กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 28

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
กว่าจะเป็นเจ้าสัว

 

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net

 

ตอนที่ 28 ความร่วมมือกับเกาหลีและจีน

วิถีธุรกิจที่ชวนตกใจ

เสน่ห์ของการตัดสินใจอันรวดเร็ว

ฉันได้เล่าถึงเครือสหพัฒน์ที่เน้นการร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว แม้เราจะมีการร่วมทุนกับประเทศอื่นไม่มาก แต่ฉันอยากจะเล่าถึงเกาหลีใต้และจีนสักหน่อย

จุดเริ่มต้นกับ Samsung Electronics ในเกาหลีใต้ เกิดจากงานอดิเรกการขับเครื่องบินขนาดเล็ก ฉันได้เล่าไว้ก่อนหน้านี้ว่าฉันอยู่ในชมรมคนรักเครื่องบินขนาดเล็กในศรีราชา ลูกชายของผู้รับผิดชอบที่นั่นทำงานอยู่ที่บริษัทเทรดดิ้งในเครือซัมซุงในประเทศไทย

ในช่วงปี พ.ศ. 2523 ฉันได้ยินมาว่าเขาต้องการผลิตจอแก้วทีวีขนาด 14 นิ้ว ซึ่งเป็นสินค้าขายดีในไทย แต่ประสบปัญหาเพราะไม่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ เนื่องจากมีโรงงานผลิตของญี่ปุ่นหลายแบรนด์แล้ว เช่น Toshiba และ SONY ดูเหมือนภาครัฐจะคิดว่าการลงทุนผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของต่างชาติมีเพียงพอแล้ว สหพัฒน์จึงเป็นผู้ขออนุมัติแทน และในปี พ.ศ. 2531 จึงได้จัดตั้งบริษัทที่สหพัฒน์และซัมซุงถือหุ้นกันคนละครึ่ง

อย่างไรก็ตาม ซัมซุงในขณะนั้นไม่เหมือน ซัมซุงในขณะนี้ ไม่ว่าจะทีวีหรือเครื่องซักผ้า ล้วนเป็นของราคาถูก คุณภาพยังไม่ดีนัก ด้วยสหพัฒน์เป็นผู้จัดจำหน่าย และช่วงหนึ่งอัตราการร้องเรียนของลูกค้ามีมากถึง 30% ฉันจึงต้องขอร้องให้ซัมซุงปรับปรุงสินค้าหลายครั้ง เพราะมีผลกับความน่าเชื่อถือของเรา

ต่อมาในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 เราไม่สามารถตอบรับการเพิ่มทุนได้ สัดส่วนการลงทุนของเราจึงลดลงเหลือ 10% ซัมซุงก็เริ่มจัดจำหน่ายสินค้าเอง หลังจากนั้นซัมซุงก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันความนิยมของสินค้าซัมซุงในไทยแซงหน้าสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่นแล้ว และเงินปันผลที่เราได้รับนั้นสูงกว่าเมื่อตอนเราลงทุน 50% เสียอีก

สิ่งที่ทำให้ฉันประหลาดใจกับซัมซุงคือ ความแตกต่างในวัฒนธรรมการทำธุรกิจระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งเกาหลีไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความสนิทสนมส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ระยะยาว ทุกอย่างล้วนเป็นธุรกิจ

Lee Kun-hee ประธานบริษัทคนก่อนที่เสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว เป็นคนที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ซัมซุง ซึ่งฉันก็ได้พบกับเขาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น พูดตามตรงฉันรู้สึกไม่ค่อยประทับใจนัก

หลังจากการก่อตั้งบริษัทร่วมทุน เขามาที่ประเทศไทยเพื่อพบกับคุณพ่อเทียม ในระหว่างรับประทานอาหารค่ำ มีเพียงลูกน้องของเขาเท่านั้นที่ร่วมสนทนา ส่วนตัวเขานิ่งเงียบ ต่อมาเมื่อฉันไปเยี่ยมบริษัทแม่ที่โซล เขาก็ไม่ออกมาพบเป็นส่วนตัว ดังนั้น เวลาผู้บริหารชาวเกาหลีจากซัมซุงประเทศไทยจะมาพบฉัน ฉันก็ปฏิบัติแบบเดียวกัน

ในส่วนของจีน ปี พ.ศ. 2547 เราได้ร่วมมือกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ Anbao Group เมื่อตอนที่ฉันได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานกับคุณพิพัฒ รองประธานบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) (TF) ฉันได้ตอบรับความต้องการของเขาที่จะขยายตลาดสู่ประเทศไทย และได้ก่อตั้งโรงงานร่วมทุนด้วยกัน

สมัยก่อน ถ้วยโฟมเป็นที่นิยมใช้เป็นบรรจุภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในญี่ปุ่น แต่เนื่องจากต้นทุนสูง ในประเทศไทยจึงใช้ถ้วยทำจากพลาสติกมาโดยตลอด ซึ่ง Anbao มีเทคโนโลยีที่ทำภาชนะกระดาษ 2 ชั้นให้มีคุณสมบัติกันความร้อนที่ดีเยี่ยม ผลิตได้จำนวนมากและราคาถูกกว่าพลาสติก TF จึงเป็นรายแรกที่นำภาชนะกระดาษมาใช้ใส่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย

ในปัจจุบัน บริษัทที่เราร่วมธุรกิจกับจีนก็มีแค่ Anbao เท่านั้น อาจจะแปลกใจว่าทั้งที่ฉันมีเชื้อสายจีน ธุรกิจจีนเริ่มขยายเข้ามาในประเทศไทย เจริญโภคภัณฑ์ (CP) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเชื้อสายจีนเช่นกันนั้น ก็ได้ขยายธุรกิจเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ระยะแรก ส่วนเครือสหพัฒน์นั้นยังขาดบุคลากรที่คล่องแคล่วในการใช้ภาษาจีน

อย่างไรก็ตาม จีนเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างแน่นอน หากได้พบพันธมิตรที่ดี ฉันก็คิดว่าจะร่วมพัฒนาธุรกิจในประเทศจีนอย่างแน่นอน

ถ้าพิจารณาในมุมของการเคารพและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ฉันรู้สึกว่าญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าเกาหลีใต้และจีน อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการตัดสินใจของจีนและเกาหลีนั้นถือว่าเป็นเสน่ห์ของการทำธุรกิจ ตอนนี้ญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ของ “การคงรักษาไว้” เป็นหลัก แต่จีนและเกาหลีใต้มีจุดยืนของ “การรุกก่อน” ที่ชัดเจน

แม้ว่าเราจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทญี่ปุ่นต่อไป แต่ในอนาคตอาจมีโอกาสมากขึ้นที่จะเลือกบริษัทจีนและเกาหลีเป็นหุ้นส่วนก็เป็นได้