สหพัฒน์รุกธุรกิจโลกใหม่ ตุนทองคำหนุนหลัง “ดิจิทัลโกลด์มันนี่”

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา

เครือสหพัฒน์ต่อยอดธุรกิจ 3 แสนล้าน ตั้งบริษัท DGM-Digital Gold Money สู่โลกใหม่ใช้ทองคำหนุนหลัง สร้างอาณาจักร KingBridge Tower ริมเจ้าพระยาพระราม 3 รองรับกลุ่มโฮลดิ้ง เปิดปี’67 ร่วมทุน “บี.กริม.-ราชกรุ๊ป” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต ชี้โควิดคือสงคราม อุตสาหกรรมถึงจุดเปลี่ยน ขีดเส้นอายุขัยเหลืออีก 40 เดือน เดินหน้า 200 บริษัทฝ่าวิกฤตบริหารต้นทุน

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนยุทธศาสตร์ของเครือสหพัฒน์นับจากนี้ จะเน้นการลงทุนด้วยการร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตไปกับโลกอนาคต เพราะโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการ disruption เกือบทุกอุตสาหกรรมในโลกใบนี้ ที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย

จับมือบิ๊กธุรกิจ

ล่าสุด เครือสหพัฒน์วางอนาคตด้วยการเซ็น MOU สร้างความร่วมมือทางธุรกิจร่วมกันในหลาย ๆ ด้าน กับกลุ่มบีกริมของคุณฮาราลด์ ลิงค์ บริษัทที่มีอายุ 100 ปี ส่วนด้านธุรกิจพลังงานได้ใช้ บมจ.สหโคเจน ร่วมมือกับบริษัทราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

“เจ้าของ บี.กริม ถือว่าเป็นนายห้างแท้ แต่ของเราเป็นนายห้างเทียม (โชควัฒนา)” นายบุณยสิทธิ์กล่าวเปรียบเทียบติดตลก

ขณะที่กลุ่มบีทีเอส ก่อนหน้านี้นายกวิน กาญจนพาสน์ ผู้บริหารคนรุ่นใหม่ เคยมาหารือแลกเปลี่ยนมุมมอง สำหรับการทำธุรกิจบนสถานีรถไฟฟ้า

สร้างอาณาจักรใหม่

นายบุณยสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า บริษัท สหกรุ๊ป ดิจิทัล โกลด์ มันนี่ หรือ DGM-Digital Gold Money โดยมีนายวิชัย กุลสมภพ เป็นผู้บริหาร ซึ่งเป็นการวางแผนสู่ธุรกิจโลกใหม่ ซึ่ง “สหกรุ๊ป ดิจิทัลฯ” จะมีสินทรัพย์เป็น “ทองคำ” หนุนหลัง เพื่อรองรับความเสี่ยง

“เพราะทุกสถานการณ์มั่นใจว่า ทองคำดีที่สุด มีมูลค่า ต่างจากค่าเงินที่ผันผวนเปลี่ยนแปลงตลอด ถ้าบริษัทมีกระแสเงินสดเหลือเยอะ ผมก็ไม่แฮปปี้นะ ส่วนทองคำถามว่ามีกี่บาทคงไม่ได้ ต้องถามว่า มีกี่กิโล(กรัม) ผมคิดไกลไปถึงในภูมิภาคนี้น่าจะสร้างเงินไทยเป็นเงินสกุลอาเซียน”

นอกจากนี้เครือสหพัฒน์ยังมีแผนใช้พื้นที่อาคารของโครงการใหม่เป็นที่รองรับกลุ่มบริษัทโฮลดิ้งและจอยต์เวนเจอร์ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานให้เช่า สัญลักษณ์แห่งใหม่ (iconic building) บนถนนพระราม 3 พัฒนาโดยบริษัท สห แคปปิตอล ทาวเวอร์ จำกัด (Saha Capital Tower Co., Ltd.)

