สว.ชุดใหม่มาจากไหน ใครสมัครได้บ้าง ผู้มีสิทธิ์เลือกประกอบด้วยบุคคลใด

สว.ที่มาจาการแต่งตั้งของ คสช. กำลังจะสิ้นสุดการทำงานในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ซึ่งมีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่มีพระราชโองการแต่งตั้ง หลังจากนั้นจะมีการคัดเลือก สว.ชุดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน นั่นก็คือ “การเลือกกันเอง”

วันที่ 3 มีนาคม 2567 เหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือน สมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ที่อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2562 จะสิ้นสุดการทำงานในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ซึ่งรวมแล้วมีอายุ 5 ปี ก็จะสิ้นสุดวาระของ สว.ชุดพิเศษ เพื่อให้สว.ชุดถัดไปที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 เข้ามาทำหน้าที่แทน

เลขา กกต.แจงข้อกฎหมาย เลือก สว.ชุดใหม่

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “รัฐธรรมนูญ (ไม่ใช่ กกต.) บอกว่า 1. ประชาชน “ไม่มีสิทธิเลือก” เพราะ “ไม่ใช่การเลือกตั้ง” 2. เลือกจากการแนะนำตัวไม่ใช่การหาเสียง 3. เลือกจากอดีต ไม่ใช่เลือกจากอนาคต แต่เป็นการเลือกเพื่ออนาคต 4.ห้ามพรรคการเมืองยุ่ง และผู้สมัครก็อย่าไปยอมให้พรรคการเมืองมายุ่ง

ทั้งนี้ แนะนำตัวบอกว่าเราเป็นใคร จบการศึกษาอะไร มีประวัติและประสบการณ์การทำงานอย่างไร ตามแบบ สว.3 แต่ถ้าบอกว่าจะเข้าไปทำอะไร ซึ่งเป็นเรื่องอนาคตอาจเข้าข่ายลักษณะของการหาเสียง ดังนั้น การแนะนำตัวทางโซเชียล เช่น เฟซบุ๊กก็ต้องอยู่ในหลักการเดียวกันกับแบบ สว. 3 จะไปจัดตั้งกลุ่ม หรือฮั้วกัน ที่เข้าข่ายเป็นการหาเสียงหรือให้ประโยชน์แก่กันไม่ได้”

นายแสวง ระบุต่อว่า เลือกจากอดีต การเลือก สว. เป็นการเลือกกันเองของผู้ทรงคุณวุฒิ สิ่งที่บอกว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิคือ มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีประวัติการศึกษาหรือประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างไร ไม่ใช่เลือกจากอนาคต ว่าจะเข้าไปทำอะไร

ส่วนประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิเลือก รัฐธรรมนูญ(ไม่ใช่ กกต.) กำหนดให้ผู้สมัครเลือกกันเอง 3 ชั้น คือ อำเภอ 928 อำเภอ 20 กลุ่มสาขาอาชีพ ระดับจังหวัด 77 จังหวัด เหลือ 55,680 คน จากระดับอำเภอ และระดับประเทศเหลือ 3,080 คน จากระดับจังหวัด และเลือกให้ 200 คน เพื่อเป็น สว. เป็นตัวแทนกลุ่มสาขาอาชีพกลุ่มละ 10 คน และสำรองอีก 100 คน เป็นสำรองกลุ่มละ 5 คน

“ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิเลือก แต่แม้ไม่มีสิทธิเลือกคนไทยทุกคนก็ดูแลชาติได้ ห้ามพรรคการเมืองยุ่ง เพราะต้องการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางทางการเมือง และผู้สมัครเองก็ต้องไม่ยอมให้พรรคการเมืองเข้ามายุ่งเช่นเดียวกัน” เลขากกต.ระบุ

คุณสมบัติผู้สมัคร สว.

คุณสมบัติการสมัคร สว.ระเบียบการสมัคร กกต.ระบุเอาไว้ดังนี้

1.ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด

2.ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก

3.มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี ไม่นับรวมกลุ่มที่ 8 คือ กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์

4.ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก

5.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร

6.เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร

7.เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี

8.เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา

ลักษณะต้องห้ามการสมัคร สว.

ระเบียบ กกต. ข้อ 53 กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ต้องการจะสมัคร สว.ไว้ ประกอบด้วย

1.ติดยาเสพติดให้โทษ

2.เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

3.เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

4.เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

5.อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

6.วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

7.อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

8.ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

9.เคยได้รับโทษจำคุก โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ ยกเว้นความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

10.เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

11.เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

12.เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์ หรือการฟอกเงิน

13.เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

14.อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

15.เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

16.เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

17.เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการเสนอ การแปรญัตติ หรือ การกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่าย

18.เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

19.เป็นข้าราชการ

20.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็น สส. มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก

21.เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

22.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก

23.เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก

24.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก

25.เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง สส. สว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ

26.เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ

20 กลุ่มอาชีพ สว. ที่สมัครได้

1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ

2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย

3.กลุ่มการศึกษา เช่น เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา

4.กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร

5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก

6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง

7.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน

9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ

10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9)

11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม

12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

14.กลุ่มสตรี

15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น

16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง

17.กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์

18.กลุ่มนักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม

19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ

20.กลุ่มอื่นๆ

ขั้นตอนการเลือกระดับอำเภอ

รอบ 1 เลือกในกลุ่มเดียวกัน

-เมี่อผู้สมัครครบ 20 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีผู้สมัครเกิน 5 คน และต้องรายงานตัวเกิน 5 คน

