
หมอประสิทธิ์ คณบดีคณะแพทย์ รพ.ศิริราช ยอดป่วยโควิดส่งสัญญาณ ไทยติดเชื้อเพิ่มขึ้น ยันไม่มีล็อกดาวน์ แนะเร่งคุมการติดเชื้อระดับหนึ่ง ชี้ ภูมิต้านทานการติดเชื้อจากวัคซีนเข็ม 3 ลดลง
วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคมเป็นต้นมา จะเห็นตัวเลขผู้ป่วยโควิดแตะครบ 3 ตัวเลข ทั้งปอดอักเสบเกิน 800 กว่าราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 400 กว่าราย และเสียชีวิต 30 รายแล้ว เป็นสัญญาณว่ามีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- หุ้นกู้ออกใหม่เดือน ธ.ค. บริษัทแห่ระดมทุน จูงใจจ่ายดอกเบี้ยสูง 7%
กลุ่มผู้มีอาการหนักและเสียชีวิตทั้งหมดยังเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ อายุมาก กับฉีดวัคซีนไม่ครบ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ต่างประเทศก็เช่นกัน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำตอนนี้ คือ คุมการติดเชื้อระดับหนึ่ง
ยันไม่มีล็อกดาวน์
“เราคงไม่มีการล็อกดาวน์แน่นอน กิจกรรมต่าง ๆ คงต้องดูความสมดุลระหว่างสุขกับเสี่ยง อยากสุขเยอะก็จะเสี่ยงเยอะ หากอยากสุขเยอะแล้วปลอดภัยก็ต้องทำให้เสี่ยงน้อยลง เช่น รีบไปฉีดวัคซีน ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ถ้าเราอยากให้เสี่ยงเยอะสุขก็จะน้อยลง สุดท้ายก็จะเกิดการติดเชื้อ หรือบางคนอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเข็ม 3 ลดลง
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า หากทำให้สุขกับเสี่ยงสมดุลก็ยังคงผ่านช่วงตรงนี้ไปได้ จึงอยากจะย้ำเตือนถึงการฉีดวัคซีน ข้อมูลตอนนี้จะเห็นว่า 3 เข็มลดการติดเชื้อไม่ได้มาก แต่ยังลดความรุนแรงได้ แต่หากต้องการลดการติดเชื้อต้องฉีด 4 เข็ม โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยง คนที่ฉีด 3 เข็มตอนนี้เชื่อว่าภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4-BA.5 ที่ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในไทยขณะนี้ พบว่าภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อจากการฉีดวัคซีนลดลงประมาณ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับ BA.1-BA.2
เมื่อถามถึงที่เคยเสนอให้สวมหน้ากากในพื้นที่เสี่ยง ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า จะเห็นว่าหลายประเทศขณะนี้ก็เริ่มกลับมาให้สวมหน้ากาก เพราะเริ่มเป็นห่วง เนื่องจากหลายคนไปชะล่าใจคิดว่า เชื้อไม่รุนแรงจึงปล่อย แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อจำนวนมาก ที่สำคัญคือเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ใหม่อีก เชื้อโคโรนาไวรัสเมื่อถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนในเวลาที่เร็วและจำนวนมาก ๆ บ่อยครั้งทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ หากเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงก็จะเดือดร้อนกันอีก
“อยากชวนคนไทยให้กลับมาดูแลตนเอง สร้างสมดุลระหว่างสุขกับเสี่ยง คิดให้ดี เพราะความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เท่ากัน คนที่ไม่ฉีดวัคซีนเลยหรือฉีดน้อยมากก็จะมีความเสี่ยงสูง จะไปสุขเยอะ ๆ เหมือนคนที่ฉีดวัคซีนมากกว่าก็คงไม่ได้ จึงไม่ควรจะไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีผู้คนจำนวนมาก หากอยากจะสุขเยอะก็ต้องลดความเสี่ยงลงให้มากที่สุดด้วยการฉีดวัคซีน ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ก็จะมีโอกาสไปร่วมกิจกรรมในสังคมอื่น ๆ ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว