กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 29-30

กว่าจะเป็นเจ้าสัว

 

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net

 

ตอนที่ 29 : อนาคตของเครือสหพัฒน์

ปรารถนาความมั่นคงมากกว่าความยิ่งใหญ่

การบริหารด้วย “ความซื่อสัตย์” สืบทอดต่อรุ่นถัดไป

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งความวุ่นวายทางการเมือง อุทกภัย รัฐประหาร การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เป็นที่รักยิ่งของประชาชน รวมถึงวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน นั่นคือ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

ธุรกิจของเครือสหพัฒน์ซึ่งเกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวมก็ได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ เช่นกัน ยอดขายของใช้ในชีวิตประจำวันและอาหารเพิ่มขึ้นจากการกักตัว ในทางกลับกัน เครื่องสำอางและเสื้อผ้านั้นขายน้อยลงมาก แต่ถ้ามองลึกลงไป แม้เสื้อเชิ้ตจะขายไม่ได้ แต่กางเกงก็ไม่แย่นัก เป็นเพราะเวลาทำงานจากที่บ้านก็ยังต้องใช้กางเกง

ธุรกิจที่เติบโตมากคือ ธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับทรานส์คอสมอส เราได้รับงานบริการสนับสนุนการขายจากลูกค้า ในช่องทางการซื้อสินค้าออนไลน์และการจัดส่งอาหารถึงบ้าน ในอนาคตจะเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นเพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ฉันจึงคิดว่านี่เป็นช่วงจังหวะที่ดีในการเตรียมพร้อมไว้ก่อนเพื่อไม่ให้สายเกินไป

เมื่อสี่ปีที่แล้ว ฉันอายุ 80 ปี ฉันได้ถอนตัวออกจากตำแหน่งในทุกบริษัท ที่เหลืออยู่มีเพียงตำแหน่งประธานของเครือสหพัฒน์ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมาย

ถ้าพ่อของฉันเป็นรุ่นที่ 1 ฉันและพี่น้องของฉันเป็นรุ่นที่ 2 ลูกและหลานของฉันก็จะเป็นรุ่นที่ 3 ของเครือสหพัฒน์ น่าเสียดายที่น้องชายที่ถัดจากฉัน คือ ณรงค์ได้เสียชีวิตในวัย 78 ปี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้ฉันคิดว่าฉันคงต้องรีบส่งต่อธุรกิจให้คนรุ่นต่อไปอย่างรวดเร็ว

บางคนของรุ่นต่อไป เป็นหัวเรือใหญ่ของการบริหารจัดการแล้ว ธรรมรัตน์ ลูกชายคนโตของฉัน เติบโตมากับธุรกิจสิ่งทอ และเป็นกรรมการผู้อำนวยการของบริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นคนพูดน้อย ถนัดด้านการตั้งรับ

ส่วน ธีรดา ลูกสาวคนโต เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเครื่องสำอาง คือบริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) มีวิธีการบริหารที่รัดกุม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI คือ วิชัย สามีของลูกสาวคนรอง เขามีบุคลิกที่สดใสและประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทญี่ปุ่น

เวทิต ลูกชายคนที่สองของ บุณย์เอก พี่ชายคนโตของฉัน เรียนจบจากอเมริกาและสร้างผลงานในฐานะกรรมการผู้อำนวยการของบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ที่เป็นรากเหง้าของเรา พิภพ ลูกชายคนที่สองของพี่ชายคนที่สอง บุญปกรณ์ เป็นคนกว้างขวางกับหน่วยงานราชการ และเป็นกรรมการบริษัท SPI คอยช่วยเหลือวิชัย

ในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งประธานเครือก็เป็นได้ ฉันไม่จำเป็นต้องเสนอชื่อใคร ค่อย ๆ ฟังเสียงของพนักงานว่ารุ่นที่ 3 ใครทำได้ดีที่สุด แล้วหลังจากที่ฉันจากไปค่อยให้ทุกคนตัดสินใจก็ได้

