กรมวิทย์ฯ จับตาสายพันธุ์ BA.2 คาดมาแทนโอมิครอน

กรมวิทย์

ข้อมูลการระบาดในต่างประเทศ เช่น อินเดีย สวีเดน เดนมาร์ก สะท้อนว่า สายพันธุ์ BA.2 ระบาดได้เร็วกว่าโอมิครอนและจะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก แต่ยังไม่มีข้อสรุปด้านความรุนแรง

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน กลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยแล้ว ด้วยสัดส่วนการพบในประเทศ 96.2% และมีการพบในทุกจังหวัด ส่วนอัตราการพบในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอยู่ที่ 99.4%

ดังนั้นหลังจากนี้จึงจะมุ่งเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจากโอมิครอนอีกทอดหนึ่ง อย่าง BA.2 ซึ่งพบในไทยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 ทั้งด้านความเร็วของการแพร่ระบาด ความรุนแรงของอาการ และผลของวัคซีน

เนื่องจากแนวโน้มการระบาดในหลายประเทศที่พบสายพันธุ์นี้ก่อน อาทิ อินเดีย สวีเดน เดนมาร์ก สะท้อนว่าสายพันธุ์ BA.2 ระบาดได้เร็วกว่า และจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนโอมิครอน ส่วนในไทยจากการสุ่มตรวจโดยการตรวจเบื้องตน (SNP) พบในสัดส่วนประมาณ 18% และการตรวจแบบละเอียดด้วยวิธีถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งตัว (WGS) พบประมาณ 2%

โดยได้ประสานกับกรมการแพทย์เพื่อเก็บข้อมูลและติดตามอาการผู้ป่วย อย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมกันนี้ได้เริ่มทดลองผลของภูมิคุ้มกันจากผู้ที่ได้รับวัคซีนที่มีต่อเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2 แล้วเช่นกัน

พร้อมย้ำว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 รวมถึงลดโอกาสป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ โดยเห็นได้จากรายงานการวิจัยหลายฉบับที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้