เครื่องใช้ไฟฟ้ายอดขายสะดุด บาทอ่อน ดันต้นทุนพุ่ง-พึ่ง 0% ปลุกจับจ่าย

เครื่องใช้ไฟฟ้า

เครื่องใช้ไฟฟ้า 2.4 แสนล้านส่อเค้าสะดุดหลังปัจจัยลบรุมเร้าหนัก “เงินเฟ้อพุ่ง น้ำมันแพง บาทอ่อนค่า” กระทบยอดขาย ทำต้นทุนพุ่ง เผยเดือน มิ.ย.ตัวเลขแผ่ว 6 เดือน “เครื่องซักผ้า-ตู้เย็น-ทีวี” วูบ “แอลจี” กัดฟันตรึงราคา ลดโปรฯสู้พิษต้นทุนพุ่ง เพิ่มน้ำหนักผ่อน 0% กระตุ้นยอด

“โตชิบา” ปรับแผนมุ่งขนสินค้าชูฟังก์ชั่น IOT เจาะตลาดกลาง-บน เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กรับสภาพตลาดซึมยอดร่วง 5-7%

ที่ผ่านมาตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกคาดการณ์ว่าปีนี้จะเติบโต 15-20% จากมูลค่าตลาดรวมราว 2 แสนล้านบาท ขยับเป็น 2.4 แสนล้านบาท ด้วยแรงหนุนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ช่องทางขายต่าง ๆ สามารถกลับมาเปิดกิจการได้เหมือนเดิม

โดยช่วง 4-5 เดือนแรกที่ผ่านมาตัวเลขเติบโต 8-10% แต่ล่าสุดจากปัจจัยลบต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มส่งผลให้ตลาดชะลอตัวลงซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์สูง ตัวเลขเงินเฟ้อที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย

ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ยอดขายออกอาการสะดุด

นายอำนาจ สิงหจันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาเริ่มเห็นผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับกลาง โดยผู้บริโภคชะลอการใช้เงินทำให้ยอดขายลดลง และดีมานด์มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

สอดคล้องกับตัวเลขตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในภาพรวมช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.) ยอดขายเครื่องซักผ้าและตู้เย็นต่างลดลง 0.8% ส่วนทีวีลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับปี 2564 และยอดขายของบริษัทในเดือน มิ.ย.ลดลงในระดับตัวเลข 1 หลักเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลังเบื้องต้นขณะนี้ยังคาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากช่วง 10 วันแรกของเดือน ก.ค.นี้ยอดขายบริษัทดีดกลับมาโดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นท่องเที่ยวในภาคใต้-ตะวันออก เช่น สมุย พัทยา เป็นต้น

ส่วนหนึ่งอาจมีปัจจัยหนุนมาจากกลุ่มผู้ประกอบการที่พักให้เช่าเริ่มมีการอัพเกรดของใช้ต่าง ๆ ส่วนภาคเหนือและอีสานยังไม่ฟื้นตัว

นอกจากนี้ สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าลงไปถึง 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์สูงถือเป็นปัจจัยที่กระทบกับความสามารถในการจัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการทุก ๆ ค่าย เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นมากกว่า 10%

โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องนำเข้า เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้าฝาหน้า เป็นต้น ขณะที่ราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นกระทบทั้งผู้ขนส่งของบริษัท และการกระจายสินค้าของร้านค้าต่าง ๆ

นายอำนาจกล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นในไตรมาส 3 นี้อาจต้องปรับลดการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ลงเพื่อให้สามารถตรึงราคาสินค้าเอาไว้ และไม่กระทบกับผู้บริโภค หันมาเน้นแคมเปญเงินผ่อน 0% นาน 10-24 เดือนมากขึ้น รวมถึงแคมเปญซื้อคู่ราคาพิเศษ เช่น เครื่องซักผ้าคู่กับเครื่องอบผ้า เป็นต้น

“คาดว่าเดือน ก.ค.จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงแนวโน้มครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีวันหยุดยาวหลายวันซึ่งปกติจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อหาเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับไปฝากญาติหรือใช้เองในต่างจังหวัดเช่นเดียวกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ยอดขายจากไฮเปอร์มาร์เก็ตมักเพิ่มขึ้น”

