เอเซียติค กางแผนโกยหมื่นล้าน “กะทิอัมพวา” เรือธง ลุยแพลนต์เบส

ณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์

เอเซียติคฯ กางแผน 3-5 ปี เดินหน้าชูกะทิอัมพวา-โคโค่แม็ก เรือธงบุกตลาดไทย-ต่างประเทศ งัดนวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการ เร่งเพิ่มดิสทริบิวเตอร์ขยายตลาด ประกาศแตกไลน์ธุรกิจใหม่บุกตลาดแพลนต์เบส ขนทัพสินค้าใหม่จากมะพร้าว 100% “โคโค่มิกซ์” รับกระแสสุขภาพ วางเป้าทะยานยอดขาย 10,000 ล้านใน 5 ปี

นายณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเซียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด ผู้ผลิต แปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวรายใหญ่ เจ้าของแบรนด์กะทิอัมพวา, เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว โคโค่แม็ก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากบริษัทไม่สามารถผลิตสินค้าได้เต็มที่ และทำให้ยอดขายลดลงไปค่อนข้างมาก โดยที่ผ่านมา แม้ในแง่ของยอดการสั่งซื้อจะยังดีอยู่เมื่อเทียบกับช่วงปกติ แต่ต้องมาสะดุดในกระบวนการผลิต เนื่องจากการระบาดที่เกิดขึ้นทำให้ต้องปิดโรงงาน และกักตัวผู้ติดเชื้อ การผลิตจึงไม่สามารถทำได้มากนัก

ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่รับประทานกะทิน้อยลง เนื่องจากมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ประเมินว่าในอนาคตตลาดกะทิ แม้จะยังเติบโตได้แต่อาจจะไม่หวือหวาเหมือนในอดีต

บริษัทจึงเริ่มกระจายความเสี่ยง ด้วยการมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ในตลาดส่งออก โดยเฉพาะประเทศที่อาหารไทยกำลังเริ่มได้รับความนิยม พร้อมทั้งแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยการต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านมะพร้าวที่มีอยู่เดิม

กางแผน 3-5 ปี ปั้นหมื่นล้าน

นายณัฐพลระบุว่า บริษัทได้วางยุทธศาสตร์ระยะยาว 3-5 ปี โดยวางเป้าหมายการเติบโตทั้งจากสินค้าเดิมที่มีอยู่และสินค้าใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว พร้อมทั้งฟื้นรายได้จากผลกระทบจากช่วงโควิดที่ผ่านมา ผ่านงบฯลงทุน งบฯวิจัยและพัฒนาการตลาดกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

โดยในส่วนของเดิม อาทิ กะทิอัมพวา และเครื่องดื่มโคโค่แม็ก ที่จะเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโคโค่แม็ก ที่จะเร่งเพิ่มดิสทริบิวเตอร์ใหม่ ๆ ในต่างประเทศเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีวางขายในกว่า 27 ประเทศ ปัจจุบันน้ำมะพร้าวยังเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ แต่ในแง่การเติบโตอาจจะไม่หวือหวาเหมือนช่วงที่เริ่มบูมขึ้นมาเมื่อสัก 4-5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เป็นต้นไป บริษัทจะเริ่มกลับมาฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าที่จะกลับมาเติบโตให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% จากปีที่ผ่านมา หรือสิ้นปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 5,200 ล้านบาท จากปี 2564 ที่ผ่านมา ที่มียอดขายประมาณ 3,500 ล้านบาท เป็นตลาดในประเทศ 50% และส่งออก 50%

โดยกะทิอัมพวาและโคโค่แม็กมีสัดส่วนประมาณ 40% จากยอดขายรวม ที่เหลือเป็นอื่น ๆ 15% โออีเอ็ม 30% จากนั้นในปี 2566 เป็นต้นไป จะมีการลงทุนในธุรกิจและโรงงานใหม่ ๆ หลังจากได้มีการวางแผนไว้แล้วแต่ชะลอออกไปในช่วงโควิด และตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้เป็น 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

“ความท้าทายหลักของธุรกิจในขณะนี้ หลัก ๆ เป็นเรื่องของต้นทุนที่ทั้งน้ำมันและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปัญหาค่าระวางสินค้าสำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการภายใน ปรับระบบขนส่ง ทำเพื่อสร้างการเติบโตท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้น และยังมีกำไรได้”