ถ้าถามว่าคุณสมบัติที่จำเป็นในการเป็นผู้นำของเครือสหพัฒน์คืออะไร คำตอบของฉัน คือ “ความซื่อสัตย์” และที่คุณพ่อสั่งสอนเสมอว่า “ความจริงใจ” และ “ความเชื่อใจต้องมาก่อน” ฉันเองก็พยายามทำเช่นเดียวกัน แม้การทำกำไรจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็มีกำไรที่ดีและกำไรที่ไม่ดี เวลาที่ฉันนึกภาพเครือสหพัฒน์ในอีก 50 ปี หรือ 100 ปีข้างหน้า ฉันอยากให้เป็นบริษัทที่มั่นคงมากกว่าเป็นบริษัทใหญ่

เพื่อจุดประสงค์นั้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแนวทางการทำงาน ในการขยายธุรกิจที่ผ่านมาเราได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาทีละแห่ง เพื่อรองรับบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการมาลงทุน การแยกบริษัทออกไปทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ต่อจากนี้ไปการรวมเข้าด้วยกันจะดีกว่า พูดให้เห็นภาพคือ จากปัจจุบัน 300 บริษัท จะไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 500 หรือ 1,000 บริษัท แต่จะถูกรวมเข้าด้วยกันเหลือ 200 หรือ 100 บริษัท

จนถึงปัจจุบัน ลักษณะธุรกิจหลักของเครือสหพัฒน์คือ การนำร่องบริษัทญี่ปุ่นที่ขยายตัวสู่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ตลาดในเมืองไทยกำลังค่อย ๆ อิ่มตัว จึงถึงเวลาที่ต้องออกไปสู่ตลาดอื่น ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าเราต้องไปคนเดียว แต่เราจะทำงานร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นหรือบริษัทไทยอื่น ๆ เพื่อเข้าสู่ตลาดเอเชียและตะวันตก

เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ยุติลง จะต้องมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ฉันเชื่อแบบนั้นและกำลังคิดถึงโมเดลสำหรับการเติบโตในรุ่นต่อไป

บทที่ 30 : 8888

ขีดเส้นอายุ 88 ปี วันที่ 8 เดือน 8

ก้าวสู่การเกษียณด้วยความภาคภูมิ

เดือนที่แล้ว ฉันอายุครบ 84 ปี ฉันพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร หรือการแต่งตัว รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันไม่เปลี่ยนมานานหลายสิบปี

ตื่นตอนตี 4 ดูข่าวจากทีวี ระยะหลังนี้ดูผ่าน LINE บนโทรศัพท์มือถือ เพื่อติดตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จากนั้นจะเดินเล่นรอบบ้านให้ได้ประมาณ 5,000 ก้าวต่อวัน

อาหารจะกินเพียงมื้อเช้าเท่านั้น ไม่ใช่เพราะหมอสั่ง แต่ฉันเริ่มทำเองเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เพราะความดันเลือดสูงและมีอาการเบาหวาน ถ้าฉันกินอาหารสามมื้อต่อวันตัวเลขความดันและน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นมาก เมื่อลดมื้ออาหาร ปริมาณการใช้ยาก็ลดลง ในช่วงแรกรู้สึกหิวจนทนไม่ได้แต่ไม่นานก็ชินไปเอง ตอนนี้ฉันกินเพื่อควบคุมน้ำหนัก

เมื่อมีประชุมหรือแขกมาเยี่ยม ฉันจะเดินข้ามไปที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ใกล้บ้านมาก ๆ พนักงานคนอื่นจะใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงในการเดินทางมาบริษัท ส่วนฉันสามารถเดินไปทำงานได้ จึงมักบอกตัวเองว่าต้องทำงานให้มากกว่าคนอื่น ฉันจะโผล่หน้าไปสำนักงานใหญ่ของสหพัฒนพิบูลสัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางโดยรถประมาณ 30 นาที สวนอุตสาหกรรมที่ศรีราชาก็เช่นเดียวกัน

ในวันหยุด ฉันจะเล่นกอล์ฟกับเพื่อน ๆ ที่สนิท เดินไปรอบ ๆ สนาม 9 หลุม ช่วงบ่ายทานอาหารกับครอบครัว ฉันแต่งงานกับภรรยา พัชรินทร์ ในวันที่ 11 เดือน 11 พ.ศ. 2511 มีลูกชายสองคน ลูกสาวสองคน การได้เห็นการเติบโตของหลาน ๆ จำนวน 1 โหล (12 คน) นั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ฉันมีความสุขมากกว่าสิ่งอื่น

