อินโด-เวียดนาม เนื้อหอม ยักษ์ค้าปลีกญี่ปุ่นยกทัพบุก

คอลัมน์ : Market-Move

ยักษ์ค้าปลีกญี่ปุ่นอาจไม่ประสบความสำเร็จในไทยมากนัก แต่สำหรับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น กลุ่มทุนญี่ปุ่นยังคงลงตบเท้าเข้าไปลงทุนด้านธุรกิจค้าปลีกและกิจการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดเครือบริษัทเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นและของโลกอย่างมิตซุยแอนด์โค (Mitsui & Co.) และซูมิโตโม คอร์ป (Sumitomo Corp.) ได้เพิ่มการลงทุนด้านค้าปลีกในอินโดนีเซียและเวียดนาม หวังสร้างรายได้จากตลาดที่กำลังเติบโตในทั้ง 2 ประเทศ

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า มิตซุยแอนด์โคเริ่มลงทุนปั้นธุรกิจสนับสนุนผู้ค้าปลีกในอินโดนีเซีย โดยมุ่งเป้าไปยังกลุ่มร้านวารุง (Warung) ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกท้องถิ่นขนาดเล็ก-กลางที่เป็นธุรกิจครอบครัวคล้ายร้านโชห่วยของไทย

แต่จำนวนร้านมากถึงประมาณ 3.5 ล้านแห่งทั่วประเทศ ทำให้มีส่วนแบ่งถึง 60-70% ในตลาดค้าปลีกอินโดนีเซียซึ่งคาดว่าจะเติบโตจนมีมูลค่า 2.42 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569

อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็ว หลังหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นออนไลน์มาร์เก็ตเพลซและค้าปลีกข้ามชาติ อย่างช้อปปี้และอเมซอน ไปจนถึงสตาร์ตอัพพยายามเสนอบริการของตน

เช่น จุดรับชำระค่าสาธารณูปโภค ระบบรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ระบบบริหารสินค้าและคำสั่งซื้อ ฯลฯ ให้กับร้านวารุง เพื่อดึงผู้ประกอบการจำนวนหลายล้านรายเหล่านี้มาเป็นลูกค้า

โดย มิตซุยแอนด์โค เดินหน้าปั้นบริการสำหรับช่วยให้ร้านค้าสามารถขายอาหารแช่แข็งได้มาตอบโจทย์บรรดาร้านวารุง เนื่องจากปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้มีความต้องการสูงต่อเนื่องตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มการระบาด

แต่ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก-กลางเหล่านี้ยังไม่มีอาหารแช่แข็งวางขาย เพราะไม่มีกำลังเพียงพอที่จะลงทุนซื้อตู้แช่และบริหารจัดการซัพพลายเชนที่ต้องอาศัยการขนส่งแบบคุมอุณหภูมิ

ยักษ์ธุรกิจญี่ปุ่นจึงจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นหลายราย ไม่ว่าจะเป็น “โทโก พันได” (Toko Pandai) สตาร์ตอัพด้านบริการชำระเงินสัญชาติอินโดนีเซีย และยังมีผู้ผลิตอาหารแช่แข็ง

รวมถึงผู้ให้บริการขนส่งสินค้าอีกหลายราย มาสร้างเป็นบริการขายอาหารแช่แข็งที่มีเมนูคาว-หวานกว่า 30 เมนู พร้อมบริการชำระเงินผ่านแอป และการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้า

หวังชิงความได้เปรียบท่ามกลางการแข่งขันชิงร้านวารุงไปเป็นลูกค้าที่กำลังดุเดือด ไม่แพ้สมรภูมิค้าปลีกอื่น ๆ ในอินโดนีเซีย

ขณะเดียวกันในเวียดนาม ซูมิโตโม คอร์ป ผนึกกำลังกับบีอาร์จี กรุ๊ป (BRG Group) ผู้พัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ของประเทศ ประกาศแผนขยายสาขาซูเปอร์มาร์เก็ต ฟูจิมาร์ท ที่ปัจจุบันมีสาขาเพียง 3 แห่ง หลังเปิดสาขาแรกไปเมื่อปลายปี 2561 ให้มีสาขารวมไม่น้อยกว่า 50 สาขาทั่วเวียดนาม ในอีก 7 ปี

โดยตามแผนนี้ 2 ยักษ์ธุรกิจจะต้องเร่งสปีดขยายสาขาฟูจิมาร์ทเพิ่มอีก 5-10 สาขาต่อปี ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2571 จากเดิมที่เปิดสาขาเพิ่มได้เพียง 2 แห่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ของบริษัทอธิบายว่า การประกาศสปีดสาขาครั้งนี้เป็นเพราะบริษัทได้โนว์ฮาวสำหรับทำธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามจาก 3 สาขาแรกมาเพียงพอแล้ว โดยจากนี้การบริหารร้านฟูจิมาร์ทจะโฟกัสทำเลในพื้นที่กรุงฮานอย

ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเวียดนาม ในขนาดพื้นที่ร้าน 1 พัน ตร.ม. ด้วยโมเดลการบริหารที่ถอดแบบมาจากร้านซูเปอร์มาร์เก็ตซับมิตในญี่ปุ่น ร่วมกับโนว์ฮาวตลาดถิ่น เน้นชูความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ากลุ่มอาหาร

ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวเวียดนามที่สนใจเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น หลังการระบาดของโรคโควิด-19 และการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง ขณะเดียวกันยังเป็นการรับมือคู่แข่งสำคัญอย่างตลาดสด

ซึ่งผู้ค้ามักซื้อของสดทั้งเนื้อและปลามาจากผู้ค้าส่งที่รู้จักกัน มากกว่าจะเป็นผู้ค้ารายใหญ่ ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งเกิดความกังวลด้านความสะอาด-ปลอดภัยโดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โรคระบาด

ไม่เพียงซูมิโตโม คอร์ป ที่เดินหน้าขยายธุรกิจในเวียดนาม แต่ก่อนหน้านี้อิออนยักษ์ธุรกิจจากญี่ปุ่นอีกราย ได้ประกาศแผนขยายสาขาซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวนกว่า 100 สาขา ภายในปี 2568 เช่นเดียวกัน

ความเคลื่อนไหวนี้ฉายถึงศักยภาพและความคึกคักของตลาดค้าปลีกในเวียดนามและอินโดนีเซียที่มีแนวโน้มเติบโต จนทำให้ทั้งธุรกิจข้ามชาติและท้องถิ่นพากันทุ่มลงทุนหวังเข้าชิงโอกาสสร้างรายได้ในช่วงที่ตลาดเติบโต