สงครามดันไทยขึ้นท็อป 10 ปั๊มส่งออกอาหารโตเท่าตัว

อาหาร

ส.อ.ท.กางแผนฝ่าวิกฤตอาหารขาดแคลน-ต้นทุนพุ่ง มั่นใจแสนโรงงานอาหารในประเทศ พร้อมปั๊มยอดส่งออกอาหารโตเท่าตัว 5 ปีโกย 2.4 ล้านล้านบาท ชูกลยุทธ์ 3S “Safety-Security-Sustainable” ขยับอันดับขึ้นเบอร์ 10 ฮับอาหารโลก พร้อม ผนึก “ททท.” ดัน “มิชลินสตาร์-สตรีตฟู้ด” ดึงนักท่องเที่ยวรับเปิดประเทศ

หลังเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารจนทำให้ 30 ประเทศประกาศยุติการส่งออกอาหารบางรายการชั่วคราว เพื่อลดแรงกดดันการปรับขึ้นราคาของอาหารในประเทศ และภาวะเงินเฟ้อ ทำให้สถานะ “ประเทศไทย” ในฐานะครัวของโลกโดดเด่นขึ้น โดยในปีที่ผ่านมามีการส่งออกอาหารไปทั่วโลกเป็นอันดับที่ 13 และในไตรมาส 1/2565 รายได้จากการส่งออกอาหารเติบโตขึ้น 16.22%

นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ไทยน่าจะขยับอันดับจากการเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 13 ขึ้นเป็นอันดับ 10 ของโลกได้ จากความต้องการนำเข้าอาหารของประเทศต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น หลังประเทศผู้ผลิตอาหาร 30 ประเทศประกาศหยุดส่งออกชั่วคราว รวมเข้ากับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และความพร้อมด้านการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ และปลายน้ำ

โดยปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการอาหาร 1 แสนโรงงาน ทั้งขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก มีสมาชิกของกลุ่มอาหารราว 400 ราย มีบริษัทระดับโกลบอลด้านอาหารที่เข้ามาลงทุน เช่น เนสท์เล่, ยูนิลีเวอร์, ไทยสัน คาร์กิ้ว ทำให้อุตสาหกรรมนี้ช่วยสร้างรายได้ขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศถึง 20%

“เราคาดการณ์ว่าการส่งออกอาหารไทยจะขยายตัวได้ 15% มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผมมองว่าเราต้องขับเคลื่อนให้การส่งออกอาหารเติบโตเท่าตัวหรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาทได้ ขณะที่ตลาดอาหารในประเทศไทย รวมถึงเกษตรกร ผู้ผลิตร้านค้ารายย่อย สตรีตฟู้ด และภาคอุตสาหกรรม รวมแล้วมีขนาดใหญ่กว่าตลาดส่งออกประมาณเท่าตัว ปีนี้มีปัจจัยหนุนจากการเปิดคลายล็อกหลังโควิด 1 มิ.ย. ทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้น ตลาดในประเทศจึงน่าจะเติบโตได้ 5% หรือมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท”

เจริญ แก้วสุกใส
เจริญ แก้วสุกใส

นายเจริญย้ำว่า ประเทศไทยเปรียบได้กับมหาอำนาจทางอาหารของโลก มีคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอาหาร ทั้งห่วงโซ่ซัพพลายเชนที่เป็นเครือข่ายอยู่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำรวมเกือบ 30 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ถือเป็นความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ เพราะมีรากฐานมาจากเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จึงเป็นหลุมหลบภัยทั้งในภาวะเศรษฐกิจและสงครามอย่างนี้ เป็นหลุมหลบภัยให้คนกลับไปทำงานที่บ้าน ไปเป็นสตาร์ตอัพคิดสิ่งใหม่โดยใส่เทคโนโลยีเข้าไป

ชูกลยุทธ์ 3S เสริมแกร่งอุตฯ

นายเจริญกล่าวว่า ภารกิจหลักของตนในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ คือ การผลักดันให้อุตสาหกรรมแข็งแกร่ง โดยใช้กลยุทธ์ 3S คือ “Safety-Security-Sustainable” โดยโฟกัสการเป็นศูนย์รวมของโลกในเรื่องของอาหารและเป็นอาหารที่มั่นคงยั่งยืน

ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดของการผลิตอาหาร คือ ด้านความปลอดภัยของอาหาร (safety) ตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องนี้เพราะไทยมีอุตสาหกรรมอาหารที่มีความพร้อมมาก มีบริษัทระดับโกลบอลด้านอาหารเข้ามาลงทุน เช่น เนสท์เล่ ยูนิลีเวอร์ ไทยสัน คาร์กิ้ว

“ประเด็น security หรือความมั่นคงทางอาหาร เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ในส่วนนี้ไทยต้องบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะทำงาน 4 ด้าน ผมเข้าไปร่วมด้วยในชุดเรื่องความมั่นคง เราต้องเร่งทำฐานข้อมูลเพื่อส่งมอบข้อมูลในการจัดทำดัชนีความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทาง FAO จัดอันดับประเทศทั่วโลกทุกปี

“ปีนี้ไทยอยู่อันดับ 50 เราไม่มีข้อมูลที่จะไปแสดงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ต่างจากสิงคโปร์ที่เป็นประเทศที่มีข้อมูลชัดเจน ทำให้จัดอยู่ในอันดับ 20 จริง ๆ ไทยควรอยู่ในอันดับไม่เกิน 10 และด้าน sustainable ความยั่งยืน คือ สามารถปลูกเอง เลี้ยงเองได้ต่อเนื่อง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไปสู่กรีนได้ทั้ง 3 เรื่องเป็นภารกิจของเรา”

สงครามยืดเสี่ยงอาหารขาด-แพง

นายเจริญกล่าวถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วยว่า หากยืดเยื้อยาวเกิน 3 ปี จะเข้าสู่ภาวะที่เหมือนกับสงครามโลกกลาย ๆ ฉะนั้นวัตถุดิบอาหารจะโดนทำลายไปจำนวนมาก เช่น ข้าวสาลีหายไป 30% ข้าวโพดหายไป 25% ฉะนั้นมีปัญหาขาดแคลนแน่นอน หรือส่วนที่ “ไม่ขาด” ก็จะแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่าจะมีจำนวนคนอดอยากถึง 440 ล้านคน ใน 2-3 ปีข้างหน้า และที่สำคัญอาหารไม่ฟื้นเร็วเหมือนอย่างอื่น แม้สงครามเลิก แต่ภาคการผลิตอาหารต้องใช้เวลาฟื้นตัว 1-2 ปี

ที่น่ากังวล คือ ระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากสงคราม นำมาสู่การบอยคอตน้ำมันรัสเซีย เมื่อส่งออกไม่ได้ก็จะทำให้ซัพพลายน้ำมันในตลาดโลกขาดแคลน ทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แบบ “ไม่มีขาลง” กระทบกับต้นทุนการผลิตอาหาร ตั้งแต่ฟาร์ม การผลิต การขนส่ง

หมายความว่าเมื่อผลิตอาหารออกมาแล้วก็ต้องบวกราคาเพิ่มขึ้น จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และกระทบต่อเงินเฟ้อ ซึ่งตนมองว่าในปีนี้มีโอกาสขยายตัว 5-10% เพราะภูมิภาคยุโรปไปถึง 8% แล้ว

“กลุ่มเบเกอรี่วัตถุดิบขึ้น 50% ไก่หมู-อาหารสัตว์ ขึ้น 30-70% เนื้อไก่ เนื้อหมู ปรับเฉลี่ย 25% อาหารกระป๋อง ได้รับผลกระทบจากกระป๋องที่แพงขึ้น 50% คิดเป็นต้นทุนที่แพงขึ้น 10% ผู้ผลิตเพื่อส่งออกยังปรับขึ้นราคาสินค้าได้ ลูกค้าเข้าใจ และยอมรับที่จะซื้อ

“ที่เราเป็นห่วง คือ ตลาดในประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องดูแล ผู้ผลิตที่จำหน่ายในประเทศจะปรับราคาภายในได้ไม่มาก อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ใน 18 สินค้าควบคุม เท่าที่ทราบปรับส่วนลดที่ให้เอเย่นต์ การปรับราคาอาจทำได้ไม่มากนัก ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว การเปิดประเทศเพิ่งเริ่มต้น ทุกคนก็มองภาพดีหมดว่าจะมีการท่องเที่ยว การบริการจะทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่ใช่ดีขึ้นในวันนี้ ต้องใช้เวลา”

แนะรัฐดูแลค่าครองชีพ ปชช.