“อัมพวา” เรือธงบุกตลาด

นายณัฐพลให้ข้อมูลว่า สำหรับแนวทางการทำตลาดกะทิอัมพวาที่เป็นสินค้าเรือธงในประเทศ จากนี้ไปจะเน้นกลยุทธ์หลักที่เรื่องของนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ เช่น ที่ผ่านมาแพ็กเกจจิ้งจะเป็นกล่องหรือกระป๋อง ที่ต้องใช้ให้หมดในครั้งเดียว ก็พัฒนามาเป็นขวด เพื่อให้สามารถเก็บไว้ใช้ได้หลายครั้ง และตอบโจทย์การใช้งานให้สะดวกขึ้น

นอกจากนี้ในปี 2566 จะมีนวัตกรรมกะทิที่ตอบโจทย์ลูกค้าสมัยใหม่มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีรูปแบบขวด กล่อง และกระป๋อง

ปัจจุบันกะทิอัมพวา มีส่วนแบ่งการตลาด 20% เป็นอันดับ 3 ของตลาดรวมที่มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือมีรายได้ราว 1,300-1,400 ล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตไว้มากกว่า 10% จากปีที่ผ่านมาที่ยอดขายลดลง จากการระบาดของโควิด แบ่งเป็น 40-50% เป็นโมเดิร์นเทรด/ร้านไฮบริดโชห่วยในจังหวัดต่าง ๆ และที่เหลือเป็นตลาดค้าส่ง และตลาดสด 50%

ส่วนต่างประเทศ จะมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ในแต่ละแพ็กเกจจิ้งที่แตกต่างกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ต่างกัน นอกจากนี้ยังมีกะทิ ภายใต้แบรนด์ Oriental Chef ที่เป็นกะทิพรีเมี่ยม วางจำหน่ายในต่างประเทศด้วย จากปัจจุบันบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวไปยังกว่า 70 ประเทศทั่วโลก

“การแข่งขันของกะทิในตลาดต่างประเทศปัจจุบัน เรื่องของไพรเวตแบรนด์ที่ต่างประเทศจ้างคนไทยผลิตเพื่อตีแบรนด์ของตัวเองกำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะในแถบยุโรปและออสเตรเลีย ทำให้แบรนด์ไทยที่เข้าไปจะเหนื่อยหน่อย โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้ต้องหันมาเน้นเรื่องความเป็นสินค้าคุณภาพและพรีเมี่ยมมากกว่า”

ลุยแพลนต์เบสรับเทรนด์

นายณัฐพลให้ข้อมูลในส่วนของสินค้าใหม่ว่า บริษัทวางแผนจะแตกไลน์ธุรกิจเพื่อลดการพึ่งพาธุรกิจเดิม โดยจะมุ่งไปที่ธุรกิจแพลนต์เบส ด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ “โคโค่มิกซ์” (Cocomix) ประกอบด้วย มะพร้าวข้นจืด, มะพร้าวข้นหวาน, โคโค่นัท ครีมเมอร์, โคโค่นัท วิปปิ้งครีม, โคโค่นัท ซุปเบส และผลิตภัณฑ์เนย ผลิตจากมะพร้าว 100%

สามารถใช้เป็นส่วนผสมในการทำเมนูได้หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องดื่มและเบเกอรี่ เพื่อรองรับดีมานด์ผลิตภัณฑ์นมจากพืช (plant-based milk) ในประเทศมีมูลค่ารวมมากกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งสินค้าหลัก ๆ คือ กลุ่มนมอัลมอนด์ นมข้าวต่าง ๆ มีสัดส่วนราว 18% หรือมากกว่า 500 ล้านบาท จะเป็นตลาด alternative dairy cooking ingredient ที่มีอัตราการเติบโต 10-20% ต่อปี

โดยมีแผนสร้างการรับรู้และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุมผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมรวมทั้งจัดกิจกรรมชงชิม การจัดจำหน่ายโคโค่นัท ครีมเมอร์, มะพร้าวข้นจืด และมะพร้าวข้นหวาน ผ่านแม็คโคร และการเข้าร่วมกลุ่ม food service เพื่อเจาะตลาดร้านอาหารต่าง ๆ

“ในอนาคตจะขยายในมุมของสินค้าใหม่ที่เกี่ยวกับมะพร้าว ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะ zero waste ที่ลดปริมาณขยะจากกระบวนการผลิต ผ่านความยั่งยืนภายในองค์กรอย่างครบวงจรในระยะยาว ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้สิ่งต่าง ๆ ภายในองค์กร หรือมะพร้าว 1 ลูกจะไม่มีการทิ้งเป็นขยะ ตั้งแต่เปลือก กาก หรือแม้กระทั่งกะลามะพร้าว รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ให้กับส่วนประกอบต่าง ๆ ของมะพร้าว” นายณัฐพลกล่าว