
โตโยต้าสวนกระแสตลาดรถยนต์ซบแจกโบนัส 7.8 เดือน พ่วงเงินพิเศษ 40,000 บาท แถม แอดออนคนละ 8,000 บาท ด้านประธานสหภาพเผยข้อเรียกร้อง เจรจาเสนอยืดอายุเกษียณงานอีก 2 ปีขยายเป็น 60 ปี ด้านสภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหวังใช้เป็นค่ามาตรฐานค่ายรถอื่นดูแลพนักงาน แย้มยังห่วงพนักงานค่ายรถจีน หวังตั้งสหภาพดูแลสวัสดิการพนักงานไทย
ดร.ปิยะรัชต์ สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สหภาพแรงงานได้มีการเจรจรากับบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ถึงข้อเรียกร้องและมติการจ่ายเงินพิเศษประจำปี 2568 หรือเงินโบนัสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และถือเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์รายแรกที่มีมติความชัดเจน
ทั้งนี้ จากมติที่ประชุมการเจรจาระหว่างโตโยต้าและสหภาพแรงงาน ปรากฏว่าได้มีมติให้เงินพิเศษกับพนักงานเป็นจำนวน 7.8 เดือน มีการปรับขึ้นเงินเดือนในอัตรา 4.5% และมีการจ่ายเพิ่มเงินพิเศษให้กับพนักงานอีก 40,000 บาทแล้ว
โตโยต้ายังมีการบวกเพิ่มเงินพิเศษ เพื่อขอบคุณและฉลองความสำเร็จของผลการดำเนินงานในปี 2567 ที่ผ่านให้กับพนักงานทุกคนเพิ่มอีกคนละ 8,000 บาท หลังจากปี 2567 โตโยต้าสามารถทำส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเป็น 38.5% และผลจากยอดขายรถไฮบริดโตเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการขอบคุณพนักงานที่ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนธุรกิจ

สำหรับเงินโบนัสประจำปี 2568 นั้น โตโยต้าจะแบ่งจ่ายให้กับพนักงานเป็น 4 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 เดือนเมษายน จะจ่ายในส่วนของเงินพิเศษมูลค่า 40,000+8,000 บาท รวมเป็น 48,000 บาท เพื่อให้ พนักงานมีเงินขวัญถุงสำหรับในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ไทยและวันหยุดยาวในช่วงสงกรานต์
ครั้งที่ 2 เดือนมิถุนายน ให้ในอัตรา 3.8 เดือน
ครั้งที่ 3 เดือนกันยายน ให้ในอัตรา 1 เดือน
ครั้งที่ 4 เดือนธันวาคม ให้ในอัตรา 3 เดือน
รวมเป็นการจ่ายเงินพิเศษประจำปี 2568 คิดเป็นเงินเดือนทั้งสิ้น 7.8 เดือน และบวกเงินพิเศษอีก 48,000 บาท
ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้ายังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้มีการเจรจาและเสนอไปยังฝ่ายบริหารบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย ให้มีการพิจารณาเงื่อนไขการเกษียณอายุงานของพนักงานทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไปจนถึงระดับบริหาร เพื่อขยายอายุการเกษียณงานจากเดิมอยู่ที่ 58 ปีนั้น
สหภาพฯมีมติเสนอให้บริษัทขยายเวลาการเกษียณงานออกไปอีก 2 ปี ให้มีการเกษียณอายุเป็น 60 ปี เพื่อขยายอายุงานสำหรับ พนักงานที่มีทักษะความสามารถและความเชี่ยวชาญให้สามารถปฏิบัติงานได้ต่ออีก 2 ปี เพื่อถ่ายโอนความชำนาญและความเชี่ยวชาญให้กับพนักงานรุ่นต่อ ๆ ไปได้อย่างไร้รอยต่อ
ดร.ปิยะรัตน์กล่าวว่า ตนเองในฐานะตัวแทนสหภาพเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังฝ่ายบริหารแล้ว และขณะนี้ได้มีการรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ซึ่งหลังจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะเร่งศึกษารายละเอียดและความเป็นได้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการขยายอายุเกษียณงานให้รอบด้าน
ซึ่งคาดว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในวันที่ 1 มกราคม 2569 หรือปีหน้าก็จะได้เห็นโตโยต้ามีการประกาศใช้นโยบายดังกล่าวออกมา
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการประกาศจ่ายเงินโบนัสประจำปีของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ตามปกติจะมีการทยอยประกาศออกมาตั้งแต่ในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี และโตโยต้าซึ่งเป็นค่ายรถยนต์อันดับหนึ่ง และเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นรายแรกที่ออกมาประกาศความชัดเจนให้กับพนักงานทราบ จากนั้นก็จะเริ่มเห็นค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ออกมาประกาศเรื่องการสั่งจ่ายเงินพิเศษตามมาหลังจากโตโยต้าประกาศไปแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากหลายค่ายรถยนต์จะยึดโตโยต้าเป็นมาตรการในการพิจารณาการจ่ายเงินพิเศษ และแม้ว่าปี 2567 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์จะได้รับผล
กระทบจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และมาตรการความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ทำให้ยอดขายรถโดยรวมลดลงไปถึง 26.2% มียอดขายเพียง 572,675 คัน โดยค่ายรถยนต์แต่ละค่ายต่างก็มียอดขายลดลง รวมทั้งโตโยต้า
แต่จากการประกาศโบนัสล่าสุด โตโยต้าได้จ่ายให้กับพนักงานลดลงตามสัดส่วนยอดขายที่ทำได้ เมื่อเทียบกับการจ่ายโบนัสในปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งให้ 8 เดือน บวกเพิ่มเงินพิเศษอีก 45,000 บาท ก็ถือว่าลดลงไปนิดหน่อยเท่านั้น
จากนี้คงต้องจับตาว่าค่ายรถยนต์ที่เหลือจะมีการทยอยประกาศจ่ายเงินพิเศษอย่างไร โดยปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการจ่าย 8 เดือน บวกเงินพิเศษ 40,000 บาท, บริษัท อีซูซุเอ็นยิ่น แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จ่าย 7.95 เดือน บวกเงินพิเศษ 48,900 บาท
บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด จ่าย 7.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 60,000 บาท, บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด จ่าย 6.25 เดือน บวกเงินพิเศษ 51,550 บาท, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จ่าย 6 เดือน บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จ่าย 5.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 55,000 บาท, บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จ่าย 6.18 เดือน บวกเงินพิเศษ 27,000 บาท
นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากสภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยในปัจจุบัน คือปัญหาและโอกาสของพนักงานแรงงานในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์-ชิ้นส่วนยานยนต์จากจีนที่ปัจจุบันยังไม่ได้รับโอกาสให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อเข้ามาดูแลปกป้องสิทธิและสวัสดิการของพนักงานชาวไทย
ตรงนี้ยังต้องรอดูในอนาคตว่าจะมีการแก้ปัญหา หรือขับเคลื่อนไปในทิศทางใด เพราะหากย้อยกลับไปในช่วงเริ่มต้นของการจัดตั้งสหภาพแรงงานของค่ายญี่ปุ่น ต้องมีความลำบากเช่นเดียวกัน แต่เมื่อแต่ละฝ่ายได้ทำความเข้าใจกันและมองเรื่องของสิทธิประโยชน์ของพนักงานแรงงานเป็นสำคัญ ทุกฝ่ายก็สามารถทำงานร่วมกันมาได้อย่างแข็งแรงและแข็งแกร่ง