ตลาดรถป่วนหวั่นทิ้งใบจอง อีวี 10 รุ่นส้มหล่นลด 5 แสน

ส่อง 10 รถอีวีพร้อมรับอานิสงส์แพ็กเกจภาษี-ส่วนลดจากรัฐบาล รวม 5-8 แสนบาท เข้า ครม.สัปดาห์หน้า ค่ายรถหวั่นลูกค้าทิ้งใบจองรถใช้น้ำมัน ผู้นำเข้าอิสระหมดสิทธิ เป้าหมายสร้างตลาด-ดึงการลงทุน วงการอุตฯรถยนต์ชี้ยอดเดือน พ.ย.สูงสุดในรอบ 12 เดือน คาดทั้งปีเกินเป้า 1.6 ล้านคัน ส่งออกพุ่งทะลุเป้า 9 แสนคัน

แพ็กเกจอีวีเข้า ครม. 28 ธ.ค.

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แพ็กเกจสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มีความจำเป็นต้องเลื่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเป็นสัปดาห์หน้า หรือวันที่ 28 ธันวาคม 2564 เนื่องจากต้องตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง

โดยรายละเอียดไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยมาตรการจูงใจซื้อรถอีวีจะเป็นมาตรการระยะยาวประมาณ 4-5 ปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยปรับมาใช้รถอีวีกันมากขึ้น

รายละเอียดมาตรการจะมีทั้งการลดภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร และรัฐบาลให้เงินอุดหนุนภายใต้กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถอีวีประมาณ 300,000 คันในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปี 2570

เงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท

สำหรับรายละเอียดของมาตรการ เริ่มจากลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% และลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้ารถอีวีจากเดิมอัตราสูงสุด (รถอีวีนำเข้าจากยุโรป) อยู่ที่ 80% ลงเหลือ 40% ส่วนรถอีวี นำเข้าจากญี่ปุ่น (เดิมภาษีนำเข้า 20%) และเกาหลีใต้ (เดิมภาษีนำเข้า 40%)

จากมาตรการนี้ภาษีนำเข้าก็จะเป็น 0% เท่ากับรถอีวีจีนที่ปัจจุบันภาษีนำเข้าอยู่ที่ 0% และยังมีเงินอุดหนุนคนซื้อรถอีวีสูงสุด 150,000 บาท สำหรับรถอีวีที่ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท กรณีแบตเตอรี่มีขนาด 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และกรณีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ก็จะได้รับเงินอุดหนุนลดหลั่นลงมา

ห่วงตลาดสะดุดทิ้งใบจอง

แหล่งข่าวจากดีลเลอร์รถยนต์รายหนึ่งกล่าวว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้รถอีวี แม้จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและค่ายรถยนต์ แต่ก็มีความกังวลระดับหนึ่ง โดยเฉพาะผลกระทบต่อรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน รวมถึงกลุ่มรถไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด ตลาดอาจจะชะงักหรือสะดุด เนื่องจากรถอีวีที่ได้แพ็กเกจสนับสนุนมีระดับราคาที่น่าสนใจมากกว่า

“เรากังวลว่ายอดจองรถในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่ผ่านมา 3 หมื่นกว่าคันจะกระทบไปด้วย ลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันไปแล้ว อาจอยากเปลี่ยนมาเป็นอีวีที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ยิ่งถ้าประเภทอีโคคาร์ใช้เงินจองไม่เยอะ ราคาซื้อขาย 6-7 แสนบาท น่าจะมีลูกค้าหลายหลายพร้อมขยับมาใช้อีวี ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกันหลังจากได้แพ็กเกจสนับสนุนจากภาครัฐ”

รับรถปีหน้าได้เงื่อนไขใหม่

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แพ็กเกจดังกล่าวน่าจะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่น ราคาขาย 1.5 ล้านบาทขึ้นได้ อาจจะเข้าข่ายได้ลดราคาถึง 400,000 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างจูงใจพอสมควร ส่วนของเอ็มจีนั้นหากได้รับเงินอุดหนุน รวมทั้งส่วนลดภาษี รถราคาต่ำกว่าล้านบาท ก็จะยิ่งน่าสนใจให้ตัดสินใจซื้อรถอีวีได้ง่ายขึ้น

“ส่วนกรณีลูกค้าจองอีวี EP ไปช่วงมอเตอร์เอ็กซ์โป ไม่น่ามีผลกระทบเพราะลูกค้ากว่าจะได้รับรถราว ๆ ต้นปี 2565 ก็คงได้รับประโยชน์ตามมาตรการจูงใจที่รัฐบาลมอบให้”

เช่นเดียวกับนายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สำหรับ ORA Good Cat บริษัทยังส่งมอบอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้มีการส่งมอบไปแล้วกว่า 200 คัน โดยเฉพาะรุ่นที่สามารถวิ่งได้ไกล 500 กม. ส่วนลูกค้าชุดต่อไปก็น่าจะได้รับรถหลังรัฐบาลประกาศแพ็กเกจ

ส่องอีวี 10 รุ่นได้ส่วนลดเยอะ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับราคาขายรถอีวีที่มีจำหน่ายในประเทศ ราว ๆ 10 รุ่น ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท “นิสสัน ลีฟ” จากราคาขายปัจจุบัน 1.5 ล้านบาท ประเมินว่าส่วนลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตพร้อมเงินอุดหนุนราว ๆ 4-4.5 แสนบาท