สำหรับนโยบายการดูแลราคา ตนมองควรดำเนินการตามความเป็นจริง ถ้าขึ้นจริง ๆ ก็ต้องขึ้น ไม่เช่นนั้นเอกชนก็อาจผลิตน้อยลง หรือปิดโรงงานไป

“เราต้องมองความเป็นจริง เนื่องจากราคาน้ำมันแพงขึ้น ต้องให้ความรู้ประชาชนว่าควรประหยัดพลังงานอย่างไร ระดับประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เขาบอกให้อยู่ในห้องรวมกันเวลาดูทีวีที่บ้าน เปิดแอร์ที่อุณหภูมิเท่านี้ หรือบางประเทศ แก้ปัญหาค่าครองชีพ โดยแจกคูปองจับจ่ายอาหาร เราก็ควรเปิดตลาดเกษตรเพื่อเชื่อมโยงเกษตรกรทุกตำบลให้มาขายกันเอง โดยไม่ผ่านคนกลาง จัดทำฟู้ดแบงก์ (ธนาคารอาหาร) ให้ผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มผู้เปราะบาง ทั้งในเมืองและชนบทที่ลงทะเบียนไว้ 15 ล้านคน ให้ฝ่าไปได้ ซึ่งนี่จะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่จะกระทบต่ออาหาร”

แนวทางเสริมแกร่งอุตฯอาหาร

ส่วนแนวทางในการผลักดันอุตสาหกรรมอาหาร ต้องยกระดับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ มีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อประสานงานกับทุกหน่วยงาน โดยควรมองภาพข้ามชอตระยะยาว 3-5 และ 10 ปี โจทย์คือจะบาลานซ์อย่างไรให้สินค้าภายในประเทศพอเพียงและส่งออกเยอะขึ้นได้ตามความต้องการในตลาดโลก จึงต้องลงลึกรายเซ็กเตอร์

ขณะที่ตลาดในประเทศจะผูกโยงกับการท่องเที่ยว เพราะมีการประเมินว่าค่าใช้จ่าย 25% ของนักท่องเที่ยวเป็นค่าอาหาร ฉะนั้นเมื่อมีคนเข้ามาเยอะก็ยิ่งมีรายได้เข้ามา ส่งออก ท่องเที่ยว และบริการ เป็นเครื่องจักรหลักผลักดันจีดีพีประเทศ โดย ส.อ.ท.จะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลักดันให้กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงอาหารของโลก เพราะได้ร้านมิชลินสตาร์เยอะที่สุดในเอเชียแล้ว

“ท่านยุทธศักดิ์ (ผู้ว่าการ ททท.) เข้าใจดี เพราะเป็น ผอ.สถาบันอาหารมาก่อน คงลิงก์กันได้ เราต้องการผลักดันอาหารท้องถิ่น โลคอลฟู้ด street food ในระยะสั้นต้องโปรโมตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาโดยเน้นการสร้างความปลอดภัย ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและอาหารปลอดภัย ดี อร่อย สะอาด ถูกสุขลักษณะ รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม น้ำ และพื้นที่สะอาด แก้ปัญหาขยะ สร้างบรรยากาศส่งเสริมท่องเที่ยวทุกจังหวัด

ควบคู่กับการชูจุดเด่นที่เรามี คือ การมีร้านมิชลินสตาร์มากที่สุดในเอเชีย มีอาหารระดับท้องถิ่นและสตรีตฟู้ดหลายแสนร้าน โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำคู่มือการจัดการร้านอาหารสตรีตฟู้ด หากขายดีก็จะมีส่วนเชื่อมโยงไปถึงผลิตวัตถุดิบ ไข่ ไก่ หมู กุ้ง ป้อนสตรีตฟู้ด ทำให้เป็นเครือข่าย เรามีจุดแข็งเรื่องอาหารอยู่แล้ว และอาหารจะนำพาประเทศผ่านวิกฤตได้”