5 องค์กรว่าที่พันธมิตร หมอบุญ นำเข้าไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

จับตาองค์กรรัฐใดเป็นพันธมิตรหมอบุญ
REUTERS/Edgar Su/File Photo

จับตา 5 องค์กรรัฐว่าที่พันธมิตร “หมอบุญ” จ่อนำเข้าไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 กรณีนายแพทย์บุญ วนาสิน หรือหมอบุญ ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยว่าจะร่วมมือกับองค์กรใหญ่ของภาครัฐ เพื่อเจรจาซื้อวัคซีนชนิด mRNA อีก 2 ยี่ห้อ

ยี่ห้อแรกจากบริษัท ไบออนเทค บริษัทยาสัญชาติเยอรมนี ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐอเมริกา ส่วนอีกยี่ห้อจากบริษัท โนวาแวก​ซ์ อิงค์ หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของสหรัฐ จำนวน 20 ล้านโดส โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด หมอบุญให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า วันพรุ่งนี้ (15 ก.ค.) บริษัทจะลงนามสัญญาเพื่อนำเข้าวัคซีนจากบริษัท ไบออนเทค โดยจะมีหน่วยงานรัฐที่มีสิทธินำเข้าวัคซีนร่วมลงนามด้วย ซึ่งจะเปิดเผยชื่อหลังจากการลงนามแล้วเสร็จ

การลงนามวันพรุ่งนี้จะถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการยืนยันจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อและนำเข้า หลังจากดำเนินการกระบวนการต่าง ๆ มา 1 เดือนแล้ว เหลือเพียงแค่ทางสหรัฐเท่านั้นว่าจะอนุมัติตามที่ขอไป 20 ล้านโดส ในระยะแรกหรือไม่

หลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาเพียง 1 วัน เพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีน เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเดียวกันกับที่บริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับใช้ในไทยได้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว ก่อนจะนำเข้าได้เลยภายใน 1 สัปดาห์ โดยเครือโรงพยาบาลธนบุรีจะเป็นผู้กระจายวัคซีน

อย่างไรก็ตาม หมอบุญปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อหน่วยงานของรัฐที่จะเป็นผู้นำเข้า ยืนยันว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเป็นผู้นำเข้าวัคซีน และช่วยด้วยความบริสุทธิ์ใจ

5 องค์กรว่าที่พันธมิตร “หมอบุญ”

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สาระสำคัญอยู่ที่ ข้อ 3 ที่ระบุให้ 5 หน่วยงาน ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน

เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด

โดย 5 หน่วยงานดังกล่าว ประกอบด้วย

  1. กรมควบคุมโรค
  2. องค์การเภสัชกรรม
  3. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
  4. สภากาชาดไทย
  5. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ

2 ตัวเลือกที่ตัดออก

จนกว่าจะถึงวันพรุ่งนี้ คงยังไม่มีข้อสรุปว่าองค์กรใดของภาครัฐที่ร่วมกับหมอบุญ เจรจานำเข้าวัคซีนจากบริษัท ไบออนเทค แต่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) น่าจะเป็นตัวเลือกแรกที่ถูกตัดออก หากพิจารณาจากความขัดแย้งล่าสุดที่ อภ.แจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายกับหมอบุญ ในข้อหา “หมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา อันเป็นเหตุให้องค์การเภสัชกรรมได้รับความเสียหาย”

กรณีหมอบุญให้สัมภาษณ์เรื่องการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยระบุว่า อาจต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2 รอบ รอบแรกมาจาก อภ.ที่ซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้แทน รอบที่ 2 จากโรงพยาบาลเอกชน ซื้อต่อจาก อภ.อีกครั้ง บวกกับค่าบริหารจัดการอีก ซึ่งทำให้วัคซีนมีต้นทุนสูง

ขณะที่ทาง อภ.โต้ว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหาย แต่ อภ.ยืนยันว่าไม่สามารถเปิดเผยราคานำเข้าได้ ให้เหตุผลว่าเป็นข้อตกลงในการเจรจาซื้อขาย ที่ไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่าย เปิดเผยราคาซื้อขายของคู่ค้าได้

ประกอบกับที่หมอบุญให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย สะท้อนปัญหาการนำเข้าวัคซีนโดยภาคเอกชนที่ผ่านมาว่า ที่โรงพยาบาลของตนไม่สามารถนำเข้าวัคซีนได้ เพราะติดเงื่อนไขในภาวะฉุกเฉินที่ผู้ผลิตจะต้องทำสัญญากับหน่วยงานรัฐเท่านั้น จนกระทั่งโควิดระบาดหนักเป็นระลอกที่ 3 รัฐบาลจึงมีนโยบายวัคซีนทางเลือก เพื่อให้เอกชนมีส่วนร่วมในการนำเข้าวัคซีนได้ หลังจากนั้นไม่นานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็สามารถนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มได้ภายใน 2 สัปดาห์

“เราจึงเห็นว่าจะต้องใช้ช่องทางในลักษณะเดียวกัน โดยไม่ต้องผ่านองค์การเภสัชกรรมเพราะกระบวนการล่าช้ามาก” หมอบุญกล่าว

อีกตัวเลือกที่ตัดออกคือ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา หมอบุญให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ยืนยันว่าหน่วยงานที่เจรจาด้วยไม่ใช่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

“ไม่ใช่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ งานเขามาก ก็ไปติดต่อหน่วยงานอื่นที่ใหญ่กว่า” หมอบุญกล่าว

ดังนั้น จึงเหลืออีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสภากาชาดไทย ในจำนวนนี้มี 2 หน่วยงานที่เพิ่งมีข่าวเกี่ยวกับวัคซีนโควิด ได้แก่ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานอัยการสูงสุดอ้างถึง ระบุว่าเป็นหน่วยงานที่ส่งคำร้องขอให้ตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

อีกหนึ่งหน่วยงานคือ สภากาชาดไทย ซึ่งที่ผ่านมามีการให้บริการฉีดวัคซีนผ่านโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วันพรุ่งนี้จึงจะรู้คำตอบชัดเจน