กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 27

J Park
กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์

 

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net

 

ตอนที่ 27 หมู่บ้านคนญี่ปุ่น

สถานที่ที่สัมผัสได้ถึงฤดูกาลทั้งสี่และวัฒนธรรมญี่ปุ่น

พัฒนาที่พักอาศัยสำหรับครอบครัวคนญี่ปุ่นที่มาทำงานในไทย

แผนการที่จะสร้างโรงเรียนนานาชาติที่ศรีราชาถูกระงับไป และพื้นที่ที่เตรียมไว้ได้พัฒนาเป็นสนามกอล์ฟ แต่เครือสหพัฒน์ยังคงถือครองที่ดินเปล่าบริเวณโดยรอบจำนวนมาก ไหน ๆ คิดจะทำอะไรสักอย่างแล้ว น่าที่จะทำเกี่ยวกับ “ญี่ปุ่น” ที่ฉันมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น จึงนำไปสู่แนวคิดของโครงการ “J Park”

สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของไอเดียนี้คือ “เมืองอิตาลี” สถานที่ท่องเที่ยวในเขาใหญ่ ทุกสิ่งตั้งแต่อาคารไปจนถึงร้านอาหาร ร้านค้าทั่วไป และการปลูกต้นไม้ล้วนเป็นสไตล์ยุโรป ว่ากันว่าจุดขายคือ ประสบการณ์ที่เหมือนได้ไปเที่ยวอิตาลีทั้ง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทย

สมาร์ทโฟนเริ่มแพร่หลายในประเทศไทย และการสร้างจุดถ่ายรูปเพื่อลงรูปภาพบนโซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังเป็นที่นิยม ทำไมเราไม่ลองสร้างสถานที่ที่คนสามารถเพลิดเพลินราวกับได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นดูบ้างล่ะ

ด้วยความร่วมมือจาก Wacoal เราจึงส่งทีมสังเกตการณ์ไปที่ “Toei Kyoto Studio Park” ในจังหวัดเกียวโต ที่นั่นเป็นหมู่บ้านถ่ายภาพยนตร์ซึ่งมีฉากจำลองถนนในสมัยเอโดะที่ถูกสร้างเหมือนจริงทุกกระเบียดนิ้ว นอกจากนี้ยังใช้ถ่ายทำละครประวัติศาสตร์จริง ๆ ด้วย เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกธีมปาร์กแนวญี่ปุ่นก็ว่าได้

J-Park เปิดในปี พ.ศ. 2556 การออกแบบมีภาพลักษณ์เมืองเกียวโตในสมัยเอโดะ มีสะพานไม้สีแดงแขวนอยู่เหนือสระน้ำที่มีปลาคาร์ปแหวกว่าย ทางเดินประดับด้วยตุ๊กตาดารุมะและโคมกระดาษสีแดงที่สื่อถึงความเป็นญี่ปุ่น

อาคารหลังคาสูงที่ออกแบบโดยอิงจากวัดคินคะคุจิเป็นหนึ่งในไฮไลต์ ของจริงมีนกฟีนิกซ์อยู่ด้านบนสุดของหลังคา แต่ของเราเป็นวัวสีทองซึ่งตรงตามปีเกิดของฉัน ดูเหมือนว่าผู้รับผิดชอบโครงการนี้จะเป็นคนขี้เล่นน่าดู

ช่วงเข้าฤดูร้อนเราจะประดับธงปลาคาร์ปและดอกไฮเดรนเยีย ในฤดูใบไม้ร่วงจะเป็นใบไม้เปลี่ยนสี และประดับไฟอิลลูมิเนชั่นในฤดูหนาว ฉันอยากทำให้เป็นสถานที่ที่สามารถเพลิดเพลินกับการรับประทานอาหารและช็อปปิ้ง ในขณะที่สัมผัสถึงฤดูกาลทั้งสี่และวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา

ในช่วงเวลาที่เราเริ่มพิจารณาโครงการ J-Park ได้มีการพูดคุยถึงการเปิดโรงเรียนสำหรับคนญี่ปุ่น เป็นโรงเรียนสาขาของ “Thai-Japanese Association School” ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าแก่และใหญ่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 ก่อนสงคราม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนในประเทศไทยของบริษัทญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนนักเรียนมีเพิ่มขึ้นจนกระทั่งมากกว่า 3,000 คน ทำให้ยากต่อการรับนักเรียนใหม่

ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่มีครอบครัว และทำงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมชายทะเลภาคตะวันออกต้องอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสำหรับเด็กญี่ปุ่น และต้องใช้เวลาขับรถ 1-2 ชั่วโมง เพื่อมาทำงาน ดังนั้น การจะสร้างโรงเรียนสาขาที่ใกล้สถานที่ทำงานและที่พักในเขตภาคตะวันออกนั้นจึงมีความเป็นไปได้ แต่การหาที่ดินก็ยากพอสมควร

หลังจากได้ฟังเรื่องนี้ เราตัดสินใจจัดหาที่ดินเปล่า 32,000 ตร.ม. ใกล้กับ J-Park ให้โดยแทบไม่เสียค่าใช้จ่าย คำว่าแทบไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้นหมายถึง คิดค่าใช้จ่ายพื้นที่เพียง 8,000 ตร.ม. ในราคาประมาณหนึ่งในสามของราคาปกติ เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตการให้ที่ดินโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และในปี พ.ศ. 2552 โรงเรียนญี่ปุ่นสาขาศรีราชาได้เริ่มเปิดสอนมีนักเรียนจำนวน 91 คน และในปัจจุบันมีนักเรียนกำลังศึกษาอยู่ประมาณ 500 คน

ที่ศรีราชามีความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ด้วยความร่วมมือกับกลุ่มโตคิว เราจึงพัฒนาบ้านทาวน์เฮาส์สำหรับครอบครัวขึ้นตรงข้ามโรงเรียนญี่ปุ่น ภายในโครงการมีระบบรักษาความปลอดภัยเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีสวนสาธารณะ สระว่ายน้ำและห้องออกกำลังกาย ชาวญี่ปุ่นประมาณ 180 ครัวเรือน สามารถใช้ชีวิตเทียบเท่า หรือดีกว่าอยู่ที่ญี่ปุ่นได้

ศรีราชามีศูนย์การค้า โรงเรียน และบ้านเรือนรวมตัวกันอยู่ในบริเวณรอบ ๆ สวนอุตสาหกรรมซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นอยู่จำนวนมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านคนญี่ปุ่นในเวอร์ชั่นสมัยใหม่ของหมู่บ้านคนญี่ปุ่นยุคเอโดะ ที่นางามาสะ ยามาดะ เคยสร้างไว้ในเมืองไทยยุคกรุงศรีอยุธยาก็ว่าได้

นอกจากนี้ต่อไปศรีราชาจะมีสถานีรถไฟความเร็วสูง ที่กำลังก่อสร้างเพื่อลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างเมืองหลวงกับภาคตะวันออก แม้บรรยากาศจะต่างจากกรุงเทพฯไปบ้าง แต่ฉันหวังว่าจะได้พัฒนาชุมชนคนญี่ปุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต