สธ.เผยผลวิจัยฉีดวัคซีนเข้าผิวหนังภูมิคุ้มกันสูง อนาคตเล็งทางเลือกฉีดแบบประหยัด

เข็มฉีดยา
ภาพจาก : กระทรวงสาธารณสุข (แฟ้มภาพประกอบข่าว ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในข่าว)

สธ. เปิดผลวิจัยความปลอดภัยและประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง พบภูมิคุ้มกันสูงเทียบเคียงวิธีปกติ อาการข้างเคียงร่างกายน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ชี้หากงานวิจัยวงกว้างไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง เชื่อเป็นทางเลือกการฉีดวัคซีนแบบประหยัด-เข้าถึงคนได้มาก

วันที่ 22 กันยายน 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้ร่วมมือกันทำการวิจัยการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข้าในชั้นผิวหนัง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยเมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

 

เบื้องต้นโดยปกติการฉีดวัคซีนจะแบ่งออกเป็น 3 วิธี ดังนี้

1.การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ เหมือนที่ฉีดวัคซีนโควิดทุกวันนี้ คือปักเข็มเข้าไปตรง ๆ 90 องศา ผ่านชั้นผิวหนัง ชั้นใต้ผิวหนัง ไปสู่กล้ามเนื้อ และมีวัคซีนหลายชนิดที่ฉีดด้วยวิธีนี้ ทั้งวัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ตับอักเสบบี พิษสุนัขบ้า

2.การฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนัง คือแทงเข้าไปใต้ชั้นผิวหนังทะลุไขมัน 45 องศา มีวัคซีนที่ฉีดวิธีนี้หลายตัว ได้แก่ วัคซีนไข้สมองอักเสบ วัคซีนรวมหัด

3.ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง คือสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ แทงเข็มเข้าไปในชั้นผิวหนังเพียง 10-15 องศา ที่มีความหนาโดยรวม 1 มม. จึงมีข้อจำกัดในเรื่องการฉีดที่ยากลำบากกว่า 2 วิธีก่อนหน้านี้ ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ในการทำค่อนข้างสูง ที่ผ่านมามีวัคซีนที่ใช้วิธีนี้ อาทิ วัคซีน BCG (ป้องกันความรุนแรงวัณโรค) และวัคซีนพิษสุนัขบ้า ที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ หรือเข้าในชั้นผิวหนังก็ได้ แต่วิธีนี้จะประหยัดกว่าค่อนข้างมาก ซึ่งเคยมีวัคซีนตัวอื่น ๆ ลองทำก่อนกรณีวัคซีนโควิดแล้ว

ดังนั้น ในหลายประเทศจึงมีการคิดค้นการฉีดในชั้นผิวหนัง ซึ่งมีเส้นเลือดมากมาย แต่จะใช้จำนวนวัคซีนน้อยกว่า 1 ใน 5 หรือหากกล่าวง่าย ๆ คือ หากได้ผลประสิทธิภาพเท่า ๆ กัน วัคซีนโควิดที่ปกติจะฉีดได้แค่ 1 โดส/คน จะฉีดได้เป็น 1 โดส/5 คน

ทั้งนี้ งานวิจัยของกรมวิทย์ฯ และ มอ. ได้ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง สำหรับบูสเตอร์โดสเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับคนที่ฉีดซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ผ่านกลุ่มประชากรแข็งแรงที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี จำนวน 95 ราย โดยแบ่งการเปรียบเทียบออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มบูสเตอร์โดสเข้ากล้ามเนื้อ (วิธีปกติ) หลังรับซิโนแวคครบ 4-8 สัปดาห์ ใช้ปริมาณวัคซีน 0.5 มล. จำนวน 30 คน

2.กลุ่มบูสเตอร์เข้าชั้นผิวหนัง หลังรับซิโนแวคครบ 4-8 สัปดาห์ ใช้ปริมาณวัคซีน 0.1 มล. จำนวน 31 คน

3.กลุ่มบูสเตอร์เข้าชั้นผิวหนัง หลังรับซิโนแวคครบมากกว่า 8-12 สัปดาห์ ใช้ปริมาณวัคซีน 0.1 มล. จำนวน 34 คน

