ดีเซล 33 บาท ทุบ ‘ขนส่ง’ ต้นทุนพุ่ง 9% แต่ปรับราคาไม่ได้ ต้องกลืนเลือดรอเวลา ‘จอด’

ดีเซล
สัมภาษณ์พิเศษออนไลน์

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ. (7 พ.ค. 2567) ให้ปรับเพดานราคาน้ำม้นดีเซล จากลิตรละ 30บาท เป็นลิตรละ 33 บาท แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคขนส่ง แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจไม่สามารถปรับค่าขนส่งได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วธุรกิจนี้จะมีทิศทางไปอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ “นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ” ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง

ปรับเพดานดีเซล 33 บาท

“การปรับเพดานราคาดีเซลจาก 30 เป็น 33 บาท ผมบอกได้ว่าพอถึงเวลาเข้าหลักประหาร เราก็ต้องให้เค้าประหาร เพราะเราไม่ใช่ผู้บริหารแต่เป็นผู้บริโภค ผมอยากฝากไปยังรัฐบาล สิ่งที่ท่านพูดไว้ก่อนเป็นรัฐบาลพูดไว้ว่าอย่างไร แล้วพอมาเป็นรัฐบาลแล้วท่านทำได้ขนาดไหน อยากฝากให้ประชาชนรับทราบไว้ ในอดีตลุงตู่ ดีเซล 35 บาท ราคาสินค้าปรับขึ้นไปแล้ว พอดีเซลลงมา 30 บาท ราคาสินค้าไม่ได้ลงตาม และตอนนี้ จะขยับไป 33 บาท ราคาสินค้าก็จะฉวยขึ้นไปอีก ท่านจะควบคุมเค้าอย่างไร ”

“การปรับราคาดีเซล ต้นทุนค่าขนส่งที่จะขยับตาม หากราคาน้ำมันดีเซลขึ้นมา 1 บาท ค่าขนส่งต้องปรับ 3% ถ้าขึ้นมา 3 บาทก็เท่ากับต้องปรับ 9% แต่ในทางความเป็นจริง ไม่สามารถปรับได้ เพราะว่า ถ้าปรับค่าขนส่งขนาดนั้น ผู้ผลิตสินค้าไม่คุ้มทุนอยู่ไม่ได้ พออยู่ไม่ได้ เขาก็ลดปริมาณการผลิต เมื่อลดปริมาณการผลิต ก็จะไม่มีสินค้ามาใข้บริการขนส่ง พวกขนส่งอยู่ไม่ได้ก็ต้องจอด”

ฉะนั้น สิ่งที่สหพันธ์มาเรียกร้องมันคือความจำเป็น แต่ด้วยจังหวะที่ประกาศขึ้นราคา ผมป่วยเป็นมะเร็ง อยู่ระหว่างการรักษา แต่พอฟื้นตัวแล้ว ผมจะทำหนังสือขอเข้าพบ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินด้วยตัวเองแน่นอน

Advertisment

“สิ่งที่เราเลือกท่านมาเป็นรัฐบาล จาก สิ่งที่ท่านพูดไว้ก่อนจะเข้ามารับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลคือน้ำมันลดทันที นี่บริหารมา 7 เดือนน้ำมันกำลังจะปรับเพิ่มขึ้นอีกแล้ว”

ราคาน้ำมันไทย กับเพื่อนบ้านอาเซียนต่างกันมาก

ประเด็นหนึ่งผมอยากจะบอกท่านนายกฯว่า สิ่งที่เราสงสัยเป็นอย่างมาก คือ น้ำมันทางใต้ที่มีการนำมาขายให้กับกลุ่มรถบรรทุกในราคาลิตรละ 22-24 บาท/ลิตร นั้น มาได้อย่างไร เอามาจากไหน มาจากมาเลย์หรือ ทำไมมาขายได้ในราคานี้ แล้วทำไมมาเลย์ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องราคา ทั้งที่เขาก็ใช้บ่อน้ำมันเดียวกันกับ เรา แต่เขายังไม่เดือดร้อน

