ส่อล้มประมูลชุดตรวจ ATK ติดคำสั่ง ประยุทธ์-ลุ้นรายใหม่

ประมูลชุดตรวจโควิดพันล้าน 8.5 ล้านชุด ส่อแววไม่จบง่าย ๆ “องค์การเภสัช-ออสท์แลนด์” ลุ้นหนัก ข้อสั่งการนายกฯ ย้ำต้องมีคุณภาพมาตรฐานสากล-WHO รับรอง หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม เผยเงื่อนไขในทีโออาร์ องค์การเภสัช ล้ม-ยกเลิกการประมูลได้ สปสช.เจ้าของงบฯแจงขั้นตอน ยังไร้วี่แวววันเซ็นสัญญา

ขณะนี้แม้ว่าองค์การเภสัชกรรมจะได้ประกาศชื่อผู้ชนะการประมูลชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด มูลค่า 1,014 ล้านบาท ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการเซ็นสัญญากับบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ผู้ชนะการประมูลจะยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน

ประกอบกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยให้เร่งจัดหาชุดตรวจเอทีเค และหนึ่งในคุณสมบัติตามข้อสั่งการฯคือ ชุดตรวจดังกล่าวต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก

องค์การเภสัชไม่กล้าเซ็นสัญญา

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า องค์การเภสัชฯ (อภ.) คงไม่กล้าลงนามกับผู้ชนะประมูล และอาจจะต้องจัดหาผู้ประมูลรายใหม่ เพราะข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ จากนั้นส่งเป็นหนังสือเวียนถึงส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการบริหารจัดการควบคุมโรคโควิด-19

โดยตอนหนึ่งระบุว่า การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงทีและพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การกำหนดทีโออาร์เรื่องมาตรฐานของ ATK ต้องให้ความสำคัญมากกว่าใครเสนอราคาต่ำแล้วชนะประมูล เพราะจะส่งผลต่อการตรวจรักษาประชาชน

ทั้งนี้ สปสช.ได้กำหนดสเป็กที่มาตรฐานไปเพื่อให้ได้ผู้ประมูลที่อาจจะจัดซื้อได้หลายราย แต่มีการลดสเป็กลงจึงได้ผู้ชนะรายเดียว

ทีโออาร์เปิดช่องล้มประมูลได้

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แสดงความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

โดยส่วนตัวเชื่อว่า ทางออกของการประมูลการจัดซื้อชุดตรวจเอทีเคครั้งนี้ องค์การเภสัชฯมีสิทธิหรือสามารถที่จะล้ม หรือยกเลิกการประมูลได้ หากออสท์แลนด์ หรือณุศาศิริ จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็ให้เขาฟ้อง และดูว่าเขาจะฟ้องได้หรือไม่

เนื่องจากแบบเชิญยื่นซองเสนอราคา หรือทีโออาร์ ที่องค์การเภสัชฯระบุไว้ ในข้อที่ 4 เรื่องการสงวนสิทธิ โดยเฉพาะในข้อ 4.2 ที่ระบุว่า “องค์การเภสัชกรรม ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะลดหรือเพิ่มจำนวน, จะงดซื้อหรือเลือกซื้อโดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากผู้เสนอราคาต่ำสุดเสมอไป รวมทั้งสงวนสิทธิที่จะพิจารณายกเลิกการเสนอราคาเพื่้อประโยชน์ขององค์การเภสัชกรรมเป็นสำคัญ”

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากที่ท่านนายกฯ มีข้อสั่งการ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยหลักการ จะถือเป็นกฎหมาย มีผลผูกพันทุกองค์กร และในฐานะที่นายกฯเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมด

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ต้องฟังคำสั่งของนายกฯ ที่เป็นผู้บังคับบัญชา และต้องปฏิบัติตาม ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นข้อกฎหมาย หน่วยงานราชการ ผู้ใต้คำบังคับบัญชา ต้องถือปฏิบัติโดยเร็ว มองเป็นอย่างอื่นอะไรไม่ได้เลย

และที่สำคัญคือ ข้อสั่งการของนายกฯชัดเจนมาก โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติชุดตรวจ ต้องมีคุณภาพ คือต้องผ่าน อย. และรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

ป.ป.ช.จับตาจัดซื้อ ATK

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีจัดซื้อชุดตรวจโควิด -19 ชนิดรู้ผลด่วน (ATK) ว่า ขณะนี้ยังไม่มีคนมาร้อง แต่หาก ป.ป.ช.เห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัย

ทาง ป.ป.ช.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ป.ป.ช.ไม่ได้รอให้คนมาร้องอย่างเดียว และจะติดตามและเก็บรวบรวมข้อมูลจากการเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นปกติตลอดเวลาอยู่แล้ว

และหากมีเหตุอันควรสงสัยจริง ทาง ป.ป.ช.จะเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้น แต่ยังไม่ถึงขั้นเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลจนกว่าจะชัดเจนถึงจะตั้งเป็นเรื่องไต่สวน

