สวิฟต์ (Swift) คืออะไร การตัดรัสเซียออกจากระบบนี้มีความหมายอย่างไร

สวิฟต์คืออะไร
REUTERS/Nacho Doce

รัสเซีย-ยูเครน: สวิฟต์คืออะไร และทำไมการตัดรัสเซียออกจากระบบนี้จึงมีความสำคัญ ?

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 บีบีซีรายงานว่า สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และพันธมิตร ตกลงกันว่าจะตัดธนาคารรัสเซียจำนวนหนึ่งออกจากระบบสวิฟต์ (Swift) ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ที่สถาบันการเงินหลายพันแห่งใช้งาน

ความเคลื่อนไหวนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกระทบต่อรัสเซียในแง่เครือข่ายการธนาคารและการเข้าถึงเงินทุนผ่านสวิฟต์ ซึ่งมีส่วนสำคัญสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างราบรื่นทั่วโลก

สวิฟต์ (Swift) คืออะไร ?

สวิฟต์เป็นเครือข่ายการเงินระดับโลกที่ช่วยให้การโอนเงินข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว โดยคำว่า สวิฟต์ (Swift) ย่อมาจากคำว่า Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication ซึ่งแปลว่า สมาคมโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก

สวิฟต์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 ตั้งอยู่ในเบลเยียม โดยเชื่อมโยงกับธนาคารและสถาบันกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศ

Advertisment

แต่สวิฟต์ยังไม่ใช่ธนาคารค้าปลีกรายใหญ่ที่มีสาขามากมาย อย่างที่พบตามประเทศต่าง ๆ ทว่าเป็นระบบส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีที่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบเมื่อมีการส่งและชำระเงิน

ระบบดังกล่าวจะส่งข้อความมากกว่า 40 ล้านข้อความต่อวัน ในระหว่างที่เงินหลายล้านล้านเหรียญมีการเปลี่ยนมือระหว่างบริษัทและรัฐบาลต่าง ๆ โดยมีมากกว่า 1% ของข้อความ ที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการชำระเงินของรัสเซีย

ใครเป็นเจ้าของและควบคุมสวิฟต์ ?

สวิฟต์ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารในอเมริกาและยุโรป ซึ่งไม่ต้องการให้มีสถาบันใดสถาบันหนึ่งพัฒนาระบบของตัวเองและเกิดการผูกขาด

ปัจจุบันเครือข่ายนี้มีธนาคารและสถาบันการเงินมากกว่า 2,000 แห่งเป็นเจ้าของร่วมกัน อยู่ภายใต้การดูแลโดยธนาคารแห่งชาติเบลเยียม ซึ่งร่วมมือกับธนาคารกลางรายใหญ่ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารแห่งอังกฤษ

Advertisment

สวิฟต์ช่วยให้การค้าระหว่างประเทศปลอดภัยสำหรับประเทศสมาชิก และไม่ควรเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหากเกิดกรณีพิพาท

อย่างไรก็ตาม อิหร่านเคยถูกตัดออกจากสวิฟต์เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำบาตรโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ครั้งนั้นอิหร่านสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันเกือบครึ่งหนึ่ง และสูญเสียรายได้ 30% จากการค้าระหว่างประเทศ

สวิฟต์กล่าวว่า ไม่มีอิทธิพลเหนือต่อการคว่ำบาตร และทุกการตัดสินใจเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลต่าง ๆ

การตัดรัสเซียออกจากสวิฟต์ส่งผลอย่างไร ?

ในขั้นตอนนี้ ยังไม่ทราบว่าธนาคารใดของรัสเซียที่จะถูกตัดออกจากสวิฟต์ แต่คาดว่าจะมีความชัดเจนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ถ้อยแถลงจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ อังกฤษ และประเทศอื่น ๆ ระบุว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้แน่ใจว่าธนาคารของรัสเซียจะถูกตัดขาดจากระบบการเงินระหว่างประเทศ และสร้างความเสียหายต่อความสามารถในการดำเนินงานทั่วโลก

เป้าหมายเพื่อให้บริษัทต่าง ๆ ของรัสเซีย ไม่สามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วของสวิฟต์ โดยการชำระเงินค่าพลังงานและสินค้าเกษตรต่าง ๆ จะถูกทำลายย่อยยับ

มีแนวโน้มว่าธนาคารต่าง ๆ จะต้องจัดการกันเองโดยตรง ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ท้ายที่สุดจะเป็นการตัดรายได้ของรัฐบาลรัสเซีย

รัสเซียเคยเกือบถูกตัดจากระบบสวิฟต์มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่รัสเซียผนวกแหลมไครเมีย ตอนนั้นรัสเซียระบุว่า การตัดรัสเซียออกจากสวิฟต์จะเท่ากับการประกาศสงคราม

พันธมิตรตะวันตกจึงไม่เดินหน้าต่อ แต่การขู่ครั้งนั้นทำให้รัสเซียต้องพัฒนาระบบการโอนเงินข้ามพรมแดนของตัวเอง ซึ่งยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการถูกคว่ำบาตรดังกล่าว รัฐบาลรัสเซียได้สร้างระบบบัตรชำระเงินแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เมียร์” (Mir) เพื่อดำเนินการชำระเงินผ่านบัตร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีต่างชาติเพียงไม่กี่ประเทศที่ใช้ระบบนี้

เหตุใดชาติตะวันตกจึงแตกแยกกันเรื่องสวิฟต์

บางประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ไม่เต็มใจที่จะใช้สวิฟต์คว่ำบาตรรัสเซีย

รัสเซียเป็นผู้ให้บริการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของสหภาพยุโรป และการหาผู้ให้บริการรายอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น หลายรัฐบาลจึงพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างความยุ่งยากเพิ่มเติม

บางคนกล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าหนี้รัสเซีย จะต้องหาวิธีอื่นในการรับเงิน ความเสี่ยงจากความสับสนวุ่นวายของธนาคารระหว่างประเทศจึงมีมากเกินไป

“อเล็กซี คูดริน” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัสเซีย ชี้ว่า การถูกตัดขาดออกจากสวิฟต์ อาจทำให้เศรษฐกิจรัสเซียหดตัว 5%

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจรัสเซีย

ธนาคารรัสเซียอาจกำหนดเส้นทางการชำระเงินผ่านประเทศที่ไม่มีการคว่ำบาตร เช่น จีน ซึ่งมีระบบการชำระเงินของตนเอง