รู้จัก “โอ้กะจู๋” จากฝันเพี้ยน ๆ ของเด็ก ม.ปลาย สู่ความร่วมมือ OR

รู้จักร้านโอ้กะจู๋

ทำความรู้จักแบรนด์ร้านอาหารสุขภาพ “โอ้กะจู๋” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความฝันของเด็กมัธยมปลาย 2 คน ที่จับมือกันฝ่าอุปสรรคนับไม่ถ้วน ด้วยหวังให้ลูกค้าได้กินผักปลอดสารพิษและยาฆ่าแมลง ก่อน OR โดดร่วมหุ้น

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “OR” ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ระหว่าง บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR กับ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋”

โดย OR เข้าลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 20 ตั้งเป้าขยายสาขาร้านโอ้กะจู๋เพิ่มเติมในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,900 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงการจำหน่ายอาหารแบบ Grab & Go ผ่านร้าน Café Amazon ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และภาคเหนือ

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเรื่องราวของ “โอ้กะจู๋” แบรนด์ร้านอาหารเพื่อสุขภาพชื่อแปลก ให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกัน

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์โอ้กะจู๋ ทำให้ทราบว่า ผู้ก่อตั้งแบรนด์คือ “อู๋” ชลากร เอกชัยพัฒนกุล กะ “โจ้” จิรายุทธ ภูวพูนผล เป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ครอบครัวของทั้งคู่ประกอบอาชีพเกษตรกร หลังจากทั้งคู่มีโอกาสไปทัศนศึกษาที่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลยสนใจการทำการเกษตรที่ผสมผสานเกษตรสมัยใหม่กับดั้งเดิมเข้าด้วยกัน

หลังจากที่พวกเราจบมหาวิทยาลัยแล้ว ใครจะรู้ว่าความฝันเพี้ยน ๆ ของเด็กมัธยมปลายอย่างพวกเราจะเป็นจริงเข้าซักวันหนึ่ง… ข้อความส่วนหนึ่งจากในเว็บไซต์ระบุ

 

เมื่อจบมัธยมปลาย โจ้” เข้าศึกษา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบการศึกษาปริญญาตรี ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) หลังจากจบการศึกษาแล้วได้ร่วมมือกับ อู๋” ปลูกผักทันที เริ่มจากปลูกผักสวนครัวทั่วไปและผักสลัดบางชนิด บนพื้นที่ปลูกที่ไม่มากนัก ด้วยเหตุผลที่ว่า

“เราอยากให้คนในครอบครัวมีสุขภาพดีไม่อยากให้ครอบครัวได้รับสารพิษและสารเคมีตกค้าง” จึงเป็นที่มาของชื่อบริษัทและสโลแกน ปลูกผักเพราะรักแม่”

ต่อมาจึงมีเพื่อนสมัยมัธยมอีกคนคือ “ต้อง” วรเดช สุชัยบุญศิริ ซึ่งจบการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความรู้ด้านเครื่องจักรและวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ มาร่วมหุ้นอีกคน

ฤดูฝนของ ปี 2553 พวกเขาประสบกับวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ โรงเรือนได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเพาะปลูกผลผลิตได้ ต่อมาช่วงฤดูร้อนของ ปี 2554 เจอวิกฤตอีกครั้ง ครั้งนี้ทำให้โรงเรือนล้มระเนระนาด ไม่สามารถเพาะปลูกได้ แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ ตัดสินใจก่อสร้างโรงเรือนขึ้นใหม่อีก 2 หลัง โดยใช้วัสดุแบบผสมผสานระหว่างไม้สักและเหล็กที่มีความแข็งแรงมากขึ้น

ก่อนที่พวกเขาจะคิดต่อยอดผลผลิต สร้างคาเฟ่เล็ก ๆ สำหรับคนรักสุขภาพ โดยเน้นเมนูสลัดออแกนิคจากสวน เสิร์ฟคู่กับน้ำสลัดโฮมเมดสูตรคุณแม่ รวมถึงเครื่องดื่มจากเมล็ดกาแฟ และชาที่เป็นออแกนิค โดยมี คอนเซ็ปต์ว่า From farm to table เริ่มให้บริการในวันที่ 21  พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สวนผัก โอ้กะจู๋

 