“ทาง ป.ปช.ได้สั่งการให้สำนักเฝ้าระวังติดตามเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ โดยฝ่ายข่าวจะเก็บรวบรวมข้อมูลไปเรื่อย ๆ เพื่อส่งสำนักที่เกี่ยวข้องไปดูเบื้องต้น จนกระทั่งมีความชัดเจนจึงจะสามารถดำเนินการตามระบบได้”

สปสช.ยังไม่รู้วันลงนามในสัญญา

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวาน (19 สิงหาคม) องค์การเภสัชกรรมได้ทำหนังสือมาถึง สปสช.เป็นการแจ้งให้ทราบว่า ได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว

และจากนี้ สปสช.ก็จะส่งหนังสือแจ้งไปยังราชวิถีที่เป็นผู้ซื้อ เพื่อดำเนินการในการเตรียมลงนามในสัญญาต่อไป ส่วนจะมีการลงนามเซ็นสัญญาเมื่อไหร่ เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับทางโน้น ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในโปรเซสของหนังสือ

เมื่อถามถึงกรณีที่ท่านนายกฯมีข้อสั่งการ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่กำหนดคุณสมบัติเอทีเคว่า จะต้องมี WHO รับรอง นายแพทย์จเด็จระบุว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของราชวิถี เพราะท่านสั่งการไปยังหน่วยราชการทุกแห่งที่มีหน้าที่ในการจัดซื้อเอทีเค ในอนาคตต่อไปหน่วยงานไหนที่จะซื้อเอทีเคจะต้องเป็นไปตามข้อสั่งการท่านนายกฯด้วย

“แต่บังเอิญว่าของเรานี่มันเป็นเรื่องที่ก้ำกึ่งที่มีการจัดซื้อพอดี และคงจะเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องเอาข้อสั่งการดังกล่าวมาดูมาพิจารณา ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากข้อสั่งการของท่านนายกฯดังกล่าว จะทำให้การจัดซื้อเอทีเค หรือการเซ็นสัญญากับออสท์แลนด์ฯ ต้องกลับมาทบทวนใหม่หรือไม่

เลขาธิการ สปชส.แสดงความเห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องของระเบียบ เรื่องวิธีการปฏิบัติของราชการ อาจจะบอกยากนิดหนึ่ง บางทีคำว่าข้อสั่งการ มันไม่เหมือน มติ ครม. แม้จะเป็นข้อสั่งการ หรือ มติ ครม. ที่เป็นคำสั่งทางบริหาร

ซึ่งปกติต้องปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ดีกรีของข้อสั่งการ ไม่ทราบจริง ๆ แต่การที่เราเป็นหน่วยงานราชการ เมื่อผู้บังคับบัญชามอบหมายหรืออะไร โดยวิธีปฏิบัติ คงจะต้องนำมาพิจารณา

ส่วนเรื่องคุณภาพและราคาเอทีเคของผู้ชนะการประมูลที่ถูกตั้งคำถาม จริง ๆ แล้ว เรื่องพวกนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นอะไรที่สามารถพิสูจน์ได้อยู่แล้ว โดยอาจจะพิสูจน์ในลักษณะของแล็บ หรือถ้ายังไม่มั่นใจก็นำไปพิสูจน์ในสนามจริง

อีกด้านหนึ่งก็ต้องนำมาเทียบว่า เมื่อราคามันลดลง คุณภาพในบางมุมที่เราอาจจะรู้สึกว่ามันต่ำกว่า มันรับได้กับราคาที่ได้หรือไม่

“จริง ๆ แล้ว มันไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับสถานกาณ์ สปสช.เอง เราอยากได้ของมาให้ประชาชน ถ้ามาถูกต้องตามกติกา เราปฏิบัติราชการ เราต้องยอมรับ ถ้าเราซื้อส่วนตัวเราคงไม่มีปัญหาอะไร แต่บางครั้งในการพิจารณาในเชิงของการปฏิบัติราชการนี่

หนึ่งถ้ากติกามาแบบถูกต้อง อันนี้เราคงต้องโอเคถือว่าถูก ส่วนในปลายทางจะเป็นอย่างไร ก็จะต้องมาดูกันอีกครั้งหนึ่ง” เลขาธิการ สปชส.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีความเคลื่อนไหวของบริษัท เวิลด์เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระบุเป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งโดยบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

เนื้อหาของจดหมายดังกล่าวเป็นการอธิบายถึงคุณภาพของชุดตรวจของบริษัทที่ชนะการประมูล และย้ำในเรื่องของการมีคุณสมบัติครบถ้วนตามทีโออาร์ที่ องค์การเภสัชฯประกาศ และระบุว่าข้อกำหนดการจัดซื้อดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงการได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

และย้ำว่า ปัจจุบัน WHO ยังไม่มีการอนุมัติชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง พร้อมแนบเอกสารประกอบ 14 หน้า