‘รถเก่าแลกใหม่’ ป่วนตลาด ลูกค้าแห่คืนใบจอง-ยื้อรับรถ

รถเก่า
Photo : Freepik

ลูกค้าคืนใบจอง ชะลอรับรถ ตลาดสะดุดทั้งระบบ ผู้จัดงาน “มอเตอร์เอ็กซ์โป” แนะผู้ซื้อให้ศึกษารายละเอียด เงื่อนไขคืนเงิน 1 แสน ได้ไม่ทุกคน คำนวณต้องซื้อรถราคา 3.3 ล้าน ถึงได้สิทธิประโยชน์ ชี้ค่ายรถทำแคมเปญแรงลูกค้าได้มากกว่า ด้านคลังหวั่นสารพัดปัญหา สร้างภาระรัฐบาล-กระทบวินัยการเงินการคลัง เผยเงื่อนไขรถเก่า 12 ปี แลกรถอีวี ชง ศบศ. 2 ธันวาคมนี้

แค่โหมโรงว่ารัฐบาลกำลังจะจัดให้ เสียงขานรับโครงการ “รถเก่าแลกรถใหม่”ของขวัญปีใหม่คนไทยสู่ศักราชปีวัว 2564 ก็กระหึ่มล่วงหน้า ทั้งที่ยังต้องลุ้นว่าเอาเข้าจริง ประชาชนทั่วไป ลูกค้าที่ต้องการซื้อใหม่ หรืออยู่ระหว่างรอการตัดสินใจ จะได้อานิสงส์มากน้อยแค่ไหน เงื่อนไขโครงการ “รถแลกแจกแถม” รถเก่าแลกรถใหม่แสนคันจะออกมาอย่างไร แต่หลักเกณฑ์ที่ยังไม่ชัด ไม่ว่าจะเป็นประเภทเครื่องยนต์ว่าจะถูกกำหนด สเป็กแจกแถมให้เฉพาะรถไฟฟ้า (อีวี) หรือ รวมถึงไฮบริด เครื่องยนต์สันดาป อายุรถต้องผ่านการใช้งานมาแล้วกี่ปี ฯลฯ สร้างความปั่นป่วนไปทั่ว ทั้งค่ายรถ เต็นท์รถมือสอง คนซื้อรถ

รถใหม่สะดุด ลูกค้าคืนใบจอง

แหล่งข่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมตลาดรถยนต์ในขณะนี้ว่า ตลาดเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยลดลงเพียง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเดือนตุลาคมลดลง 1.4% ขายได้ 74,115 คัน ส่วนยอดขาย 10 เดือนที่ผ่านมา ลดลง 27.3% ขายได้ 608,880 คัน และคาดว่าตัวเลขทั้งปีตลาดน่าจะลดลง ไปแค่ 25% น้อยกว่าการประเมินของบรรดาค่ายรถยนต์

อย่างไรก็ตาม หลังจากเริ่มมีกระแสข่าวโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ออกมา พบว่าส่งผลต่อตลาดรถยนต์โดยรวม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อรถยนต์คันใหม่ที่มีการชะลอการตัดสินใจอย่างชัดเจน หรือผู้ที่จองรถใหม่แล้วมีการขอยืดระยะเวลารับรถออกไป บางรายเริ่มยกเลิกคำสั่งซื้อและขอรับเงินมัดจำคืน เนื่องจากมีกระแสว่ารัฐบาลจะประกาศอนุมัติโครงการนี้ แต่ยังไม่มีความชัดเจน

ตลาดรถมือสองป่วนหนัก

นายภิญโญ ธนวัชรภรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว แสดงความเห็นในเรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกำจัดรถเก่าเพื่อลดมลพิษทางอากาศเป็นนโยบายที่ดี แต่การเน้นการกระตุ้น รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี อาจไม่สอดคล้องกับตลาดนัก เนื่องจากปัจจุบันรถอีวียังมีราคาค่อนข้างสูง หรือจะสนับสนุนรถยนต์ไฮบริด ที่ลูกค้านิยมในการใช้งานอยู่แล้ว และมีคำถามว่า รัฐบาลจะกำจัดรถเก่า 10-12 ปี จำนวน 100,000 คัน อย่างไรก็ตาม การกำจัดรถยนต์แบบ 1 ต่อ 1 ไม่ได้หมายความว่ารถเหล่านี้จะ ไม่ได้อยู่ในระบบของประเทศไทย เพราะปัจจุบันมีรถกว่า 40 ล้านคันทั่วประเทศ และมีรถเกิดใหม่อีกปีละ 1 ล้านคัน เป็นอย่างต่ำ หากรัฐไม่กำหนดอายุการใช้งานของรถยนต์ และมีนโยบายในการกำจัดรถเก่าที่ชัดเจน เท่ากับนโยบายดังกล่าวก็ไม่มีผลแต่อย่างใด

