สธ. ฟันธงปลายเดือนมกราคม โอมิครอน แทนที่เดลต้าทั้งหมด

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

สธ.เผย โอมิครอนกระจายครบ 77 จังหวัด ภาพรวมทั่วประเทศกินสัดส่วน 86% กทม.-ชลบุรี-ภูเก็ต ยังครองอันดับสูงสุด คาดปลายเดือนมกราคม เดลต้าสูญพันธุ์ โอมิครอนแทนที่สมบูรณ์

วันที่ 21 มกราคม 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายไปครบทุกพื้นที่ทั่วไทยแล้ว สะสมทั้งหมด 10,721 ราย ส่วน 10 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาดโอมิครอนสูงสุด ได้แก่

  1. กรุงเทพมหานคร 4,178 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,176 ราย
  2. ชลบุรี 837 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 451 ราย
  3. ภูเก็ต 434 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 32 ราย
  4. ร้อยเอ็ด 355 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด
  5. สมุทรปราการ 329 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 54 ราย
  6. สุราษฎร์ธานี 319 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 33 ราย
  7. กาฬสินธุ์ 301 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 299 ราย
  8. อุดรธานี 217 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด
  9. เชียงใหม่ 214 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 118 ราย
  10. ขอนแก่น 214 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด

โดยภาคอีสานทั้งร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี เป็นผลพวงของคลัสเตอร์ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนสมุทรปราการ และเชียงใหม่ที่เริ่มมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ส่วนภาพรวมการติดเชื้อโควิดพบว่า กลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศจำนวน 1,437 ตัวอย่าง กว่า 96.9% เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน และเดลต้าอีก 3.1% เพราะฉะนั้นผลบวกในคนที่มาจากต่างประเทศก็เชื่อได้ว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด

ขณะที่กลุ่มในประเทศจำนวน 2,274 ตัวอย่าง โอมิครอนก็เพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนโอมิครอนถึง 80.4% ที่เหลือเป็นเดลต้า 19.6% และหากรวมทุกกลุ่มทั้งหมดจำนวน 3,711 ตัวอย่าง พบว่า โอมิครอนมีสัดส่วนราว 86.8% และเดลต้ามีสัดส่วน 13.2% เท่านั้น

สำหรับการคัดเลือกตัวอย่างในการตรวจหาสายพันธุ์โควิด โดยกลุ่มที่มาจากต่างประเทศหรือชายแดนที่ถือว่าจะนำเชื้อเข้ามาได้จะตรวจด้วยวิธี RT-PCR ทุกคน ก่อนจะคัดอีก 10 คน ไปตรวจจีโนม (WGS) แยกสายพันธุ์ ส่วนกลุ่มอื่น ๆ เช่น การสุ่มในภาพรวม, คลัสเตอร์ที่มีการติดเชื้อสูงเกินกว่า 50 รายขึ้นไป, กลุ่มติดเชื้อแม้ได้รับวัคซีนครบ, กลุ่มที่มีอาการรุนแรง, กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดซ้ำ เป็นต้น จะมีการสุ่มตรวจคัดแยกสายพันธุ์บางส่วน เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมโควิดทั้งตัว

ทั้งนี้ กลุ่มที่พบโอมิครอนจากการสุ่มตรวจนั้น ส่วนมากจะเป็นการสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากภาพรวมของประเทศ และกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีการติดเชื้อสูง และกลุ่มที่มีการติดเชื้อซ้ำ

หากวิเคราะห์เจาะลึกลงไปจะพบว่า สัปดาห์นี้พบการติดเชื้อโอมิครอนโดยรวมกว่า 86% และอีก 13% เป็นเดลต้า ทว่าเมื่อพิจารณากลุ่มที่มีอารุนแรงหรือป่วยหนัก และเสียชีวิต จะเห็นว่าเป็นโอมิครอน 67.2% และอีก 32.8% เป็นเดลต้า สะท้อนได้ว่าแม้ขณะนี้สัดส่วนเดลต้าจะน้อยกว่าโอมิครอนมาก

แต่ถ้าเทียบในกลุ่มอาการรุนแรงเดลต้ายังครองสัดส่วนที่สูงเกินค่าเฉลี่ยการติดเชื้อโดยรวม ซึ่งปกติแล้วกลุ่มอาการป่วยหนักควรเป็นเดลต้าไม่เกิน 15% ซึ่งแน่ชัดแล้วว่าโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้านั่นเอง ส่วนการติดเชื้อซ้ำ 100% มาจากสายพันธุ์โอมิครอน

อย่างไรก็ดี ถ้าแบ่งการติดเชื้อโอมิครอนตามเขตสุขภาพจะพบว่า เขต 4, 6, 7, และ 13 กทม. พบโอมิครอนสูงสุด ส่วนเขตอื่น ๆ ส่วนใหญ่ 60-80% ก็เป็นการติดเชื้อโอมิครอน ที่น่าสนใจคือเขต 12 ชายแดนใต้ มีการติดเชื้อโอมิครอนเพียง 51.46% อีกครึ่งหนึ่งเป็นเดลต้า

สะท้อนว่าลักษณะของจังหวัดดังกล่าวอาจแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ เช่น ไม่มีสถานบันเทิง หรือไม่มีการรั่วไหลของโอมิครอนที่เข้ามาจากชายแดนต่างประเทศ จึงเป็นเดลต้าสายพันธุ์เดิมมากกว่า แต่สุดท้ายโอมิครอนก็จะเข้ามาแทนที่ได้ทั้งหมดในที่สุด

นำมาสู่ข้อสรุปสถานการณ์โอมิครอนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ สายพันธุ์นี้มีการแพร่กระจายค้อนข้างเร็ว โดยกลุ่มต่างประเทศเกือบ 100% เป็นโอมิครอน ส่วนในประเทศโอมิครอนเฉลี่ย 80.4% ส่วนกลุ่มรุนแรงและเสียชีวิตพบว่าสัดส่วนเดลต้ายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มทั่วไป กลุ่มได้รับวัคซีนหรือกลุ่มติดเชื้อซ้ำเป็นโอมิครอนมากกว่า

“คาดว่าภายในปลายเดือนนี้สัดส่วนโอมิครอนในประเทศจะสูงเทียบเท่ากับกลุ่มที่เข้ามาจากต่างประเทศหรือมากกว่า 97-98% และสุดท้ายเดลต้าจะหายไปในที่สุด ดังนั้น เราต้องอยู่ร่วมกับโอมิครอน จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็ม 3 ซึ่งไม่ว่าสูตรไหนก็สามารถลดการแพร่ระบาด การติดเชื้อ และยังลดอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ด้วย”