กทม.ตั้งรับมหาศึกโอมิครอน 2565 คนเมืองกรุงต้องรอดไปด้วยกัน

ศูนย์พักคอย

กรุงเทพมหานครถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวหากเกิดการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมีพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดอย่างรวดเร็วได้หลายต่อหลายจุด ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 คณะกรรมการโควิด กทม. จัดแถลงข่าวการเตรียมการรับมือโควิดโอมิครอนเป็นแมตช์แรกของปี 2565

อัตราครองเตียงโควิด 18.59%

“ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง” โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ว่า อยู่ในลักษณะทรงตัวและมีแนวโน้ม “เพิ่มขึ้น” มีจำนวนผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 13 มกราคม 2565 อยู่ที่ 790 ราย มีการตรวจเชิงรุกได้แล้ว 4,000 รายต่อวัน (ไม่รวมการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ) อัตราการติดเชื้อเพียง 1-2% ถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด-19 ระลอกก่อนหน้านี้ที่มีอัตราการติดเชื้อถึง 10%

รูปแบบการระบาดจะเกิดขึ้นในพื้นที่ 2 ลักษณะ คือ 1.พื้นที่ชุมชนและที่มีกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก 2.พื้นที่ร้านอาหารนั่งรับประทานได้เป็นเวลานาน มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

สำหรับความพร้อมเพื่อเตรียมรองรับผู้ติดเชื้อนั้น ในเบื้องต้น กทม.เตรียมความพร้อมสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 10,000 เตียง ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาเพียง 1,700-1,800 เท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 18.59% นั่นหมายความว่ายังมีสเปซรองรับผู้ติดเชื้อได้อีกเป็นจำนวนมาก

“สถานการณ์โอมิครอนจะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อยังค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ สามารถรักษาอยู่ที่บ้าน หรือ HI (home isolation) ส่วนในรายที่มีอาการหนักจะได้เข้ารับการรักษาตามขั้นตอนจากแพทย์”

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง

เฝ้าระวังแคมป์ก่อสร้าง

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนป้องกันในพื้นที่ กทม.แล้วกว่า 2 ล้านโดส จากจุดต่าง ๆ กว่า 101 แห่งทั่วพื้นที่ กทม.กว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร หากสถานการณ์ระบาดกระจายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กทม.เตรียมแผนรองรับด้วยการขยายเตียงรองรับผู้ติดเชื้อได้สูงสุดถึง 20,000-30,000 เตียง ทั้งโรงพยาบาลปกติและโรงพยาบาลสนาม

สำหรับมาตรการพิเศษเพื่อตั้งรับการระบาดโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอน พื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่พบการระบาดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังให้ครบ 28 วันคือ “คลัสเตอร์ก่อสร้าง” แม้ว่าจะควบคุมการระบาดได้แล้วก็ตาม แต่ยังคงมีแคมป์ก่อสร้างที่ต้องเฝ้าระวังอย่างน้อย 5 แห่ง ซึ่งทั้งหมดได้ผ่านการตรวจเชิงรุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

“เรายังประมาทไม่ได้ แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 2% ส่วนใหญ่สถานประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะแคมป์คนงานที่มีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว สามารถควบคุมการระบาดได้ดี แต่จนถึงขณะนี้แม้ว่าสถานการณ์ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตเหมือนกับการระบาดในระลอกที่ผ่านมา ตัวเชื้อที่ไม่รุนแรงมากนัก และส่วนใหญ่ยังสามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ จึงมั่นใจว่า กทม.มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อได้อย่างเพียงพอแน่นอน” ร.ต.อ.พงศกรกล่าว

เปลี่ยนผ่านสู่ “โรคประจำถิ่น”

หน่วยงานหลักที่เป็นด่านหน้าโควิดของ กทม. “แพทย์หญิง ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์” ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า best practice ยกตัวอย่าง “ชุมชนคลองสามวา” ที่มีแรงงานต่างด้าวอิสระ ทางผู้ประกอบการรายใดได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การป้องกันและควบคุมการระบาดเป็นอย่างดี

อีกทั้งยังได้นำประสบการณ์จากสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดได้มาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันอีกด้วย

ในภาพรวม จำเป็นต้องคุมเข้มในการใช้ชีวิตอยู่ในไซต์งาน เช่น ไม่ดื่มและรับประทานอาหารร่วมกัน ต้องมีการตรวจ ATK อย่างต่อเนื่อง และเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กระจายและครอบคลุมให้ได้มากที่สุด

ส่วนแนวโน้มที่มีการเตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” นั้น “หมอป่าน-แพทย์หญิงป่านฤดี” ระบุว่า หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโรคที่ลดระดับความรุนแรงลงแล้ว นั่นหมายถึงว่าประชาชนทั่วไปสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้ามารักษาในโรงพยาบาลก็ได้

“ขณะนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน หากว่าประชาชนไม่เข้าใจอาจจะส่งผลให้เกิดขึ้น super spreader การแพร่ระบาดหมู่ได้ จนกลายเป็นภาระให้กับระบบสาธารณสุขเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว”

แพทย์หญิง ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์

สแตนด์บาย 2 หมื่นเตียง

โฆษก กทม.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีพื้นที่ กทม.เข้าสู่ภาวะวิกฤตว่า มีเตียงพร้อมรองรับได้ทันที เป็นผลมาจากการเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ กทม.ในช่วงที่ผ่านมากว่า 2 ล้านโดสแล้ว และขณะนี้เตรียมศูนย์ฉีดวัคซีนรวม 101 จุด สำหรับเข็ม 3 แล้ว

นอกจากนี้ ระบบการรองรับผู้ติดเชื้อโควิดสามารถรับผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ยังมีไม่มาก ทำให้สามารถบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์เพื่อไปรองรับงานอื่น ๆ

เมื่อรวมจำนวนเตียงพร้อมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เป็นพันธมิตรแล้วสามารถรองรับได้ถึง 20,000 เตียง ในเบื้องต้นจะมีโรงพยาบาลสนามบางขุนเทียนเป็นหลักที่ยังมีเตียงรองรับได้อีกจำนวนมาก

ส่วนโรงพยาบาลอื่น ๆ ให้เตรียมอยู่ในโหมดสแตนด์บายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 และ 3 และเอราวัณ 1 ที่ยังมีเตียงอีกกว่า 120 เตียง โดยที่ยังไม่มีการครองเตียง

คุมเข้มนั่งทานกึ่งร้านอาหาร

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยโรคระบาดในเขต กทม.นั้น มีข้อคำนึงแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคระบาด จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กับเปิดให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตตามปกติสุขให้มากที่สุด ดังนั้นจะเริ่มให้ร้านค้าประเภทร้านกึ่งขายอาหารสามารถเปิดให้บริการนั่งกินในร้านได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการที่กำหนดไว้ 100%

โดยเฉพาะร้านประเภทกึ่งผับ-บาร์ที่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์จะต้องเฝ้าระวังและมีมาตรการเข้มข้นเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่พนักงานในร้านต้องฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน ไม่จัดพื้นที่ให้มีคนเข้าไปใช้บริการอย่างแออัด และไม่อนุญาตให้จัดพื้นที่ลูกค้ามีการเต้นรำ

“ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการต่าง ๆ และประชาชนจะประมาทไม่ได้ หากทุกคนปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดแล้ว บวกกับระบบสาธารณสุขที่รองรับได้อย่างรวดเร็ว เป็นหนทางที่จะทำให้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายได้รวดเร็วขึ้น”

กลาง กพ.นี้เริ่มฉีด 5-11 ขวบ

หนึ่งในประเด็นร้อนคือการฉีดวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 5-11 ขวบ ทาง กทม.อยู่ระหว่างการเตรียมสำรวจข้อมูลเด็ก ซึ่งมีเงื่อนไขหลักคือการตัดสินใจให้เด็กเข้ารับวัคซีนจะเป็นไปตามความสมัครใจ

ในส่วนของรูปแบบการให้วัคซีนกำหนดให้โรงเรียนเป็นจุดฉีดหลัก ร่วมกับจุดฉีดที่โรงพยาบาล และต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เห็นชอบก่อนให้เด็กเข้ารับวัคซีน โดยตามแผนการฉีดของกระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มดำเนินการกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

ไทม์ไลน์ของ กทม.เตรียมแผนการฉีดวัคซีน สำหรับนักเรียนอายุ 12 ปี ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร กลุ่มเป้าหมายจำนวน 16,391 คน เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่อายุครบเกณฑ์ เริ่มวันที่ 25-26 มกราคม 2565

โดยมีจุดฉีดวัคซีนทั้งหมด 18 จุดฉีด ให้บริการฉีด 9 จุด/วัน แบ่งเป็นวันที่ 25 มกราคม จำนวน 22 เขต ทั้งหมด 8,604 คน และวันที่ 26 มกราคม อีก 28 เขต จำนวน 7,787 คน

ดูแลผู้ป่วยติดเตียง-กลุ่มเปราะบาง

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายจุดให้บริการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น นอกจากโรงพยาบาลในสังกัด 11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งแล้ว กทม.ได้ขยายความร่วมมือกับสถานพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนมากที่สุด

ปัจจุบันมีมากกว่า 100 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนขอรับวัคซีน “เข็มที่ 1 เข็มที่ 2 เข็มกระตุ้น” ได้ทางแอปพลิเคชั่น QueQ โดยวัคซีนจะฉีดไขว้ตามสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ส่วนการฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วยติดเตียงถึงบ้าน สถิติ 18 สิงหาคม 2564-16 มกราคม 2565 มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 10,471 ราย เข้าเกณฑ์ฉีด 5,916 ราย 56.50% ฉีดวัคซีนแล้ว 5,256 ราย สัดส่วน 88.84%

กทม.