พิชัยถกผู้ว่าแบงก์ชาติ เคลียร์โจทย์ใหญ่ ดันจีดีพี

แบงก์ชาติ คลัง

กลายเป็นวิวาทะร้อนขึ้นมาอีกระลอกเมื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นเวทีกล่าวว่า “กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญมาก ๆ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” จนมีการปั่นข่าวแก้กฎหมาย-ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ

ต้องถือว่ากรณีความเห็นต่างของรัฐบาลและผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นประเด็นร้อนมาอย่างต่อเนื่อง

จากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ผู้ว่า ธปท.ไม่ได้ตอบสนอง โดยระบุว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยไม่อยู่ภายใต้การแทรกแซงหรือกดดันทางการเมือง

รวมถึงประเด็นที่ผู้ว่าแบงก์ชาติ คัดค้านโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ซึ่งถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ก็ยิ่งทำให้ความตึงเครียดระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าการแบงก์ชาติเพิ่มมากขึ้น

ขุนคลังชี้โจทย์ต้องทำให้ ศก.โต

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งว่า ตนทราบอยู่แล้วว่าภารกิจเร่งด่วนคืออะไร จะใช้หน้าที่และความรับผิดชอบที่มีอยู่ในการสะสาง และจัดการปัญหาที่คิดว่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และดีต่อผลประโยชน์ของประเทศโดยจะทำอย่างสุดความสามารถ

Advertisment

“เรื่องเศรษฐกิจคิดว่าทุกคนทราบผลลัพธ์ และเห็นปัญหาเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะอยู่ในสายอาชีพใด เพียงแต่ทุกคนมองปัญหา และมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ฉะนั้นเราคงต้องหาข้อยุติที่ตกผลึกแล้ว และพยายามทำให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันมากที่สุด เพื่อนำมาซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด”

นายพิชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ตนต้องพูดคุยกับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ) ซึ่งเป็นทั้งหน้าที่ และความรับผิดชอบของตน ร่วมกับ ธปท. ที่จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เครื่องจักรสองเครื่องทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้สอดคล้อง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก่อนจะเดินทางได้ เราต้องตกผลึกและทำความเข้าใจก่อนว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

โดยช่วงบ่าย นายพิชัยได้เดินทางเข้ากระทรวงการคลัง และให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยขณะนี้ คือ ต้องทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่ในปัจจุบันได้ อย่างไรก็ดี การจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น ต้องทำให้คนในประเทศเห็นสอดคล้องกันก่อน จากวันนี้ที่ยังเห็นต่างกันอยู่

นัดถกผู้ว่าการแบงก์ชาติด่วน

“ผมคุ้นดีกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะทำงานอยู่ในแวดวงที่ไม่ต่างกัน เพียงแต่ต่างกันที่อายุเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่ผมเห็น ผมคิดว่าทุกคนมีมุมมองของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือว่า ต้องมานั่งคุยกัน หาจุดยืน ตกผลึก นำข้อเท็จจริงมาวาง แล้วร่วมกันแก้ปัญหาให้ประเทศ แก้ปัญหาให้ประชาชน”

Advertisment

นายพิชัยกล่าวว่า ตนคงจะมีการหารือกับผู้ว่าการ ธปท. ในเร็ว ๆ นี้ทันทีที่มีโอกาส ไม่ว่าจะที่กระทรวงการคลัง หรือตนไปที่แบงก์ชาติก็ได้ ซึ่งก็ยอมรับว่า หากมองในมุมแบงก์ชาติก็คงอยากเห็นสถานะการเงินของประเทศมั่นคง มีทุนสำรองมาก ๆ แต่ขณะเดียวกันมองอีกมุม ก็อยากเห็นประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องดูว่าจะเร่งเศรษฐกิจอย่างไร

“เรื่องที่ยังเห็นไม่ตรงกันก็ต้องคุยกัน อย่างเช่นที่มองว่า เวลาดอกเบี้ยลด จะทำให้คนใช้เงินมากขึ้น ก็ใช่ ถ้าไม่มีหนี้นะ ถ้าหนี้น้อย แต่วันนี้หนี้ถึงไหนแล้ว แล้วดอกเบี้ยน้อย จะมีปัญญาไหม วันนี้คิดแค่ว่าทำอย่างไรให้มีเงินคืนหนี้ และมีกิน คนละบริบท”

เมื่อถามถึงมุมมองต่อความอิสระของธนาคารกลาง นายพิชัยกล่าวว่า ทุกวันนี้อิสระอยู่แล้ว ซึ่งความอิสระหมายความว่า มีอิสระทางความคิด มีอิสระในการวิเคราะห์ มีอิสระที่จะเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ทั้งนั้น ทางเลือกดังกล่าวต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนด้วย หรือพูดอีกอย่างคือ ต้องตอบสนองความต้องการของคนที่มาทำงานแทนประชาชนด้วย ส่วนที่มีกระแสข่าวการแก้ไขกฎหมายให้ ธปท. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล นายพิชัยกล่าวว่า “เรื่องนี้ต้องมาดูกันอีกว่าใช่ปัญหาหรือไม่”

“ก็ต้องดูว่า ในความอิสระ วิน-วิน หรือไม่ คือทุกคนได้ ผมคิดว่าถ้าไปคุย ผมจะไม่พูดเรื่องดอกเบี้ย แต่แล้วแต่ท่านจะคิด” รองนายกฯและ รมว.คลังกล่าว

พ.ร.บ.แบงก์ชาติไม่มีคำว่า “อิสระ”

ขณะที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรนาคินภัทร ว่าที่ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ถึงประเด็นความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า มีอยู่ 2 เรื่องหลักที่ต้องคุยกัน คือ 1.เรื่องเกี่ยวกับนโยบายการเงินว่าจะมีความเป็นอิสระเท่าไหร่ เพราะอะไร และ 2.เรื่องของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเรื่องความอิสระ

โดยในส่วนของนโยบายการเงินที่บอกว่าให้มีความเป็นอิสระ ก็เพราะว่ากลัวว่าปกติแล้วนักการเมืองจะพยายามมองทุกอย่างในระยะสั้น บางทีใกล้การเลือกตั้ง ก็อาจจะต้องมองเรื่องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจดูดีในระยะสั้น แต่หากทำแบบนั้นแล้ว หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ก็จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงเข้าไปใหญ่ ดังนั้นแบงก์ชาติหรือธนาคารกลางทั่วโลกควรจะมีอิสระในการดำเนินนโยบายให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับเหมาะสม ให้เงินเฟ้อไม่สูงโดยในระยะยาว นั่นคือหลักการ

“แต่ปัญหาของประเทศไทย คือ เงินเฟ้อมันต่ำกว่ากรอบมานาน ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เงินเฟ้อเฉลี่ยของเราแค่ประมาณ 0.5% เท่านั้น ต่ำกว่าเป้า และตอนนั้นแบงก์ชาติต้องเขียนจดหมายอธิบายตัวเองให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประมาณ 6-7 ฉบับ ณ วันนั้นดอกเบี้ยนโยบายจริง เพียงแค่ประมาณ 1% ก็คือดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 1.5% และเงินเฟ้อประมาณ 0.5%”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ที่มีการตั้งคำถามวันนี้คือว่า ตอนนี้เงินเฟ้อ 0% ถึงขั้นติดลบด้วยซ้ำ แต่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ฉะนั้นเวลาพูดถึงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติในการดำเนินนโยบายเพื่อให้มีเสถียรภาพของราคา แปลว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติที่ 1-3% ต้องอยู่ในกรอบ ซึ่งวันนี้เงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในกรอบ และอยู่ต่ำกว่ากรอบมาก เพราะเศรษฐกิจก็ไม่ได้โตดี โตแค่เพียง 1.5%

ดังนั้น อิสระที่ว่า คือ “อิสระในการดำเนินนโยบายการเงินให้มีเสถียรภาพทางด้านราคา” หมายความว่า เงินเฟ้อไม่ต่ำเกินไป และไม่สูงจนเกินไป และมีหน้าที่อื่น ๆ อีก เช่น การดูแลสถาบันทางการเงิน ความเป็นอิสระในการดูแลสถาบันการเงินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ลักษณะก็คือต้องการให้เกิดเสถียรภาพมีความมั่นคงกับสถาบันการเงินเหมือนกัน นั่นคือภาพโดยรวม ฉะนั้น อิสระที่ว่าเป็นอิสระของการดำเนินนโยบายการเงิน

