‘หมอบุญ วนาสิน’ ดีลวัคซีน เราไม่ทำอะไรซี้ซั้วแน่นอน

นายแพทย์บุญ วนาสิน
นายแพทย์บุญ วนาสิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศไทยทวีความรุนแรง โดยมีการติดเชื้อในอัตราเร่งเพิ่มขึ้น ซึ่งมีตัวแปรหลักจากการเข้ามายึดครองพื้นที่ของโควิดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) 1.4 เท่า

จากปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนที่มีทีท่าไม่เป็นไปตามเป้า ทั้งจำนวนการส่งมอบวัคซีน ตลอดจนการนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA เพื่อป้องกันการติดเชื้อเดลต้ายังมาช้ากว่าวิกฤตการแพร่ระบาดในไทยที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

ทว่า “หมอบุญ” คีย์แมนใหญ่ THG ได้เข้ามาพลิกเกมวัคซีนเมืองไทย ด้วยการประกาศความร่วมมือกับองค์กรใหญ่ภาครัฐนำเข้าวัคซีน “ไฟเซอร์” จำนวนถึง 20 ล้านโดส

และคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยในดีลนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นพ.บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรี

เปิดเส้นทางวัคซีน 8 เดือน

เรื่องการนำเข้าวัคซีน เราดีลมา 8 เดือน ประมาณ 4 บริษัท อาทิ ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, ซิโนแวค, สปุตนิก แต่มีแคนเซิลไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากภาคเอกชนดีลจีทูจีไม่ได้ ขณะที่รัฐบาลต้องการแอสตร้าเซนเนก้าในเดือน มิ.ย. 64 เรามองว่าไม่น่าทันการณ์ ต่อมาเมื่อรัฐอนุญาตให้ดำเนินการวัคซีนทางเลือกจึงได้เดินหน้าต่ออีกครั้ง

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดภายในประเทศถือว่าหนัก เชื้อกระจายไปทุกบ้าน จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉียด 10,000 คน/วัน ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขเริ่มรองรับไม่ไหวมาหลายเดือนแล้ว ทั้งในแง่เตียง

ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทางออกของวิกฤตการณ์ครั้งนี้มีตัวแปรอยู่ที่การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้เข้าสู่กลุ่มประชาชนให้เกิน 80% กว่า 14 เดือนที่ผ่านมา ผมพยายามพูดเรื่องวัคซีน ไม่มีสิ่งไหนช่วยได้นอกจากวัคซีน ตัวอย่างจากต่างประเทศมีมานานแล้ว คำถามคือทำไมเราจะต้องรอ

ประกอบกับสายพันธุ์โควิดตัวหลักในไทย คือ เดลต้า ขณะที่วัคซีนชนิด mRNA ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้สูง โดยเฉพาะไฟเซอร์ถือว่าดีที่สุด

มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันถึง 95% พร้อมกันนี้ ไฟเซอร์ยังได้พัฒนาสายพันธุ์เวอร์ชั่น 2 กันเดลต้าได้ด้วย ส่วนราคาก็ถูก อาการข้างเคียงน้อย ต้องยอมรับเอ็มอาร์เอ็นเอดีที่สุด อีกอันซับยูนิตทำท่าจะดี แต่คงอีกนาน

ดีลไฟเซอร์ติดปัญหาอะไร

มีแค่เรื่องการเซ็นสัญญาคำสั่งซื้อ ณ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการให้ทนายจากเบเคอร์ แม็คเคนซี่ ตรวจร่างสัญญาอย่างละเอียด ซึ่งมีราว 40 หน้า เมื่อแล้วเสร็จจึงเริ่มลงนามเซ็นสัญญา

ต่อมาจึงแจ้งบริษัทผู้นำเข้า เบื้องต้นสั่งซื้อทั้งหมดราว 20 ล้านโดส โดยลอตแรกจะเข้ามาสิ้นเดือน ก.ค. 5 ล้านโดส ถือเป็นการทดลองการนำเข้าก่อน เนื่องจากไฟเซอร์มีข้อจำกัดด้านการนำเข้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิให้ติดลบ 70 องศาเซลเซียส

ซึ่งถัดจากนี้ไปหลังเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว ทางฝั่งไฟเซอร์ต้องเดินทางมาดูเรื่องการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนการเซ็นสัญญาลงนามร่วมกัน

ส่วนราคายังระบุแน่ชัดไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับดีมานด์ในตลาด ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาขึ้นลงได้ตลอดเวลา แต่ยืนยันว่าราคาไฟเซอร์จะรวมค่าบริการและค่าประกันวัคซีน เหมือนวัคซีนที่นำเข้ายี่ห้ออื่น ๆ ก่อนหน้านี้ และจะพยายามคุมราคาให้ต่ำกว่าโมเดอร์นา

ภาครัฐดีลไฟเซอร์เช่นเดียวกัน

เป็นบริษัทคนละนิติบุคคลกับที่รัฐบาลติดต่อขอดีลไฟเซอร์อย่างแน่นอน ส่วนต้นทางฐานการผลิตไฟเซอร์ก็ติดต่อคนละประเทศกับรัฐบาล เพราะเราทับกับภาครัฐไม่ได้ จึงเลี่ยงไปประเทศอื่น

อย่างไรก็ดี สำหรับการดำเนินการดีลไฟเซอร์ของเครือธนบุรี ต้องมีหน่วยงานรัฐช่วย เนื่องจากบริษัทต้นทางจะดีลในลักษณะจีทูจีเท่านั้น อย่างไรก็ดี ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อหน่วยงานรัฐ ตลอดจนบริษัทนำเข้าได้ จนกว่าจะมีการเซ็นสัญญาอย่างชัดเจน

ติดต่อวัคซีนยี่ห้ออื่น

สำหรับการติดต่อวัคซีนยี่ห้ออื่น เบื้องต้นมีติดต่อวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อีกประมาณ 10 ล้านโดส ส่วนอีกชนิดที่น่าสนใจคือ โปรตีนซับยูนิตยี่ห้อโนวาแว็กซ์ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของหลาย ๆ ประเทศ ได้ติดต่อสั่งซื้อไป 10 ล้านโดส แต่คาดว่าโนวาแว็กซ์จะได้ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงวัคซีน mRNA ยี่ห้อโคมิร์นาที (Comirnaty) ซึ่งขึ้นชื่อว่า เป็นฝาแฝดไฟเซอร์ ที่ทางไบโอเอนเทคได้ร่วมผลิต โดยมีรายงานว่า มีความเหมือนไฟเซอร์ และมีชื่อทางการว่า BNT162b2 เหมือนกัน

ต่างเพียงแค่ชื่อแบรนด์เท่านั้น นพ.บุญให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า วัคซีนน่าสนใจ แต่ขอโฟกัสเพียงไฟเซอร์โดยตรงจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม รพ.ธนบุรี ในฐานะโรงพยาบาล 5 ดาว ก็ต้องเลือกวัคซีนที่ดีที่สุด สนใจแต่ว่า เอาที่มันชัวร์ก่อน หรือกล่าวได้ว่า เราไม่ทำอะไรซี้ซั้วอย่างแน่นอน