รัสเซียถูกตัดขาด “การเงินโลก” สะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลกมากกว่าที่คิด

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิช

การส่งกองทัพรุกรานยูเครนของรัสเซียไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ทำให้ระเบียบความมั่นคงทั่วยุโรปพังทลายลงในชั่วข้ามคืนเท่านั้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลกที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ชนิดหนักหนาสาหัสอีกด้วย

การแซงก์ชั่นรัสเซียที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งรวมถึงการห้ามทำธุรกรรมกับธนาคารกลาง, การขึ้นบัญชีดำธนาคารใหญ่ที่สุดของรัสเซียอย่าง Sberbank กับ VTB และการตัดรัสเซียออกจากระบบสื่อสารระหว่างธนาคารอย่าง SWIFT ส่งผลให้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลกประเทศนี้ถูกปิดกั้นทั้งจากระบบการค้าและการเงินของโลกในทันที

ระบบ SWIFT ที่เชื่อมโยงธนาคารมากกว่า 11,000 แห่งทั่วโลกเข้าด้วยกันในการทำธุรกรรมนับล้านล้านดอลลาร์ระหว่างธนาคาร มีความสำคัญกับรัสเซียอย่างยิ่ง เพราะเป็นกลไกสำคัญในการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนักในทันที เพราะขาดเม็ดเงินสนับสนุน เงินที่เคยไหลเข้าออกประเทศได้ง่าย ๆ ก็ถูกปิดถูกชะลอ

ที่ผ่านมามีเพียง “อิหร่าน” ประเทศเดียวที่เคยเผชิญกับการแซงก์ชั่นรุนแรงเช่นนี้ ซึ่งส่งผลให้อิหร่านสูญเสียการค้าระหว่างประเทศไปมากถึง 30%

แต่ในเวลาเดียวกันการแซงก์ชั่นรัสเซีย ก็สามารถส่งผลสะเทือนต่อชาติตะวันตกและเศรษฐกิจโดยรวมของโลกพร้อมกันไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้

“รัสเซีย” ไม่เพียงเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ยังเป็นผู้ผลิตโลหะอุตสาหกรรมสำคัญอย่างนิกเกิล, อะลูมิเนียม และแพลเลเดียม (ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์และอัญมณี) ทั้งยังเป็นผู้ผลิต “โพแทช” วัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ยรายสำคัญ นอกจากนั้น รัสเซียและยูเครน ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายสำคัญของโลกอีกด้วย

สินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ราคาพุ่งขึ้นมาตลอดในระยะหลัง และสงครามครั้งนี้จะยิ่งทำให้ราคาสูงยิ่งขึ้นไปอีก

รัสเซียอาจ “ตอบโต้” ด้วยการตัดการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับชาติตะวันตก ซึ่งถึงแม้จะทำร้ายเศรษฐกิจของตนเองมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่ก็จะส่งผลให้ราคาพลังงานโลกถีบตัวสูงขึ้น และก่อให้เกิดปัญหากับระบบเศรษฐกิจทั่วโลกตามมาในทันที

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินไว้ว่า หากเกิดกรณีเช่นนั้น ยุโรปซึ่งพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากถึง 40% ของที่ใช้ทั้งหมด จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จีดีพีของสหภาพยุโรปจะหดตัวลงมากถึง 3% เงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะงัก ภาวะขาดแคลนพลังงานเฉียบพลันอาจทำให้เศรษฐกิจอียูที่กำลังฟื้นตัวตกกลับสู่ภาวะถดถอยได้

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและพลังงานที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาซึ่งอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงอยู่แล้วและประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันซึ่งประสบปัญหาการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดเป็นไปอย่างเชื่องช้าอยู่แล้ว

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งองค์กรธุรกิจและครัวเรือน “นูรีล รูบินี” หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำแอตลาส แคปิตอล และซีอีโอของรูบินี แมโคร แอสโซซิเอตส์ ชี้ว่า“ในสภาวะช็อกทางราคาเช่นนี้ ธุรกิจจะไม่ลงทุน ครัวเรือนจะลดการจับจ่ายใช้สอยลง” ผลที่เกิดตามมาก็คือ เศรษฐกิจจะชะลอลงอย่างฮวบฮาบ

และจะกลายเป็นปัญหาในการกำหนดนโยบายสำหรับธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ รวมทั้ง “เฟด” ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ว่าจะทำอย่างไรกับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้

เพราะจะใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังอีก “กระสุน” ก็ยอบแยบเต็มที จากการใช้แก้วิกฤตโควิดที่ผ่านมา นอกจากนั้น รูบินีเชื่อว่า มาตรการด้านการคลังไม่สามารถใช้ได้ผลในกรณีนี้ ที่เป็น “ซัพพลายช็อก” ไม่ได้เกิดจาก “ดีมานด์ช็อก”จะผสมผสานมาตรการทางการคลังและการเงินมาใช้ร่วมด้วย ก็อาจลดผลกระทบลงได้ แต่จะส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นไปอีก

และที่สำคัญที่สุด ผลจากการตัดสินใจรุกรานยูเครนครั้งนี้ของรัสเซีย ทำให้เกิดการแตกขั้วขึ้นอีกครั้งในทางการเมืองโลก ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นสูงมากและยาวนาน

รูบินีเชื่อว่า “สงคราม” อาจเกิดขึ้นให้เห็นได้อีกครั้งในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ โดยที่ “ไต้หวัน” ล่อแหลมที่สุด

ดังนั้นการเปิดศึกกับยูเครนของรัสเซีย จึงเป็น “เหตุการณ์ประวัติศาสตร์”ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกต่อไปอีกนาน