โดยพิจารณา 2 เรื่องเป็นหลัก ได้แก่ เรื่องผลข้างเคียงว่าแตกต่างกันหรือไม่ เพื่อจะสะท้อนเรื่องความปลอดภัย และเรื่องเกิดภูมิคุ้มกันสูงขึ้นแค่ไหน

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นพบว่ากลุ่มที่ฉีดเข้าทางชั้นผิวหนังมีผลข้างเคียงบริเวณที่ฉีดสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยอาการที่พบส่วนมากคือ ปวด บวม แดง คล้ายมดกัด ผึ้งต่อย ขณะที่อาการข้างเคียงกับร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อย เหนื่อยหอบ กลุ่มที่ฉีดเข้าชั้นผิวหนังทั้ง 2 กลุ่ม มีอาการน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจเรียกได้ว่ามีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน

ด้าน ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สำหรับประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเมื่อวัดจากการเจาะเลือด มีระดับไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือ ฉีดแบบปกติเข้ากล้ามเนื้อมีระดับแอนติบอดี้อยู่ที่ 1,500 ส่วนฉีดเข้าทางชั้นผิวหนังอีก 2 กลุ่ม มีภูมิคุ้มกันอยู่ที่ราว 1,300 ถือว่าไม่แตกต่างกันมาก แต่ใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าเยอะ

ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ
ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ

และหากวัดในส่วนการป้องกันเชื้อเดลต้าโดยเฉพาะพบว่าการบูสเตอร์ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ในกลุ่ม 2 หลังรับซิโนแวค 4-12 สัปดาห์ มีระดับแอนติบอดี้อยู่ที่ 234.4 ขณะที่กลุ่ม 3 หลังรับซิโนแวค 8-12 สัปดาห์ มีระดับแอนติบอดี้ 172.1 คือสามารถป้องกันได้พอสมควรทั้งคู่ เมื่อเทียบกับการฉีดเพียงซิโนแวคเพียว ๆ ไม่มีบูสเตอร์โดส ที่มีระดับแอนติบอดี้อยู่ที่ 10-16.3

ส่วนการตอบสนองภูมิคุ้มกันของเซลล์ (T-Cell response) ต่อโปรตีนหนามของไวรัสโควิด เมื่อทดสอบกับผู้ที่ได้รับเข็ม 3 แอสตร้าฯ ทางกล้ามเนื้อ และทางชั้นผิวหนังที่ใช้วัคซีนเพียง 1 ใน 5 พบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันขึ้นกว่า 50 เทียบเท่าวิธีฉีดแบบปกติ และเมื่อเทียบกับการฉีดซิโนแวคเพียง 2 เข็ม ที่มีระดับในทีเซลล์เพียง 10 ก็มากกว่าอย่างมีนัยทางสถิติ

นพ.ศุภกิจ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน สธ. ยังคงการฉีดแบบเดิมคือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยกเว้นในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถทำได้ และอยากประหยัดวัคซีนสามารถทำได้ (ตามมติของ สธ.)

อย่างไรก็ดี ในวันข้างหน้าถ้ามีข้อมูลวิชาการเพิ่มเติมในวงกว้างว่าประสิทธิภาพและความปลอดภัยเทียบเท่าวิธีปกติ ประกอบกับประเทศไทยอยากเร่งการฉีดให้ครอบคลุมค่อนข้างมากโดยเฉพาะเข็ม 3 หากฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะทำให้คนได้รับวัคซีนได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

ขณะที่ นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิดบางอย่าง เช่น ปวดหัว ในการฉีดเข้ากล้ามเนื้อพบสูงถึง 30% ขณะที่ฉีดเข้าผิวหนังพบเพียง 5% เป็นต้น ถือว่าน้อยมาก ในอนาคตอันใกล้หากคนเป็น 10,000 คนที่ฉีดชั้นผิวหนัง แล้วไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงเฉพาะที่ การฉีดเข้าบริเวณผิวหนังก็ดูเป็นทางเลือกที่ดีในแง่ความปลอดภัยด้วย