“การคำนวณราคาของไทยมีข้อมูลอ้างอิงจากการใช้ราคาน้ำมันดิบสิงคโปร์ หรือจากซาอุดีอาระเบีย เหมือนเดิมหรือไม่ ”

ซึ่งจาก ประเมินการใช้น้ำมันดีเซลของประเทศอยู่ที่ 60 ล้านลิตร อย่าง กบง. สมมุติจะสนับสนุนก็แยกมาเลย ตัวเลขชดเชยค่าแก๊สเท่าไร ค่าน้ำมันเท่าไร จะได้เห็นชัด ๆ เพื่อจะได้รู้ตัวเลขชัด ๆ เพื่อจะได้บริหารให้ถูกต้อง ไม่ใช่เอาตัวเลข 2 ตัวมาผสมกัน แบบนี้

Advertisment

หนุน พีระพันธุ์ ‘เปิดโครงสร้างราคา’

ประเด็นราคาที่ต่างกันนั้น หากเรามาดูภาพรวมจะเห็นว่าน้ำมันที่ใช้มาจากบ้านเรา และนำเข้า ซึ่งเราอยากทราบข้อมูลตรงนี้ เพราะเวลาที่แจ้งมาว่าขึ้นราคา อ้างว่าเพราะราคาตลาดโลกขึ้น และปรับขึ้นทีละเป็นบาท เวลาปรับลดลง ลงทีละ 20-30 สตางค์ ผมว่ามันไม่มีความชอบธรรม

ดังนั้น นโยบายของท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะแก้กฎหมาย และเอาต้นทุนและค่าการตลาดของน้ำมัน ราคาการตลาดของผู้ขายออกมาเปิดเผยชัดเจน ทำให้ทราบโครงสร้างราคา โปรเจ็กต์นี้ดีเราต้องสนับสนุน และเป็นรัฐบาลเดียวกันน่าจะทำได้

ทางออกเร่งด่วน แก้ดีเซลแพง

ตอนนี้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินสมัยโควิดลดลงจาก 7 บาทกว่า เหลือไม่ถึงบาท เขายังทำได้ แต่น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของ ประชาชนทั่วไป แล้วทำไมไม่หยิบยกเรื่องภาษีสรรพสามิตเข้ามาพิจารณาต่ออายุ หลังจากที่สิ้นสุดมาตรการลดภาษีเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

และอีกด้านคือ เรื่องไบโอดีเซลที่นำมาผสม 7% หรือ 10% นี่ สมควรจะเอาออกไปจากระบบน้ำมัน เพราะว่าช่วงนี้ ราคาน้ำมันไม่นิ่ง ให้เขาไปขายเป็นราคาน้ำมันปาล์มไป เขาก็ไม่ได้ขาดทุนในตอนนี้ เสร็จแล้วเท่ากับผู้ประกอบการและประชาชนต้องมาแบกรับภาระตรงนี้ร่วมกับรัฐบาลใช่ไหม

ดังนั้น หากเอาน้ำมันปาล์มตรงนี้ออกไปได้ สามารถลดได้ทันที 2 บาท/ลิตรเลย แล้วทำไมรัฐบาลไม่ทำ ทำไมต้องโยนภาระตรงนี้มาให้กับประชาชน

ถ้ารัฐไม่แก้ แบกไม่ไหว ต้องจอด

ผมว่าถ้าสุดท้ายแบกรับกันไม่ไหวก็ต้องจอด ผมว่าถ้าสายพานลำเลียงอันนี้ไม่ไหว หรือว่าไม่ทำการขนส่งเลย แล้วประเทศชาติจะไปกันอย่างไร เราก็คือ เส้นโลหิตเส้นหนึ่งเหมือนกัน ที่จะหล่อเลี้ยงหัวใจของประเทศ ในเมื่อของใช้ อาหาร วัสดุก่อสร้าง ตู้คอนเทนเนอร์จากต่างประเทศไม่มีการขนถ่ายเพราะว่าขาดทุน สู้ผมจอดเฉย ๆ ไม่ดีกว่าหรือ เรื่องอะไรผมจะต้องมาขาดทุน