ชื่อโครงการ KingBridge Tower รูปแบบ smart building สูงที่สุดในประเทศไทย บนถนนพระราม 3 ประกอบด้วย พื้นที่สำนักงาน, coworking space, ห้องประชุม, healthy canteen, สวนแนวตั้ง, ลู่วิ่ง และ rooftop restaurant ออกแบบโดยบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) ก่อสร้างโดยบริษัท นันทวัน จำกัด (Thai Obayashi) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะแล้วเสร็จในปี 2567 รูปแบบอาคารเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย กลมกลืนไปกับพื้นที่สีเขียวภายใต้แนวคิด The Spirit of Synergy

“สห แคปปิตอล ทาวเวอร์” คือบริษัทหนึ่งในเครือสหพัฒน์ ที่เน้นรับผิดชอบต่อสังคม คน และสิ่งแวดล้อม ให้ทุกองค์กรและทุกคนเติบโตไปด้วยกัน งานออกแบบใช้กระจกและอะลูมิเนียมอาคาร (facade) เป็นเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ผสานกับการออกแบบให้ความสวยงาม โดยเลือก Mott Macdonald บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาระดับโลก ที่มีผลงานการออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างสะพานภูมิพล, ท่าอากาศยานลอนดอนฮีโทรว์, Silicon Valley BART Extension มาร่วมดีไซน์โครงสร้างอาคาร เพื่อให้โครงการนี้โดดเด่น สง่างาม เห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา

พร้อมสร้างภายใต้มาตรฐานสากลคือ LEED Gold และ Fitwel ระดับสูงสุด 3 ดาว เน้นความเป็นมิตรต่อคุณภาพชีวิตผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) มีระบบตรวจจับใบหน้าด้วยเทคโนโลยี AI และสถานีชาร์จ EV

ที่สำคัญภายในอาคารจะมี rooftop restaurant ปรับพื้นที่ให้เป็น event space รวมพื้นที่อาคารกว่า 85,000 ตารางเมตร บนเนื้อที่กว่า 6 ไร่ โดยมีพันธมิตรมืออาชีพร่วมในโครงการคือ A49, Thai Obayashi, Stonehenge Inter, SCG และ JLL

โควิดคือสงคราม

นายบุณยสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบันเครือสหพัฒน์มี 200 บริษัท พนักงาน 1 แสนคน ก่อตั้งมา 80 ปี ช่วงเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯตอนนั้นยังไม่มีบริษัทของคนไทยเข้าตลาดหุ้นมากเหมือนทุกวันนี้ เราทำธุรกิจหลากหลายทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค มีมูลค่าตลาดประมาณ 3 แสนล้านบาท

“การปรับโครงสร้างเราทำมาตลอด แต่ก็ต้องเร็วกว่านี้ ต้องรีบปรับตัว ช่วยกันขับเคลื่อน เหมือนประเทศไทยต้องไปเร็วกว่านี้ ผู้นำต้องเก่งและเร็ว คนเก่งในไทยมีอยู่ แต่ไม่มีอำนาจ”

“จีดีพีประเทศไม่กล้าหวังเยอะได้ 1-2% ก็พอแล้ว ไม่ถอยหลังก็ดีแล้ว เมืองไทยมีพื้นฐานที่ดี ขยัน ถ้ารัฐวางนโยบายและบริหารดี ๆ ไทยเราแซงหน้าสิงคโปร์ไปได้นานแล้ว แต่ตอนนี้เวียดนามก็ไปเร็วกว่าเรา

“จริง ๆ โควิดเป็นยุคที่ต้องเปลี่ยนพอดี ถ้ามองเป็นวิกฤตก็วิกฤต มองเป็นโอกาสก็เป็นโอกาส เราเจอวิกฤตมาแล้วหลายครั้ง ทั้งต้มยำกุ้งปี 2541 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของงานแฟร์ที่เราเอาสินค้าทั้งหมดมาขายลดราคา จนเป็นงานใหญ่ประจำปี”

“โควิดคือสงคราม ที่ทำให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนวิธีการขาย channel ก็ต้องเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวมองว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนคงไม่ใหญ่มาก มีผลกระทบบ้าง แต่ไม่รุนแรงเท่าโควิด ไม่มีใครกล้าทำให้ใหญ่”