ฉันไม่เคยสั่งให้ลูกทำอย่างนี้อย่างนั้น เรื่องการเรียนต่อหรือจะไปต่างประเทศล้วนให้เจ้าตัวตัดสินใจเอง แต่สิ่งเดียวที่ฉันระวังคือ การให้ใช้ชีวิตอย่างธรรมดาให้มากที่สุด ฉันใช้ฟอร์แมตที่ฉันสร้างขึ้นบนคอมพิวเตอร์ และให้พวกเขาบันทึกค่าใช้จ่ายรายเดือนจนกระทั่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย แม้ฉันจะมีเงินทองแต่ฉันไม่ปล่อยให้ลูกของฉันฟุ่มเฟือย ฉันคิดว่าควรทำให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงินไว้ก่อน

เลข 4 หลักสุดท้ายของเบอร์โทรศัพท์มือถือของฉันคือ “8888” ตอนแรกฉันเลือกเลขนี้มาใช้เพราะคิดว่ามันจำง่าย ฉันได้เขียนในฉบับที่แล้วว่าฉันเริ่มเตรียมตัวเกษียณเมื่ออายุ 80 ปี ในตอนนั้นฉันเห็นเบอร์โทรศัพท์มือถือของฉันแล้วตัดสินใจได้อีกเรื่องคือ ในปีที่ฉันอายุครบ 88 ปี วันที่ 8 เดือน 8 จะเป็นกรอบเวลาของช่วงชีวิตฉัน

ในปฏิทินที่บริษัทและที่บ้าน ฉันเขียนตัวเลขไว้ข้าง ๆ ตัวหนังสือที่ระบุเดือน ตัวเลขจะลดลงทุกเดือน เดือนที่แล้วคือ “50” และเดือนนี้คือ “49” การนับถอยหลังเริ่มต้นขึ้นด้วยเวลาที่เหลืออีก 100 เดือน ตอนนี้ผ่านไปครึ่งหนึ่งแล้ว ในอีก 49 เดือนข้างหน้าฉันจะส่งมอบให้แก่คนรุ่นต่อไปอย่างสมบูรณ์ และต้อนรับวันนั้นด้วยความสบายใจ ส่วนช่วงชีวิตหลังจากนั้นคือของแถม

ปู่ของฉันที่อพยพจากประเทศจีนมาเมืองไทยเสียชีวิตเมื่ออายุ 62 ปี และพ่อของฉันผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์เสียชีวิตเมื่ออายุ 75 ปี ตัวฉันผ่านช่วงวัยเหล่านั้นไปแล้ว เมื่อฉันยังเด็กฉันไม่ได้สนใจว่าจะทำงานอะไร ฉันหวังเพียงเป็นที่หนึ่งเท่านั้น ฉันเข้าสู่ธุรกิจครอบครัวและทำงานอย่างหนักมาเกือบ 70 ปีแล้ว ความพอใจของฉันด้านการทำงานและการใช้ชีวิต ทำให้คิดว่า ฉันเป็นที่หนึ่งแล้วกระมัง

เหนือสิ่งอื่นใด ฉันมีความรู้สึกพิเศษต่อประเทศญี่ปุ่น ในการเขียนบทความชุดนี้ ฉันได้ติดต่อกับเพื่อนเก่าเพื่อยืนยันความทรงจำในสมัยก่อนของฉัน ฉันประทับใจมากที่ทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอที่จะอ่านประวัติร่วมครึ่งชีวิตของฉันอย่างจริงจัง

เรื่องเล่าของฉันและเครือสหพัฒน์ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพวกเขาและเธอ เมื่อใดที่วิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนา (COVID-19) จบลง ฉันตั้งใจจะไปเยี่ยมญี่ปุ่นที่ฉันรักอีกครั้ง และจะใช้เรื่องเล่าเหล่านี้รื้อฟื้นมิตรภาพเก่า ๆ ที่มีร่วมกัน