การลงคะแนน

-เริ่มเมื่อผู้สมัครของแต่ละกลุ่มรายงานตัวครบ

-ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน จะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้

การนับคะแนน

-นับคะแนน ณ สถานที่เลือกหลังปิดการลงคะแนน

ผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้น

-ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 1-5 ของแต่ละกลุ่ม(จะมีผู้ที่ผ่านการเลือกไปสู่การเลือกรอบสอง รวมทั้งสิ้น 5 x 20 = 100 คน)

การเลือกในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน รอบ 2

-แบ่งเป็น 4 สาย โดยผอ.การเลือกระดับอำเภอ จัดให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มจับสลากว่ากลุ่มของตนจะอยู่ในสายใด (สมมุติฐานแบ่งเป็น 4 สาย สายละ 5 กลุ่ม)

การลงคะแนน

-ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น เลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่น ที่อยู่ในสายเดียวกัน ได้กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้

-การนับคะแนน

นับคะแนน ณ สถานที่เลือกหลังปิดการลงคะแนน

ผู้ที่ได้รับเลือกระดับอำเภอ

ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม(จะมีผู้ที่ผ่านการเลือกไปสู่การเลือกระดับจังหวัด รวมทั้งสิ้น 3 x 20 = 60) รวมทั้งประเทศ 60 x 928 = 55,680 คน

ขั้นตอนการเลือก สว.ระดับอำเภอ

ขั้นตอนการเลือกระดับจังหวัด

การเลือกในกลุ่มเดียวกัน รอบ 1

การลงคะแนน

-เริ่มเมื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอของแต่ละกลุ่มรายงานตัวครบหรือเมื่อพ้นเวลา 9.00น. และ ผอ.การเลือกระดับจังหวัดได้ประชุมชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการลงคะแนนให้ผู้สมัครได้รับทราบ

-ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน จะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้

การนับคะแนน

-นับคะแนน ณ สถานที่เลือกหลังปิดการลงคะแนน

ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น

ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับ 1-5 ของแต่ละกลุ่ม (จะมีผู้ที่ผ่านการเลือกไปสู่การเลือกรอบสองรวมทั้งสิ้น 5 x 20 = 100 คน)

การเลือกในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน รอบ 2

แบ่งสาย 4 สาย

-ผอ.การเลือกระดับจังหวัด จัดให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มจับสลากว่า กลุ่มของตนจะอยู่ในสายใด

การลงคะแนน

ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่น ที่อยู่ในสายเดียวกันได้กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้

การนับคะแนน

นับคะแนน ณ สถานที่เลือกหลังปิดการลงคะแนน

ผู้ที่ได้รับเลือกระดับจังหวัด

ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด2 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม(จะมีผู้ผ่านการเลือกไปสู่การเลือกระดับจังหวัด รวมทั้งสิ้น 2 x 20 = 40 คน) รวมทั้งประเทศ 40 x 77 = 3,080 คน (กลุ่มละ 2 x 77 = 154)

ขั้นตอนการเลือก สว.ระดับจังหวัด

ขั้นตอนการเลือกระดับประเทศ

-การเลือกในกลุ่มเดียวกัน (รอบ1)

-มีผู้ได้รับการเลือกระดับจังหวัดมารายงานตัวแต่ละกลุ่มเกิน 40 คน

การลงคะแนน

-ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน จะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้

การนับคะแนน

-นับคะแนน ณ สถานที่เลือกหลังปิดการลงคะแนน

-ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น

-ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-40 ของแต่ละกลุ่มจะมีผู้ที่ผ่านการเลือกรอบสองรวมทั้งสิ้น 40 x = 800 คน

การเลือกในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน(รอบ 2)

แบ่งสาย 4 สาย โดยผอ.การเลือกระดับประเทศ จัดให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มจับฉลากว่ากลุ่มของตนจะอยู่สายใด (สมมติฐานแบ่งเป็น 4 สาย สายละ 5 กลุ่ม)

การลงคะแนน

-ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่น ที่อยู่ในสายเดียวกันได้กลุ่มละ 5 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้

การนับคะแนน

-นับคะแนน ณ สถานที่เลือกหลังปิดการลงคะแนน ต่อมา ผอ.การเลือกระดับประเทศรายผลการนับคะแนน ต่อ กกต. แล้วกกต.รับรายงานผลคะแนน (ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน) พ้นกำหนดเวลาถ้า กกต.เห็นว่า การเลือกถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม

-ต่อมาจะประกาศผู้ได้รับคะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่มเป็นสมาชิกวุฒิสภา รวม 200 คน ผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มอยู่ในบัญชีสำรองรวม 100 คน และสุดท้ายแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบ

ขั้นตอนการเลือก สว.ระดับประเทศ

ครั้งแรกในไทย เลือกกันเอง สว.ชุดที่ 13

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยนั้น ตั้งแต่สว.ชุดแรก มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งต่อมา ชุดที่ 2-7 มาจากการแต่งตั้ง ส่วนสว.ชุดที่ 8 และ 9 ใช้วิธีการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ชุดที่ 10 และ 11 ใช้การเลือกตั้งผสมสรรหา และสว.ชุดที่ 12 ที่จะหมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นั้น มาจากการแต่ตั้งของคณะ คสช. จำนวน 250 คน

เมื่อ สว.ชุดปัจจุบันหมดวาระลง สว.ชุดที่ 13 จะใช้วิธีการเลือกกันเอง โดยเป็นวิธีที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ข้อมูล : กกต.,Ilaw