ขณะที่รถจีนราคาขายราว ๆ 1 ล้านบาท ทั้งเอ็มจี แซดเอส, เอ็มจี อีพี, โอร่า กู๊ดแคต ก็น่าจะได้ส่วนลดจากภาษีสรรพสามิต บวกเงินอุดหนุนราว ๆ 3-4 แสนบาท เนื่องจากรถอีวีปัจจุบันภาษีนำเข้าเป็น 0% อยู่แล้ว

ขณะที่กลุ่มรถอีวีที่ราคามากกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งมีเมอร์เซเดส-เบนซ์ อีคิวเอส, บีเอ็มดับเบิลยู ตั้งแต่ i3, i8, iX, iX3, ออดี้ อี-ตรอน ซึ่งมีระดับราคาตั้งแต่ 5-10 ล้านบาท คาดว่าจะได้ส่วนลดภาษี ทำให้มีราคาถูกลง 7-8 แสนบาท เพราะภาษีนำเข้าลดลงครึ่งหนึ่ง และส่วนลดภาษีสรรพสามิตอีก 6% ทำให้ราคาขยับลงได้เยอะมาก

เกรย์มาร์เก็ตไม่ได้สิทธิ

สำหรับมาตรการจูงใจซื้อรถอีวี ลูกค้าที่ซื้อรถจากผู้นำเข้าอิสระ จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมถึงผู้ประกอบการก็จะไม่ได้รับส่วนลดภาษีศุลกากรและสรรพสามิต เนื่องจากรัฐบาลต้องการสร้างตลาดให้เกิดขึ้น และสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีการลงทุนในประเทศเป็นหลัก

ล่าสุดทางสมาคมผู้นำเข้ารถยนต์ใหม่เตรียมจะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอรับสิทธิบางส่วนกลับแพ็กเกจสนับสนุนรถอีวีครั้งนี้ โดยระบุว่ากลุ่มผู้นำเข้ามีส่วนช่วยผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีการลงทุนในประเทศรวมถึงมีการจ้างงานในประเทศด้วย

แนะรัฐใช้ทั้งมาตรการภาษี-ราคา

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แม้ภาครัฐจะมีมาตรการสนับสนุนการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่ปัจจุบันราคารถยนต์ไฟฟ้ายังค่อนข้างสูงระดับ 2-3 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า และยังเป็นตลาดเล็ก ที่ไทยผลิตเองมีเพียงเจ้าเดียวระดับราคา 5-6 แสนบาท จึงเป็นตลาดสำหรับคนมีกำลังซื้อและชื่นชอบรถยนต์ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสถานีชาร์จ หากเทียบกับรถยนต์สันดาปหรือที่ใช้น้ำมันราคาจะอยู่ที่ 800,000 บาทเท่านั้น ดังนั้น หากรัฐอยากสนับสนุนให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าต้องมีมาตรการทั้งด้านภาษี และด้านราคาดึงให้ราคาถูกลง ซึ่งต้องรอการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จะเพิ่มแรงจูงใจหรือเพิ่มมาตรการกระตุ้นอย่างไร

อุตฯรถยนต์ฟื้น ส่งออกทะลุเป้า

สำหรับภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ย. 64 อยู่ที่ 165,353 คัน สูงสุดในรอบ 1 ปี แต่ยังติดลบ 4.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยยอดผลิต 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 64) ผลิตรถยนต์ได้ 1.53 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.26% มั่นใจว่าปีนี้ยอดผลิตรถยนต์จะเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.6 ล้านคัน

ส่วนยอดการส่งออกเดือน พ.ย. ส่งออกได้ 98,829 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32.60% และตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. 2564 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปรวม 857,887 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.55% เกินเป้าส่งออกที่ตั้งไว้ทั้งปีนี้ที่ 850,000 คัน ซึ่งมีการปรับลดลงจากการคาดการณ์เมื่อต้นปีจากปัญหาขาดแคลนชิปทั่วโลก

ปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ 900,000 คัน มากกว่าเป้า และภาพรวมมูลค่าการส่งออกยานยนต์ รวมรถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่ส่งออกไปกว่าร้อยประเทศ จึงส่งออกได้เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นอกจากรถยนต์สำเร็จรูปแล้ว เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์และอะไหล่รถยนต์ก็ส่งออกได้เพิ่มขึ้นตามการผลิตรถยนต์ที่เติบโต ปี 2565 คาดการณ์ยอดการผลิตรถยนต์จะอยู่ที่ 1,700,000-1,800,000 คัน แบ่งเป็น ขายในประเทศ 800,000-850,000 คัน ส่งออก 900,000-950,000 คัน

แต่ต้องประเมินความเสี่ยงการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมถึงการขาดแคลนชิปทำให้ไม่สามารถผลิตรถยนต์บางรุ่นได้ ส่วนปีนี้ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไว้ที่ 1,600,000 คัน เพื่อขายในประเทศ 750,000 คัน และส่งออก 850,000 คัน

รอลุ้นมาตรการหนุนใช้ EV

ด้าน นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า ยังต้องติดตามมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ EV ของรัฐบาล เพราะยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน เพราะหากจะสนับสนุนทั้งการใช้และการผลิต อัตราภาษี 0% คงไม่เพียงพอ ต้องสนับสนุนด้านราคา ให้ราคาใกล้เคียงกับรถที่ใช้น้ำมันด้วย

ทราบว่ากรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างหามาตรการต่าง ๆ อาทิ การเก็บภาษีรถเก่า เก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน CO2 จูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถอีวีแทนรถยนต์สันดาป สภาเองก็เสนอให้ดัดเเปลงรถใช้แล้วเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี รัฐเองพยายามสร้างการรับรู้และจูงใจประชาชนมากขึ้น จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงาน รถเมล์ เรือไฟฟ้า BEV มีนโยบายปรับมาใช้อีวีมากขึ้นด้วย