สศก.พลิกวิกฤตอาหาร โอกาสปั๊มจีดีพีเกษตร 6 แสนล้าน

ฉันทานนท์ วรรณเขจร
สัมภาษณ์

ภาคเกษตรของไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อต้นทุนปุ๋ยและธัญพืชโลกปรับสูงขึ้น ต่อเนื่องด้วย “วิกฤตการณ์อาหาร” จนเป็นเหตุให้ 30 ประเทศ ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเพื่อลดแรงกดดันราคาสินค้าและเงินเฟ้อภายในประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายฉันทานนท์ วรรณเขจร” เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ถึงความท้าทายความมั่นคงอาหาร

มองภาพวิกฤตอาหาร

สถานการณ์ในปัจจุบัน ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกไม่จำกัดเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลต่อระดับราคาอาหารอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือ น้ำมัน มีการปรับตัวของราคาสูงขึ้นอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น

มากไปกว่านั้น รัสเซียและยูเครนเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชที่สำคัญในตลาดโลก ทำให้ระดับราคาอาหารเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงอาหารของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเหตุให้ 30 ประเทศ ประกาศใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์แล้วบางรายการ เพื่อดูแลราคาสินค้าและเงินเฟ้อภายในประเทศ

วางแผนฝ่าวิกฤต

สศก.วางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบ ผ่านกลไกในรูปคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศ โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านต่าง ๆ 4 ด้าน คือ 1.ด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ 2.ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร

3.ด้านอาหารศึกษา ให้ความรู้ในการบริโภคอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ และ 4.ด้านการบริหารจัดการ (กฎหมาย โครงสร้างองค์กร และการบริหารงบประมาณ)

“ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดูแลด้านการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นต้นทางของระบบการผลิตอาหาร ได้วางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (big data)

ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการวางแผนบริหารจัดการด้านอาหารได้อย่างถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ เพื่อสามารถบริหารจัดการการกระจายสินค้าอาหารไปสู่มือผู้ที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ฐานข้อมูลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการสินค้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหารทั้งในภาพรวมและระดับพื้นที่ และในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ก็คือ ปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar)

ยันไทยไม่กระเทือน

“ขอยืนยันว่า จากวิกฤต ณ ขณะนี้ คนไทยจะไม่เกิดสภาวะขาดแคลนอาหาร ในทางกลับกันน่าจะเป็นโอกาสในการพัฒนา ยกระดับเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ปรับปรุงการผลิตสินค้าเกษตรไทยตามนโยบาย Next Normal 2022 ที่มุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์การเกษตรมูลค่าสูงด้วย BCG Economy Model

รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการสนับสนุนการผลิตพลังงานทดแทนหรือการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อใช้ในภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง Bio-Circular-Green Economy Model (BCG Economy Model)

เช่น การนำผลพลอยได้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ผลิตพลังงาน การปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วเพื่อพลังงาน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคเกษตร”

ยืนจีดีพีเกษตร’65 โต 2-3%

วิกฤตพลังงานครั้งนี้จะช่วยให้เกษตรกรลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศที่นับวันราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะสูงขึ้น เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงและความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารตามมาตรฐานสากลต่าง ๆ การเน้นการนำเสนอคุณค่าต่อผู้บริโภค (การสร้าง story)

การสร้างสรรค์ packaging/branding การทำ online marketing เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตต่าง ๆ และการสร้างประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์การเกษตรเพื่อลดอุปสรรค และปัญหาในการส่งออกสินค้าเกษตรเนื่องมาจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ของประเทศปลายทางหรือด่านต่าง ๆ

ทั้งทางรถยนต์ ทางรถไฟผ่านรถไฟจีน-ลาว-ไทย ทางอากาศหรือทางเรือ ซึ่งจะเป็นการลดการสูญเสียของสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ด่านต่าง ๆ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรของไทยทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดโลก

“สศก.ยังคงเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (จีดีพีเกษตร) ปี 2565 เติบโตอยู่ที่ 2-3% อยู่ในช่วง 669,870-676,440 ล้านบาท ตามแผนที่วางไว้ จากที่เมื่อเทียบกับปี 2564 ทุกสาขาการผลิต มีแนวโน้มขยายตัว โควิด-19 ที่ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น”

ภาคเกษตรของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญหลายด้านเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การผลิตอาหาร การผลิตวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรม การผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศ ประกอบกับภาคเกษตรจัดได้ว่าเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 น้อยที่สุด

โดยที่ภาคเกษตรยังคงสามารถดำเนินการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งภายในและส่งออกไปต่างประเทศได้ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดโควิด-19 และวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนได้ ซึ่งสิ่งที่จะมีผลมากกว่านั่นคือสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน

ห่วงสินค้าเกษตร

แน่นอนว่าวิกฤตระหว่างรัสเซียกับยูเครน ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนทางเกษตร ราคาปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์แพง เพื่อลดภาระดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการช่วยเหลือออกมา เช่น โครงการปุ๋ยเคมีราคาถูก การหารือกับผู้นำเข้า

โดยจะเห็นการเจรจากับซาอุดีอาระเบีย และเราเองก็ต้องสื่อสารกับเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน ใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพ หรือทางด้านอาหารสัตว์ก็ได้นำเอาข้าวหัก ปลายข้าวที่สามารถนำมาผลิตทดแทนได้

นอกจากนี้ต้องจับตาตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย อาจทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวน เป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเราไม่มีทางรู้ได้ว่า ความขัดแย้งในครั้งนี้จะบานปลายเพียงใด นานาประเทศจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซียอีกหรือไม่

เอเปคหนุนครัวไทยสู่ครัวโลก

ล่าสุดในการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบกรอบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหาร จำนวน 5 กรอบ ซึ่งการประชุมระดับรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารจะมีการรับรองปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค โ

ดยสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นทางการเมืองในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค ในร่างปฏิญญาฯ ไทยจะผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก

โดยในด้านความปลอดภัยอาหาร เน้นการผลิตที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และสุขอนามัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้ามาที่ผู้ผลิตที่ต้นทางได้ ด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร ด้วยสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคี ด้านการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการผลิตที่ยั่งยืน และใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างคุ้มค่า

สุดท้าย ด้านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เสริมสร้างความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงตลาด