เปิดโฉมบิ๊กธุรกิจแห่ชิง 200 สว. ท่องเที่ยว-SME คึกฝ่าด่านหิน

สว.

นักธุรกิจ-คนดังเปิดตัวลงชิง 200 สว. สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวตื่นตัวทั่วประเทศ หวังปิดจุดอ่อนกฎหมาย-แก้ทัวร์หลอกลวง ดันรายได้สู่ชุมชน ปั้นโมเดลเศรษฐกิจท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ “ภาวุธ” ผู้ก่อตั้ง ตลาดดอตคอม หวังลดขาดดุลดิจิทัล ปิดทางทะลักสินค้าจีน ตัดวงจรผูกขาดอีคอมเมิร์ซต่างชาติ เชียงใหม่สุดคึก ธุรกิจแสนกว่ารายส่งตัวแทนลงชิงตำแหน่ง

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ แทนที่ สว.ชุดเก่า 250 คน ที่หมดวาระ 11 พ.ค. 2567 คาดว่าจะมีการรับสมัครช่วงกลางเดือน พ.ค. และเริ่มเลือกตั้งกันเอง 3 ระดับ ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.-26 มิ.ย. และประกาศผลระดับประเทศ ก.ค. 67

คนท่องเที่ยวตื่นตัวทั่วประเทศ

นายกิตติ พรศิวะกิจ กรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสการสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) สำหรับกลุ่มผู้สมัครในกลุ่มที่ (11) อาชีพผู้ประกอบธุรกิจ หรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการ หรือพนักงานโรงแรม ได้รับความสนใจจากคนท่องเที่ยวอย่างมาก

โดยหลายคนประกาศชัดเจนแล้ว อาทิ นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคม รวมทั้งประธานสภาท่องเที่ยวในต่างจังหวัด และนายกสมาคมท่องเที่ยวในพื้นที่ อีกไม่ต่ำกว่า 50 จังหวัด

“สภาท่องเที่ยวได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลกับสมาชิกที่ให้สนใจ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก นับเป็นปรากฏการณ์ที่จะมีคนท่องเที่ยวให้ความสนใจที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในเชิงนโยบาย ซึ่งทุกคนที่เปิดตัวมีคุณสมบัติ มีประสบการณ์ และมีองค์ความรู้ทั้งสิ้น” นายกิตติกล่าว

Advertisment

สกัดทัวร์ศูนย์เหรียญ

นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าจะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านเกิดอยู่ในภาคการท่องเที่ยวมานานกว่า 30 ปี และได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐมาเกือบ 20 ปี โดยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

นอกจากนี้ยังร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวอีกหลายคณะ เช่น ประธานคณะทำงานพิจารณามาตรฐานราคาขั้นต่ำตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯ คณะกรรมการกองทุนเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

“ผมอยู่กับกฎหมายท่องเที่ยวมานาน เห็นปัญหาของธุรกิจท่องเที่ยวมาโดยตลอด ทั้งประเด็นทัวร์ไม่มีคุณภาพ จุดอ่อนของ พ.ร.บ.นำเที่ยวฯ ที่ให้บริษัทนำเที่ยวจดทะเบียนเปิด-ปิดได้ง่ายเกินไป ปัญหาการหลอกขายทัวร์แล้วไม่ได้เดินทาง การบริหารจัดการของภาครัฐ ฯลฯ นอกจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ผมยังโอกาสทำงานร่วมกับต่างชาติ ทำให้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย จึงเชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่มีความรู้และเข้าใจบริบทของ สว. ว่าต้องทำงานอย่างไร” นายสุรวัชกล่าว

ขณะที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวมีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลเรื่องคนเข้าเมือง เรื่องความมั่นคง กระทรวงคมนาคม ดูแลเรื่องการขนส่งนักท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ควบคุมดูแลได้เพียงแค่บริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เท่านั้น

Advertisment

นายสุรวัชกล่าวถึงแผนงานหากมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในฐานะ สว. ด้วยว่า มีประเด็นที่จะนำเสนอเร่งด่วน 3-4 เรื่องหลัก ซึ่งเป็นประเด็นที่ผลักดันมาตลอด ได้แก่ 1.ผลักดันการจัดเก็บภาษีขาเข้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อนำรายได้มาดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.จัดการเรื่องทัวร์ไม่ได้คุณภาพ เพื่อให้เงินรายได้จากการท่องเที่ยวหมุนเวียนอยู่ในประเทศให้ได้มากที่สุด