แม้จะมีช่องทางขายเป็นของตัวเอง แต่พวกเขาก็ยังเจออุปสรรค เนื่องจากผักที่ปลูก ผลผลิตมีปริมาณน้อยกว่า หากเทียบกับผักที่ปลูกโดยใช้สารเคมี ส่งผลทำให้ต้นทุนของผักออร์แกนิคมีราคาสูงกว่า แต่พวกเขาก็ยังไม่ทัน ด้วยความตั้งใจที่อยากจะให้คนเชียงใหม่ได้รับประทานผักลอดสารเคมีและยาฆ่าแมลง

…เราเชื่อมั่นว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่เราต้องใช้ความอดทนและระยะเวลาในการพิสูจน์ตัวเองเท่านั้น

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สวนผัก โอ้กะจู๋
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สวนผัก โอ้กะจู๋

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาร้าน และขยับขยายพื้นที่ปลูกผักเพิ่มขึ้น โดยได้เพิ่มโรงเรือนสำหรับปลูกผัก กับโรงเรือนระบบหมุนเวียนอากาศ (Evaporative cooling system) ที่สามารถปลูกผักที่ปราศจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งหารับประทานทานได้ยาก เช่น ผักคะน้าออร์แกนิค กะหล่ำปลีออร์แกนิค อีกทั้งยังสามารถลดอุณหภูมิในโรงเรือน ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพของผลผลิตได้

โดยพื้นที่ ที่ใช้ในการปลูกผักทั้งหมดนี้ คือ

สวนที่ 1 “สวนผักแห่งศรัทธา” ขนาด 12 ไร่ บริเวณด้านหลังของที่ตั้งคาเฟ่สาขาแรก

สวนที่ 2 “สวนปลูกผักเพราะรักแม่” ขนาด 8 ไร่ ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่ ที่ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ออร์แกนิคอยู่แล้ว

สวนที่ 3 “สวนปลูกผักเพราะรักพ่อ” ที่ได้ขยายพื้นที่ในต้นปี 2558 บนพื้นที่ขนาด 50 ไร่

ช่วงท้ายของประวัติทางเว็บไซต์ ระบุด้วยว่า สวนผักโอ้กะจู๋” กำลังเตรียมความพร้อม เพื่อจะขยายตามคำเรียกร้องของคุณลูกค้า และเราจะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งครับ ขอขอบคุณครับ

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สวนผัก โอ้กะจู๋

เมื่อปี 2562 “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “อู๋” ชลากร ถึงแนวทางการขยายธุรกิจ ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า..

“ช่วงแรกที่เปิดร้านยังไม่มีกลุ่มเป้าหมาย และไม่ได้วางแผนขยายสาขา จนเมื่อปลายปี 2556 ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวมีลูกค้าเข้าใช้บริการที่ร้าน แล้วถ่ายรูปเมนูอาหารแชร์ผ่านสื่อโซเซียล ทั้งเฟซบุ๊กและไอจี สร้างการรับรู้แบบปากต่อปาก หลังจากนั้นก็ได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น”

จากนั้นจึงค่อย ๆ ขยับขยายสาขาเพิ่ม ก่อนจะกระโดดข้ามเข้ามากรุงเทพฯ นำร่องสาขาแรกที่สยามสแควร์

หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ชื่อแปลกย้ำว่า หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การพัฒนาเมนูอาหาร โดยจะมีการปรับเปลี่ยนเมนูใหม่ทุก ๆ 4 เดือน

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สวนผัก โอ้กะจู๋

ณ เวลานั้น  “สวนผัก โอ้กะจู๋” เตรียมขยายสาขาไปในพื้นที่หัวเมืองหลัก ทั้งภาคใต้และอีสาน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้สามารถรับส่งวัตถุดิบได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ไม่สะดวกจะเดินทางไปที่ร้านและตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ที่นิยมสั่งอาหารไปรับประทานที่บ้าน โอ้กะจู๋ได้ร่วมมือกับแกร็บและฟู้ดแพนด้าให้บริการส่งดีลิเวอรี่ และเตรียมจะมีแอปพลิเคชั่น “โอ้กะจู๋” สำหรับจองโต๊ะ จองคิว และสั่งอาหารกลับบ้าน เปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2563

“อู๋” ทิ้งท้ายไว้ว่า ถึงวันนี้สวนผัก โอ้กะจู๋ ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในแง่ของการส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับลูกค้า แต่เป้าหมายถัดไปคือ จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ดังนั้น สิ่งที่ร้านจะต้องเพิ่มคือ นวัตกรรม ลูกเล่นใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

อ่านถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงพอจะเห็นภาพว่า เหตุใด “โอ้กะจู๋” จึงเตะตา OR เข้าอย่างจัง