ธุรกิจเหนื่อยต้นทุนสูง

นายบุณยสิทธิ์มองอนาคตว่า จากวิกฤตโควิด-19 มีผลทำให้หลายอย่างไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะธุรกิจรีเทลจะไม่รุ่งเหมือนก่อน เพราะโลกออนไลน์มาแทนที่ บิ๊กดาต้าจะมีผลต่อการแมตชิ่งธุรกิจ โลจิสติกส์จะเป็นธุรกิจข้อต่อที่สำคัญในการขนส่งสินค้า

“ที่น่าห่วงคือต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจะเหนื่อยขึ้น สมัยก่อนไฟฟ้าไม่ได้คิดในราคาสินค้า แต่เดี๋ยวนี้พลังงานเป็นวัตถุดิบอันหนึ่ง ค่าน้ำมัน ไฟฟ้าเป็นตัวแปร”

สินค้าสุขภาพในเครือโดยกลุ่มไลอ้อนทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว ส่วนผลิตภัณฑ์กัญชาก็สนใจศึกษาอยู่

ชีวิตที่เหลืออยู่

นายบุณยสิทธิ์กล่าวถึงชีวิตตัวเองว่า ปัจจุบันตัวเองอายุ 85 ปีแล้ว วางอายุขัยไว้ 100 เดือนสมัยอายุ 80 ปี ถึงวันนี้ก็ยังอยากทำอะไรอีกเยอะ แต่อายุขัยเหลืออีกแค่ 40 เดือนเท่านั้น ได้แต่วางแนวคิดให้คนรุ่นหลัง

“ปู่เสียอายุ 62 พ่อ (นายเทียม โชควัฒนา) เสียอายุ 76 เราก็คิดว่า ถ้าได้เท่านี้ เราพอไหม คนอายุเยอะ เกิดอะไรแป๊บเดียวก็ไป เราก็วางว่า เราพออายุเท่านี้ ช่วงนี้เราดูแล รักษาตัวเองให้ดี ตื่นตีสี่ นอน 2 ทุ่มครึ่ง กินมื้อเดียว ส่วนใหญ่กินข้าวต้ม แล้วบำรุง กินถั่งเช่า”

ทุกวันนี้ลูกหลานพร้อมหน้าได้ดั่งใจ ลูก 4 คน เขยสอง สะใภ้สอง หลานโหลนหลักคิดเน้นซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบคนอื่น ค้าขายสุจริต ธุรกิจฆ่าสัตว์ไม่เอา เหล้าก็ไม่เอา ธุรกิจต้องศีลห้า ตั้งแต่ปู่สั่งไว้ มาถึงรุ่นพ่อรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่บ้านเป็นจีนแต้จิ๋ว “แซ่ลี้”

“ฉันทำธุรกิจมา 60 กว่าปี เห็นตั้งแต่ยุคคุณปู่ทำค้าขาย เดี๋ยวนี้หาคนอย่างฉันไม่ใช่ง่าย ๆ สมัยก่อนบริหารแบบครอบครัว การเติบโตไม่ใหญ่ เป็นเอสเอ็มอีอยู่เรื่อย ๆ แต่ถ้าเราเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีออร์แกไนซ์จะดีอีกแบบ ทันกับเหตุการณ์ ไม่ถูกดิสรัปต์”

ความสุขความตื่นเต้นคือสมัยได้ขับเครื่องบิน (มีลำเดียว) สมัยนั้นยังไม่มีโดรน นักธุรกิจที่ขับเครื่องบินดูงาน เดินทางภายในประเทศก็มีคุณอนันต์ (อัศวโภคิน เจ้าของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์) นี่ก็ไม่ได้เจอมาร่วม 10 ปีแล้ว ต่างประเทศก็ไม่ได้ไปเพราะวิกฤตโควิด

“ตอนนี้ฉันนั่งเป็นประธานเครือสหพัฒน์ กฎหมายรองรับก็ไม่มี ทำงานอยู่ข้างหลัง ดูแลไม่ให้ผิดทิศผิดทาง ผู้บริหารลูกน้องหายไปเยอะ ใจอยากให้เศรษฐกิจดีกว่านี้ อาจช้าที่การเมืองด้วย”