3.แก้ระบบภาษีบริษัทนำเที่ยว โดยยกเว้นภาษีแวตหรือให้บริษัทนำเที่ยวเคลมแวตคืนได้เช่นเดียวกับธุรกิจส่งออก เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเตอร์ที่ดึงเงินเข้าประเทศเช่นกัน และ 4.สนับสนุนการสร้างท่าเรือหลัก หรือ Home Port รองรับการท่องเที่ยวทางเรือครุยส์ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงท่าจอดเรือยอชต์หรือเรือครุยส์ (Port of Call) และมารีน่าชุมชน ทั้งนี้ เพื่อช่วยกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้ลงสู่ชุมชน

หวังขับเคลื่อนท่องเที่ยวตรงเป้า

เช่นเดียวกับ นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะลงสมัครในพื้นที่เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ โดยมองว่าระเบียบมีกำหนดสาขาอาชีพที่ชัดเจน จึงน่าจะเป็นโอกาสที่คนท่องเที่ยวจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ที่ผ่านมามีหลายประเด็นที่รู้สึกว่าคนออกกฎหมายไม่เข้าใจธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้เวลานำมาปฏิบัติไม่ได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือไม่สอดรับกับภาคปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับกติกาในการเลือกค่อนข้างซับซ้อนมาก แต่ก็เชื่อมั่นว่าหากมีตัวแทนของคนท่องเที่ยวเข้าไปมีส่วนช่วยในการกำหนดนโยบาย จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

มุ่งกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ด้านนายวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ อดีตนายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เตรียมลงสมัครเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในพื้นที่เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อผลักดันให้เกิดโครงการที่สร้างการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว

โดยมีแผนผลักดันในด้านการกระจายรายได้ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ท้องถิ่นทุกจังหวัด อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนนำพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้เดินหน้า รวมถึงเสนอแนะให้มีการจัดทำโมเดลด้านเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เน้นสร้างความรู้ ความเข้าใจในแบบทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไปยังผู้ประกอบการและมัคคุเทศก์ในเครือข่าย ซึ่งจะถือเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพ คุณธรรม และจรรยาบรรณเพิ่มมากขึ้น

“ยอมรับว่าเป็นกังวลในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นระหว่างระดับเขตและระดับอำเภอ เนื่องจากรับรู้ถึงปัญหาของคนในสังคมไทย แต่หากได้มีโอกาสรับใช้ประชาชนจะไม่คิดหาผลประโยชน์แต่อย่างใด และพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาล ช่วยเร่งแก้ไขปัญหา และช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง”

“ภาวุธ” ลุ้นดิจิทัลพลิกประเทศ

ด้าน นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง “ตลาดดอตคอม” เว็บไซต์ขายของออนไลน์ เปิดตัวลงสมัคร สว. ตั้งเป้าหมายว่า ไทยควรมีมาตรการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท จะช่วยคัดกรองสินค้าที่ไม่มีคุณภาพก่อนเข้าไทยได้เป็นจำนวนมาก และจะผลักดันเรื่องการขาดดุลดิจิทัล ปิดกั้นการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน และการผูกขาดของอีคอมเมิร์ซต่างชาติ

“ตัดสินใจว่าการเข้าไปอยู่ในกลไกของ สว. จากกลุ่มอาชีพเทคโนโลยีน่าจะช่วยผลักดันเรื่องต่าง ๆ โดยใช้ประสบการณ์การทำธุรกิจด้านดิจิทัลมาสร้าง New S-curve หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับประเทศได้มากขึ้น”

SME แสนคนส่งตัวแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า ขณะนี้ได้มีการตื่นตัวและเตรียมพร้อมการลงรับสมัคร สว. โดยเฉพาะธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งมีผู้ประกอบการกว่า 1 แสนราย 2.กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว

เผยขั้นตอนเลือก 3 ชั้น สุดหิน

สำหรับวิธีการเลือก สว. มีอยู่ 3 ด่านสำคัญ ดังนี้ ด่านแรก เลือกในระดับอำเภอ จำนวน 928 อำเภอ แบ่งการเลือกเป็น 2 รอบ เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) โดยผู้สมัคร 1 คน สามารถโหวตเลือกได้ 2 หมายเลข เช่น จะโหวตให้ตัวเองก็ได้ และลงคะแนนให้ผู้สมัครคนอื่นในกลุ่มเดียวกันได้ 1 คะแนน โดยการโหวตจะต้องใส่ตัวเลขอารบิก ไม่ใช่การกากบาท จากนั้นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 1-5 ของแต่ละกลุ่มจะผ่านเข้ารอบที่ 2

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งสาย 4 สาย แต่ละสายจะต้องมี 3-5 กลุ่มอาชีพ โดยผู้สมัครสามารถเลือกเพื่อนผู้สมัครจาก “กลุ่มอื่น” ที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกจาก “กลุ่มเดียวกัน” หรือ “เลือกตัวเอง” ไม่ได้ ดังนั้น ผู้สมัคร 1 คน จะโหวตได้ 4 คะแนน เพื่อโหวตให้ผู้สมัครที่อยู่กลุ่มอื่น กลุ่มละ 1 โหวต

ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ของ 20 กลุ่ม จาก 928 อำเภอ จะผ่านเข้ารอบไปเลือกในระดับอำเภอ ในกลุ่มที่ตนเองสมัคร ทั้งนี้ จะมีผู้สมัครผ่านเข้ารอบนี้ 55,680 คน (สูตร 928x20x3)

สู้ระดับจังหวัดอีก 2 รอบ

การเลือกในด่านที่สอง ระดับจังหวัด วิธีการเลือกแบ่งเป็น 2 รอบ แบ่งเป็น เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่ม สามารถเลือกตนเองได้ และลงคะแนนให้คนอื่นได้ 1 คะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น ผ่านเข้าไปเลือกรอบ 2

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งสาย 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครจาก “กลุ่มอื่น” ที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกจาก “กลุ่มเดียวกัน” หรือ “เลือกตัวเอง” ไม่ได้ ซึ่งผู้สมัคร 1 คน จะโหวตได้ 4 คะแนน เพื่อโหวตให้ผู้สมัครที่อยู่กลุ่มอื่น กลุ่มละ 1 โหวต เช่นเดิมเหมือนกับที่เลือกระดับอำเภอ

แต่ในระดับจังหวัดนั้น ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก ของ 20 กลุ่มอาชีพ ใน 77 จังหวัด จะเป็นผู้ที่ถูกเลือกระดับจังหวัด ในกลุ่มนั้น เพื่อไปเลือก สว.ระดับประเทศ โดยมีผู้ผ่านเข้ารอบไปเลือกระดับประเทศ 3,080 คน (สูตร 20x2x77)

ระดับประเทศเลือกพวกเดียวกัน

การเลือกตั้งในด่านที่ 3 ระดับประเทศ แบ่งเป็น 2 รอบเช่นเดิม แต่วิธีการต่างไป เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัดมาแข่งระดับประเทศ จะเลือกกันเองในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน สามารถ “เลือกตัวเองได้” แต่จะลงคะแนนให้กับคนอื่นเกิน 1 คะแนนไม่ได้ จึงเท่ากับ 1 คนสามารถโหวตได้ 10 คะแนน

จากนั้น ผู้ที่ได้รับเลือก 1-40 ของกลุ่ม จะเข้าไปเลือกรอบที่ 2 ต่อไป แต่ถ้ากลุ่มไหนไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่ จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งออกเป็น 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถลือก “ผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน” กลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน หรือเลือกตัวเอง ไม่ได้

ดังนั้นถ้าในแต่ละสายมี 5 กลุ่ม ผู้สมัครก็จะมีสิทธิโหวต 20 โหวต ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว. จำนวน 200 คน โดยสูตรคำนวณ 20 กลุ่มอาชีพ x10 คนจากกลุ่มอาชีพ จะได้ 200 คน

สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น โดย สว.สำรองจะมีจำนวน 100 คน