากที่สุด พร้อมกับต่อยอดขาธุรกิจใหม่กับตัว T ที่ 3.trading อีกหนึ่งแผนงานที่จะต้องดำเนินงานเร่งด่วนเพื่อบาลานซ์ความเสี่ยงเดิม ภายใต้จุดแข็งที่บริษัทมีอยู่อย่าง “ป๊อปคอร์น” ด้วยการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์กับ “Major Popcorn Delivery” ให้ลูกค้าที่ต้องการสั่งออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นดีลิเวอรี่ได้ตลอดเวลา ก่อนจะนำไปวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดในปี 2564 พร้อมทั้งวางเป้าหมายยอดขายเฉพาะกลุ่มเทรดดิ้งมีสัดส่วน 10% หรือราว 200 ล้านบาท จากยอดขายกลุ่มป๊อปคอร์นที่มีอยู่กว่า 2,000 ล้านบาท

“ปีหน้าหลายธุรกิจอาจจะมีการเติบโตตามแนวกราฟที่แตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ แต่ในส่วนของเมเจอร์เองจะต้องโตเป็นวีเชฟ (V shape) หรือสามารถสร้างการเติบโตให้ดีดกลับมาได้เทียบเท่าปี 2562 ที่ผ่านมา”

หากแต่ขาธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่นับเป็นหัวใจหลักของเมเจอร์ก็จะยังคงสานต่อแผนงานอย่างต่อเนื่อง มีแผนขยายเพิ่มในต่างจังหวัด 8 สาขา 24 โรง และสาขาในกัมพูชา อีก 2 สาขา 6 โรง จากปัจจุบันที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีสาขาที่เปิดให้บริการรวม 172 สาขา 817 โรง 185,874 ที่นั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการชมภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์ภูมิภาค (regional film) คือ ภาพยนตร์ที่นักแสดงพูดภาษาถิ่นของแต่ละภาคที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

ไม่เพียงแต่ธุรกิจโรงหนังเท่านั้น หากแต่โจทย์ใหญ่ของ “วิชา” ในวันนี้ ยังมีอีกหนึ่งภารกิจกับการพา “แมคโดนัลด์” อีกหนึ่งร้านอาหารบริการด่วนที่เจ้าตัวได้รับสิทธิ์การทำตลาดภายใต้ “บริษัท แมคไทย จำกัด” ฝ่าวิกฤตเรดโอเชี่ยนของธุรกิจร้านอาหารเมืองไทยไปให้ได้ โดยอาศัยจุดแข็งการเป็นบริษัทที่ยืดหยุ่นสูง มาเป็นข้อได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ

“โมเดลไดรฟ์ทรู และออนไลน์ มีการเติบโตเป็นอย่างมาก แต่ถ้าถามว่าดีมั้ย ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น บริษัทจึงมองหากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ พร้อมทั้งมีโปรโมชั่นแคมเปญ และการต่อยอดแอปพลิเคชั่นแบบเพอร์ซันนอลไลซ์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายแบบตัวต่อตัวอยู่ตลอด ซึ่งแมคโดนัลด์ยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับโลเกชั่นที่เมื่อพอใจก็พร้อมทุ่มทุนทันที แต่เม็ดเงินจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับทำเลที่เหมาะสม ยุคนี้ทำอะไรสะเปะสะปะไม่ได้ การจะไปที่ไหนต้องขึ้นอยู่กับว่ามีสาขาเดิมหรือมีศักยภาพทางการเติบโตหรือยัง ซึ่งใครจะเชื่อว่าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต และศูนย์การแฟชั่นไอส์แลนด์ รามอินทรา แมคโดนัลด์ก็ยังไม่มีสาขา และนั่นคือโจทย์ที่เราต้องขยายต่อไปในย่านดังกล่าว”

อย่างไรก็ตาม วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญของแม่ทัพใหญ่แห่งเมเจอร์กับการก้าวข้ามอุปสรรคที่เจ้าตัวบอกว่า ถือว่าร้ายแรงที่สุดกว่าวิกฤตต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา

โดยมีคีย์ซักเซสหลักในปี 2564 คือ การตลาดแบบ convergence โดยทำ on ground ควบคู่ไปกับ online เพื่อพลิกฟื้นผลประกอบการของทางกลุ่มที่ปีนี้ขาดทุนไปเกือบ 1,000 ล้านบาท โดยไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่มีผลประกอบการตกต่ำสุด