เร่งคลอด “อีโคคาร์2” กลางปี โตโยต้าเทอีก 4 พันล้านโยก R&D ฮีโน่ลงไทย

“โตโยต้า” เดินเครื่องลุย “อีโคคาร์ เฟส 2” มั่นใจคลอดแน่สิงหาคมนี้ ชูเทคโนโลยีใหม่ตัวถัง TNGA ย้ำทั้งประหยัดและรักษ์โลก อ้อนรัฐคงเงื่อนไขสนับสนุนการลงทุน ยันญี่ปุ่นพร้อมใช้ไทยเป็นฐานหลังเข้าร่วมลงทุนรถยนต์ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถอีวี ล่าสุดฮีโน่เท 4 พันล้านเสริมเขี้ยวฐานผลิตในไทย

แหล่งข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนรุกตลาดปีนี้ โตโยต้ากำลังเร่งมือทำคลอดอีโคคาร์ เฟส 2 ซึ่งน่าจะเปิดตัวได้ราวเดือนสิงหาคม ซึ่งต่อยอดความสำเร็จอีโคคาร์เฟสแรกทั้งสองรุ่น คือ ยาริสแฮตช์แบ็ก และเอทีฟ ซีดาน ทั้งนี้ เฟส 2 จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพิ่ม โดยเฉพาะระบบความปลอดภัย รวมถึงประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาบนแพลตฟอร์มใหม่ “Toyota New Global Architecture” หรือ “TNGA” มีอัตราสิ้นเปลืองไม่ต่ำกว่า 23 กิโลเมตรต่อลิตร ปล่อยไอเสียไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร

“อีโคคาร์ เฟส 2 ตัวแรกน่าจะเริ่มที่ยาริสก่อน ซึ่งน่าจะได้การตอบรับที่ดี

เนื่องจากลูกค้าได้รับประโยชน์จากอุปกรณ์ที่ใส่เพิ่มเข้าไป ขณะที่ราคาขายน่าจะไม่ได้ปรับสูงขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากในเฟสที่ 2 นี้ เราได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ต่ำลง”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนการลงทุนภายใต้โครงการรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โตโยต้าได้ยื่นขอรับส่งเสริมจากบีโอไอเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างดำเนินไปตามแผนธุรกิจ ซึ่งบีโอไอกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องผลิตรถยนต์ใน 3 ปี นับจากได้รับบัตรส่งเสริม

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลต้องการกระตุ้นให้ค่ายรถหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เร็วขึ้น ด้วยการจูงใจโดยจะให้ภาษีเป็น 0% แต่ต้องทำเร็วขึ้นภายใน 2 ปีหลังได้รับอนุมัติ และได้สิทธิ์นาน 3 ปีนั้น บริษัทคงต้องรอดูเงื่อนไขและรายละเอียดของความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวก่อน

“เราเองไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายจากภาครัฐไปมา เพราะจะทำให้นักลงทุนตั้งคำถาม สิ่งสำคัญ วันนี้เราอยากให้รัฐบาลเฉย ๆ ไว้ก่อน อย่าเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายการลงทุน เรากำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของแพ็กเกจว่าจะใช้โรงงานเกตเวย์ และบ้านโพธิ์นั้น เพื่อผลิตรถยนต์โมเดลใดให้เหมาะสมที่สุด และท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยสมควรที่จะใช้รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดหรืออีวี ซึ่งโตโยต้าต้องใช้ระยะเวลาศึกษา ตอนนี้เราคลอดรถไป 2 รุ่น ซึ่งเป็นไฮบริด หลังจากที่ยื่นลงทุน รวมถึงเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในปีนี้แล้ว คือ ซี-เอชอาร์ และคัมรี”

ส่วนความชัดเจน ภายหลังจากทีมผู้บริหารของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท โตโยต้าไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และบริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อวันก่อน รองนายกฯยืนยันว่า กลุ่มบริษัทโตโยต้าแจ้งว่า ยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ปี 2562 จะลงทุนอีก 1 หมื่นล้านบาท และปี 2563 จะลงเพิ่มอีก 1 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ ยังได้แนะนำ นายสมชาย เปลี่ยนแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้เป็นผู้บริหารคนไทยที่มีตำแหน่งสูงสุดเป็นคนแรก แล้วยังได้รายงานว่า ฮีโน่ตัดสินใจย้ายศูนย์อาร์แอนด์ดีมาไว้ในบ้านเรา เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถบรรทุกในภูมิภาค ด้วยการลงทุนมูลค่า 4,000 ล้านบาทในปีนี้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!