“ส่วนกฎหมายการดำเนินนโยบายของ ธปท. หากไปอ่านดูจะเห็นว่าในกฎหมายไม่มีสักคำเดียวที่ใช้คำว่า อิสระ โดยมาตรา 4 ของกฎหมายบอกว่า รัฐมนตรีคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตราที่ 5 ธปท. เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ที่ไม่ใช่เป็นส่วนราชการในเชิงของกฎหมายงบประมาณ แปลว่า ธปท.ใช้วิธีงบประมาณของเขาเอง โดยที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็เป็นผู้สอบบัญชีของแบงก์ชาติ ฉะนั้นถ้าจะบอกว่าเป็นอิสระไหม ถ้าอ่านกฎหมายแบบนี้ คือไม่ใช่ ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ และมีภารกิจของธนาคารกลาง โดยคนที่คุมอยู่ทุกอย่างก็คือ รัฐมนตรีคลัง”

ฉะนั้นจะบอกว่า ธปท.เป็นอิสระจากรัฐบาล ไม่ใช่ และต้องทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับเหมาะสม แต่ที่กฎหมายฉบับนี้มีความแตกต่างจากเดิมก็คือ “การปลดผู้ว่าการ” ทำได้ยากมาก

ปมใหญ่ ธปท. “เงินเฟ้อ” ไม่เข้าเป้า

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ตามกฎหมาย โดยหลักการจะปลดผู้ว่าการทำได้ 2 กรณีเท่านั้น คือ ผู้ว่าการไม่มีศักยภาพในการทำงาน หรือผู้ว่าการทุจริตทำความผิดที่ร้ายแรง ขณะที่ในอดีตที่มีการปลดผู้ว่าการ ด้วยความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายเดิม แต่ปัจจุบันทำไม่ได้เพราะมีการปรับแก้กฎหมายไว้แบบนี้

เรื่องที่มีกระแสจะแก้กฎหมายเพื่อลดความเป็นอิสระของแบงก์ชาตินั้น ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า คงไม่มีความจำเป็น เพราะเจตนารมณ์ของกฏหมายชัดเจนว่าแบงก์ชาติต้องร่วมทำงานกับรัฐบาล แล้วก็ร่วมกันกำหนดเป้าเงินเฟ้อด้วย แล้วถ้าเงินเฟ้อไม่เข้าเป้า แบงก์ชาติก็มีหน้าที่ต้องอธิบาย แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากระทรวงการคลังก็ให้ความยืดหยุ่นมาก แบงก์ชาติจะเปลี่ยนเป้าเงินเฟ้อ 2-3 ครั้ง ก็ปล่อยให้เปลี่ยน แม้จะเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่เข้าเป้า

“สมมุติว่าปลายปีนี้เงินเฟ้อไม่กระเตื้องขึ้นเลย เศรษฐกิจไม่ฟื้น แบงก์ชาติก็จะรู้ ทุกคนก็จะรู้ว่าเศรษฐกิจภายใต้ดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% สูงเกินไป แล้วแบงก์ชาติก็จะต้องยอมลดดอกเบี้ยภายหลัง แต่ปัญหาคือก็จะสายเกินไปแล้ว เศรษฐกิจค่อนข้างที่จะตกต่ำเกินไปมาก และการสูญเสียศักยภาพทางเศรษฐกิจ แทนที่ GDP จะโตได้ 3% ก็โตได้แค่ 0.5% ซึ่ง 1.5% ที่หายไปก็ประมาณ 2 ล้านล้านบาท ก็อยากจะให้แบงก์ชาติคิดให้ดี”

แก้กฎหมาย ธปท.ฉุดเชื่อมั่น

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า มีเหตุผลว่าทำไมการดำเนินนโยบายการเงินจึงควรมีอิสระ เปรียบไปก็เหมือนการที่เรารู้ว่า การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าให้เลือกระหว่างออกกำลังกายกับนั่งดื่มเบียร์ เวลาให้ตัดสินใจในระยะสั้น ๆ คนก็จะเลือกกินเบียร์ก่อน โดยนโยบายเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน ทุกคนรู้ว่าการทำนโยบายให้มีเสถียรภาพเป็นเรื่องที่ดี แต่หากต้องตัดสินใจนโยบายในระยะสั้น ก็มักจะขอกระตุ้นก่อน

“ดังนั้น เป้าหมายนโยบายเศรษฐกิจ ต้องแยกกันระหว่างคนที่เน้นเรื่องการเติบโตซึ่งก็คือรัฐบาล กับธนาคารกลางที่คุมด้านเสถียรภาพ”

เมื่อพูดถึงเรื่องความเป็นอิสระของแบงก์ชาติจะมี 2 ประเด็น คือ 1.อิสระบนเป้าหมายที่ได้รับมา ที่ตกลงกับรัฐบาลแล้ว ว่าจะบริหารจัดการเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเท่านี้ ในมุมนี้ ธปท.ก็ควรมีอิสระในการบริหารจัดการเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ และ 2.ความเป็นอิสระ ก็ต้องไม่ใช่แบบเป็นประเทศราช แต่ต้องรับผิดชอบเป้าหมายที่ได้รับมา มีความโปร่งใสในการตัดสินใจทางเลือกต่าง ๆ ตราบใดที่ ธปท.สามารถรักษากรอบเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ได้ รัฐบาลก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งตรงนี้

“แบงก์ชาติตัดสินใจอะไรไป ก็ควรต้องอธิบายได้ว่า ต้นทุนจากการเลือกแต่ละทางคืออะไร ยิ่งหากอธิบายทางเลือกให้ประชาชนได้รับรู้ได้ดีแค่ไหน ก็เป็นเรื่องที่ดี จุดที่สำคัญก็คือทุกคนมีสิทธิจะวิจารณ์การทำงานของ ธปท.ได้ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ ไม่ใช่แตะไม่ได้ แต่ควรถกเถียงกันบนหลักการ บนผลกระทบในเชิงนโยบาย แต่หากจะไปแก้กฎหมายเพื่อลดความอิสระ ตรงนี้ผมว่าเป็นจุดที่จะเริ่มน่ากังวล นักลงทุนก็จะกังวล” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ธปท.ยังต้องการความเป็นอิสระ

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในมุมมองส่วนตัวเชื่อว่า ธปท.ยังต้องการความเป็นอิสระ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งบางครั้งอาจจะต้องมองภาพรวม หากนโยบายการคลังทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ หรือทำงานหนักเกินไป นโยบายการเงินอาจจะต้องมีความยืดหยุ่นด้วย นอกจากเครื่องมือด้านอัตราดอกเบี้ย อาจจะดูในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านมาตรการหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อ หรือในมุมอื่นเพื่อให้นโยบายมีความคล่องตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ดี นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดย ธปท. ซึ่งการส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์ และส่งต่อไปยังการปล่อยสินเชื่อ ส่วนนี้ภาครัฐอาจจะเข้ามามีบทบาทในการร่วมมือกับ ธปท. และธนาคารในการอุดหนุนเรื่องสินเชื่อ หรือกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ หรือการขอความร่วมมือแบงก์ในการลดอัตราดอกเบี้ยเช่นที่ผ่านมา สะท้อนความร่วมมือในการทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพของนโยบายเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันหลายคนมีความเป็นห่วง หาก ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ซึ่งอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและอัตราแลกเปลี่ยนได้ ขณะที่การเป็นอิสระก็เคยมีผลกระทบที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เช่น ปี 2554-2555 ในช่วงนั้นเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างรุนแรง หรือช่วงก่อนโควิด-19 เงินบาทแข็งค่าทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการส่งออก แม้ว่าปัจจุบันเงินบาทจะอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามกลไกตลาด แต่อยากให้กระทรวงการคลังและ ธปท.ปรับนโยบายในการร่วมมือกันเพื่อดูแลทิศทางค่าเงิน

“หลายคนถกถียงว่าแบงก์ชาติไม่ควรถูกแทรกแซงจากทางการเมือง เนื่องจากการเมืองหวังผลระยะสั้น แต่บทบาทของ ธปท. คือดูแลเสถียรภาพระยะยาว ไม่ตอบโจทย์ระยะสั้น ที่จะสร้างความเสียหายระยะยาว ซึ่งมองว่านโยบายเศรษฐกิจควรมีการพูดคุยกันในมุมของคลังและ ธปท. ซึ่งจะเป็นผลเชิงบวกมากกว่า เพราะตอนนี้เริ่มมีการแบ่งฝ่าย ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่นได้ เช่นเดียวกับการรักษาความเป็นกลางได้ จะช่วยเรื่องความเชื่อมั่น”