“โตชิบา” เบนเข็มเจาะไฮเอนด์

อเล็กซ์ มา รองประธานกรรมการ บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ผลกระทบจากปัจจัยลบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงเงินบาทอ่อนค่าส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% แตกต่างกันไปในแต่ละประเภทสินค้า แต่บริษัทพยายามตรึงราคาสินค้าเอาไว้ให้มากที่สุด

โดยมีแผนจะย้ายฐานการผลิตสินค้าบางกลุ่มมาในไทยเพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์ และป้องกันปัญหาเรื่องค่าเงินในอนาคต รวมถึงพยายามควบคุมและลดต้นทุนค่าขนส่งลงโดยทำสัญญากับบริษัทขนส่งล่วงหน้าเพื่อให้ได้ดีลพิเศษ

ขณะเดียวกัน ก็จะมีการประเมินสถานการณ์และทำแผนต่าง ๆ ถี่ขึ้น เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนสินค้าบางรายการไม่สามารถตรึงราคาไว้ได้และต้องปรับขึ้นราคา บริษัทก็จะอาศัยทำกิจกรรมและโปรโมชั่นอื่นมาสนับสนุนแทน

ส่วนการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง โตชิบามีแผนจะนำสินค้าใหม่กว่า 50 รุ่นเข้ามาทำตลาด ทั้งตู้เย็น เครื่องซักผ้า-อบผ้า เครื่องล้างจาน หม้อหุงข้าว ฯลฯ เน้นจุดเด่นด้านนวัตกรรม เช่น ฟังก์ชั่น IOT หรือการสั่งงานผ่านผู้ช่วยเสมือน เช่น กูเกิลโฮม และอเล็กซ่า ด้วยการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอัจฉริยะ TSmartLife ของบริษัท

โดยมุ่งเน้นการรุกตลาดระดับกลางถึงไฮเอนด์ และปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยจะนำสินค้า IOT เข้าไปวางจำหน่ายในร้านค้าหลักกว่า 100 สาขาทั่วประเทศในปีนี้ และขยายเป็นกว่า 300 สาขาในปีถัดไป เชื่อว่ากลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยให้ยอดขายปี 2565 เติบโต 20%

ชิ้นเล็กชะลอกิจกรรม

ไปในทิศทางเดียวกันกับสถานการณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก นายนรินทร์เดช ทวีแสงพานิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย ฮาเบล อินดัสเตรียล จำกัด ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กแบรนด์ “นิวเวฟ” และทีวี “อัลทรอน” กล่าวว่า ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ตลาดซึมลงเล็กน้อย ยอดขายลดลง 5-7% จากทุกช่องทางทั้งออฟไลน์อย่างห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซออนไลน์

ที่ผ่านมาแม้บริษัทจะทุ่มการทำตลาดทีวีอัลทรอนมากขึ้น หลังจากที่หยุดไปในช่วงโควิดแต่การเติบโตน้อยกว่าที่คาด ปัจจัยน่าจะมาจากปัญหากำลังซื้อและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก และนำเงินไปใช้กับสินค้าจำเป็นอื่น ๆ แทน

และเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ บริษัทจะชะลอแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายลง เนื่องจากเชื่อว่าจะไม่สามารถเอาชนะปัญหากำลังซื้อและมู้ดการจับจ่ายช่วงหน้าฝนที่เป็นโลว์ซีซั่นได้

ขณะเดียวกัน ก็จะเร่งเจรจากับพันธมิตรในการสร้างความร่วมมือตามกลยุทธ์ growth together ที่เคยประสบความสำเร็จในช่วงโควิด เช่น ร่วมกับบาร์บีคิว พลาซ่าทำสินค้าคอลเล็กชั่นพิเศษ เป็นต้น เพื่อรอการตลาดอีกครั้งช่วงไตรมาส 4 ที่เป็นไฮซีซั่นของเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก


“ช่วงไตรมาส 4 นี้อาจจะยังวางใจไม่ได้นัก เนื่องจากมีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมีในช่วงปลายปี อาจเป็นตัวแปรที่สินค้ากลุ่มภาพและเสียงหรือทีวีมาแย่งเม็ดเงินจากเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กไป จากปกติที่จะมีหน้าขายคนละไตรมาสกัน” นายนรินทร์เดชกล่าว