โออิชิ เผยรายได้ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ม.ค.-มี.ค. 64 ร่วง 18%  

“โออิชิ กรุ๊ป” เผยรายได้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม ปี 2564 ลดลง 18% จากผลกระทบโควิด-19 พร้อมเดินหน้ารุกตลาดต่อเนื่อง

วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564  บริษัทฯมีรายได้จากการขายและให้บริการ 2,369 ล้านบาท ลดลง 538 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.5% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจในพอร์ตฟอลิโอต่างได้รับผลกระทบ

เริ่มจากกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม มีรายได้จำนวน 1,416 ล้านบาท ลดลง 9.7% หลักๆมาจากยอดขายส่งออกลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในตลาดกัมพูชา จึงทำให้เกิดการชะลอการนำเข้า

ด้านตลาดภายในประเทศ บริษัทฯยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่ม และยังสามารถประคองสถานการณ์ได้ ทำให้มียอดขายทรงตัว จากการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในช่วงหน้าร้อนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการขยายฐานกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นเพิ่มเติมในช่องทางออนไลน์

ขณะที่ธุรกิจอาหาร มีรายได้ 953 ล้านบาท ลดลง 28.8% จากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ตลอดจนมาตรการควบคุมการระบาดจากทางภาครัฐ ในเรื่องการจำกัดการนั่งรับประทานในร้าน และการกำหนดเวลาการให้บริการ ดังนั้น บริษัทฯจึงพัฒนาการบริการ Oishi to go และนำเมนูที่น่าสนใจใหม่ๆหลายรายการที่เหมาะแก่การซื้อกลับบ้าน (Take-away) เข้าตอบโจทย์ผู้บริโภค

อีกทั้ง ยังได้เพิ่มน้ำหนักช่องทางดีลิเวอรี่ ส่งตรงถึงบ้าน (Home Delivery) จากการเพิ่มจำนวนร้านค้าที่สามารถรองรับการให้บริการส่งถึงบ้านให้ครอบคลุมมากขึ้น ควบคู่กับจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ

เช่นเดียวกับ นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้ทิศทางตลาดทั้งเครื่องดื่ม อาหาร และร้านอาหารนั้นมีความไม่แน่นอน เพราะการระบาดระลอก 3 ที่เพิ่งเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบอาจรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา 

จากปัจจัยดังกล่าว จึงต้องนำประสบการณ์จากครั้งก่อน ๆ มาปรับใช้ เช่น การมีสินค้าพร้อมในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโมเดิร์นเทรดหรือเทรดิชั่นนอลเทรด เพื่อรองรับการซื้อไปทาน-ดื่มที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม โดยจะเปิดเครือข่ายซัพพลายเชนตลอดทั้งวันธรรมดาและวันหยุด ให้สามารถรับคำสั่งซื้อและส่งสินค้าไปเติมหน้าร้านได้ทันที นอกจากนี้ยังคงรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างเต็มที่เพื่อรักษาสภาพคล่อง