รัฐบาลควรกำหนดเงื่อนไขให้รัดกุมและใช้เม็ดเงินในการสนับสนุนโครงการนี้อย่างคุ้มค่าว่าต้องการสนับสนุนรถยนต์อีวี หรือเพื่อต้องการให้คนมาซื้อรถใหม่เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรม โดยใช้ภาษีในทางที่ไม่ควร หากรัฐใช้วิธีการคืนภาษีเงินได้ให้ผู้ซื้อรถยนต์ เชื่อว่าผู้ซื้อรถจะได้เงินคืนไม่มากนัก เพราะปัจจุบันศักยภาพของผู้เสียภาษีเงินได้เกินหนึ่งแสนบาทมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับ 3-4 หมื่นบาทเท่านั้น

“ถ้าจะกระตุ้นรถไฟฟ้าคนไปไม่ถึงแน่นอนที่สำคัญตอนนี้ตลาดทั้งรถใหม่ป้ายแดง รถมือสอง รวมทั้งไฟแนนซ์ล้วนได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจนทั้งระบบ”

แนะผู้ซื้อรถศึกษาให้ดี

นายขวัญชัย ปภัรส์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ หรือมอเตอร์เอ็กซ์โป ครั้งที่ 37 ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 1-13 ธ.ค.นี้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดรถยนต์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น และไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการมากระตุ้นตลาด ล่าสุดจากการคุยกับค่ายรถต่าง ๆ ทุกคนต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อและขอคืนเงินมัดจำเป็นจำนวนมาก

นายขวัญชัยระบุว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะมอบของขวัญปีใหม่ให้ 100,000 บาทนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้เงิน 100,000 บาท เพราะคำนวณจากราคารถยนต์ 3% นั่นหมายความว่า หากผู้ที่ซื้อรถยนต์แล้วจะได้รับ 100,000 บาท จะต้องซื้อรถยนต์ 3.3 ล้านบาท ส่วนคนซื้อรถ 500,000 บาท ก็จะได้เงินคืนแค่ 15,000 บาทเท่านั้น

“ตอนนี้ขอแนะนำให้ผู้ที่กำลังจะซื้อรถศึกษารายเอียดให้ดี เพราะทุกวันนี้ค่ายรถก็ทำแคมเปญ โปรโมชั่นกันถล่มทลายและให้มากกว่าเงินคืน 3% ที่จะได้รับอยู่แล้ว”

มาถูกทาง แต่ไม่ชัดเจน

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เอ็มจี ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาถึงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของรถยนต์ที่จะเข้าร่วมโครงการอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะระยะเวลา และรถยนต์แต่ละประเภทก็มีเทคโนโลยี ต้นทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้นรัฐควรพิจารณาเกณฑ์ให้ส่วนลด  หรือการสนับสนุนที่ลดหลั่นกันไปตามเทคโนโลยีของรถยนต์แต่ละประเภท เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินมาค่อนข้างถูกทาง โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลพิษ ที่สำคัญรัฐบาลควรให้อินเซนทีฟเต็มที่ เนื่องจากรัฐไม่ขาดทุน หากจะคืนภาษีสรรพสามิตส่วนหนึ่งมาสนับสนุนตรงนี้ แต่อยากให้โฟกัสในส่วนของรถยนต์ใหม่ที่ปัจจุบันมีมาตรฐานด้านมลพิษถึงเกณฑ์ยูโร 5-ยูโร 6

อุตฯ ยังไม่ได้หารือ รมว.คลัง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ เป็นข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ได้มาหารือกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในรายละเอียด ส่วนข้อเสนอของเอกชนที่อยากให้กรมสรรพสามิตลดภาษีรถยนต์ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ค่ายรถยนต์ลดราคาในโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ จะต้องมานั่งคุยกันหลายฝ่าย เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทั้งตลาดรถมือสอง รวมถึงภาระของรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาในเรื่องของวินัยการเงินการคลังด้วยว่าจะส่งผลให้มีภาระเพิ่มเท่าไหร่ จะต้องหาเม็ดเงินมาสนับสนุนอีกจำนวนเท่าไหร่

หากโครงการนี้เกิดขึ้นจะต้องสร้างความต้องการซื้อ (ดีมานด์) ได้จริง ๆ แต่หากเป็นดีมานด์เทียมก็จะกระทบภาระหนี้ครัวเรือนตามมา เหมือนกับโครงการรถยนต์คันแรก เนื่องจากการซื้อรถยนต์ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีการผ่อนรถ หรือหากใช้วิธีการนำรถเก่ามาค้ำประกันก็จะต้องหารือกับผู้ประกอบการรถมือสอง เพื่อให้เข้ามาสนับสนุนโครงการ ซึ่งจะมีผลต่องบประมาณที่จะต้องนำมาใช้ในโครงการนี้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

“หากจะใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการก็คงไม่เหมาะสม หรือจะนำเงินกู้มาชดเชยภาษีให้กับผู้ประกอบการ แทนผู้ประกอบการก็มีแต่ได้กับได้ และรถเก่าก็ต้องมีผู้ประกอบการมารับซื้อ ซึ่งรถเก่า 15 ปี ใครจะรับซื้อ รัฐก็ต้องจ่ายเงินสนับสนุนผู้ประกอบการรถมือสองให้มาช่วยซื้ออีก”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอให้มีการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อจูงใจ ขณะนี้ยังตกลงกันไม่ได้ เนื่องจากข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการให้นำรายจ่ายจากการซื้อรถใหม่ในโครงการนี้ มาหักภาษีได้ไม่เกิน 1 แสนบาท แต่กรมสรรพากรเห็นว่า หากจะสนับสนุนโครงการนี้ก็คงทำได้เพียงการลดหย่อนภาษี ที่นำค่าใช้จ่ายซื้อรถไปหักจากเงินได้พึงประเมินก่อนคำนวณภาษี มากกว่าจะไปหักภาษีได้โดยตรง เพราะจะกระทบกับการจัดเก็บรายได้จำนวนมาก

ชง ศบศ.พิจารณา 2 ธันวาฯนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จะนำมาตรการรถเก่าแลกรถใหม่เข้าสู่การพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) หรือ ศบศ. ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ดูเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นอยู่ระหว่างการหารือ ส่วนจะสามารถประกาศเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่รองนายกฯจะพิจารณาข้อสรุปเรื่องนี้อย่างไร

สำหรับหลักเกณฑ์ของมาตรการดังกล่าว ที่ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าไม่ชัดเจนนั้นว่าจะสามารถนำรถเก่าแลกรถที่เป็นระบบสันดาป หรือรถที่ใช้น้ำมันได้หรือไม่นั้น ก็อยู่ในการหารือเช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันในประเทศไทยเองมีการใช้รถสันดาปอยู่แล้ว และในอนาคตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ก็ต้องมา จึงต้องเตรียมตัวไว้ก่อน

เปิดหลักเกณฑ์แลกรถ

แหล่งข่าวกล่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างหลักเกณฑ์เบื้องต้นมาตรการรถเก่าแลกรถใหม่ กำหนดให้สามารถนำรถที่มีอายุการใช้งานมาแล้ว 12 ปี มาแลกกับรถยนต์ไฟฟ้า EV ตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น โดยได้ผลักดันให้เกิดการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 30% ในปี 2573 ซึ่งเหตุผลที่เลือกกำหนดอายุการใช้งาน 12 ปี แทนที่จะเป็น 15 ปี เนื่องจากข้อมูลการจดทะเบียนพบว่ามีจำนวนรถที่จะครบกำหนด 12 ปี จำนวนมาก

“ส่วนประเด็นที่รถยนต์อีวียังไม่มีการผลิตในประเทศไทย ก็อาจจะผ่อนปรนให้เป็นรถไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริดได้ด้วย ส่วนรถระบบสันดาปก็มีการหารือเช่นกันมีแนวโน้มว่าจะให้แลกรถที่เป็นยูโร 5 และยูโร 6 ได้ เพราะจะทำให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้อีกเรื่องหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักยังคงยึดที่จะต้องแลกเป็นรถ EV ซึ่งในขั้นตอนจะให้เป็นกลุ่มไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริดได้ แต่แผนทั้งหมดยังอยู่ ขั้นตอนการทำที่ยังไม่ตกผลึก อยู่ที่รองนายกฯ จะเคาะและเห็นชอบด้วยหรือไม่”

หอการค้า-ส.อ.ท.เชียร์

ในมุมภาคเอกชน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า รัฐบาลอาจต้องปรับเงื่อนไขที่ให้เฉพาะรถยนต์อีวี ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ยังผลิตไม่ได้ ก็อาจจะไม่เกิดการใช้ประโยชน์กว้างขวาง หากรัฐบาลต้องการให้กระตุ้นการลงทุน ก็ควรสนับสนุนให้แลกรถยนต์ในกลุ่มอีวีที่มีการตั้งไลน์ผลิตในประเทศ และที่สำคัญจะต้องให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้คันละ 1 แสนบาทเพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์จริง ๆ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการรถเก่าแลกรถใหม่ เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรายละเอียดเงื่อนไขต้องรอดูการพิจารณาของรัฐบาล แต่เท่าที่ทราบหลักการเบื้องต้นทางหอการค้าเห็นด้วย