แอสตร้าเซนเนก้า ย้ำความสำคัญวัคซีนเข็ม 3

ฉีดวัควีน

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีส่วนสำคัญที่คุมให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 แอสตร้าเซนเนก้า หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ย้ำความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยระบุว่า

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนไม่น้อย และยังมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 หลายสิบคนทุกวัน

ดังนั้นการป้องกันตนเองและครอบครัวจึงยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากช่วยป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค เพื่อไม่ให้เข้าสู่ระดับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิต

ไวรัสกลายพันธุ์…ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

การกลายพันธุ์ของไวรัสอาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีน 2 เข็มแรกลดลง ดังนั้นถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกแล้ว ก็มีความจำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน เพราะหากไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงมีโรคประจำตัวก็อาจจะมีความเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงจากโควิด-19 ได้

แม้ว่าจะมีผลการวิจัยออกมาให้เห็นแล้วว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ที่มีแนวโน้มต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงการเสียชีวิตได้ และมีการรณรงค์จากทั้งภาครัฐและเอกชนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น

แต่รายงานสรุปผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 คิดเป็น 41.6% ของจำนวนประชาชนทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งหมายความว่ายังมีประชากรไทยอีกเกือบ 60% ไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3

เลือกวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ต้องพิจารณาอย่างไร?

การเลือกวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 สามารถพิจารณาตามคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข โดยการฉีดเข็มกระตุ้นนั้น มีข้อมูลการศึกษาที่บ่งบอกถึงประสิทธิผล (Vaccine Effectiveness) ที่ดีใกล้เคียงกันในทุกสูตร โดยประสิทธิผลของวัคซีน จะเป็นการดูผลการป้องกันของวัคซีนในชีวิตจริงที่มีการใช้มาอย่างมากมายในประชากรวงกว้าง ทั้งในการป้องกันการติดเชื้อ ลดโอกาสในการเกิดโรครุนแรง รวมถึงการเสียชีวิตจากโควิด-19

จุดสิ้นสุดของวิกฤตโรคระบาด

จุดสิ้นสุดในทีนี้ไม่ได้หมายความว่าโควิด-19 จะหายไป ทว่ามันอาจจะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” (Endemic) ที่ยังคงระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ แต่สามารถควบคุมไม่ให้แพร่เป็นวงกว้างได้

ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดความรุนแรงของการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว รวมถึงประชาชนทั่วไปก็ควรได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ตามลำดับ เพื่อจำกัดการระบาดในวงกว้าง

จากการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนจากการใช้จริงทั่วโลก แสดงให้เห็นชัดเจนว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัล เวคเตอร์ และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ ลดการเจ็บป่วยหนักในระดับที่ต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้สูงไม่แตกต่างกัน

อีกทั้งขณะนี้สหภาพยุโรปอนุมัติแล้วว่าสามารถใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้ หลังจากที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีน mRNA