แพ็กเกจภาษีรถ EV คลังเปิดเงื่อนไขสำคัญ ค่ายรถรุ่นไหนได้สิทธิบ้าง

อีวี

คลังเปิดเงื่อนไขค่ายรถเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ก่อนจัดโปรขายงานมอเตอร์โชว์ ชี้โมลเดลรถต้องพร้อม-ต้องวางแบงก์การันตีตามความเสี่ยง-ห้ามไมเนอร์เชนจ์

วันที่ 16 มีนาคม 2565 แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในงานมอเตอร์โชว์ที่จะถึงนี้จะเห็นค่ายรถที่มีความพร้อมเข้ามาร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ เอ็มจี กับ เกรทวอลล์ มอเตอร์ ที่มีรถพร้อม ส่วนอีกค่ายเป็นรถอีวียี่ห้อไมด้า จากประเทศจีน ซึ่งทางกรมสรรพสามิตจะมีการเซ็นสัญญาเพื่อร่วมมาตรการก่อนวันที่ 23 มี.ค.นี้

“ไมด้า เป็นรถที่จะนำเข้ามาจากจีน เป็น CBU ก่อน แล้วจากนั้นจะมาจ้างบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.ปตท. กับ Foxconn ผลิตในประเทศภายใน 1-2 ปีจากนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นมี 2-3 ค่ายที่กำลังพิจารณากันอยู่ โดยอาจจะนำมาขายได้ในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า คือ นิสสันที่มีรถอีวีอยู่แล้ว ขณะที่มิตซูบิชิก็กำลังพิจารณาว่าอาจจะนำเข้ารถอีวีขนาดเล็กมาจำหน่าย

นอกจากนี้ก็มีโตโยต้าที่มีแนวคิดจะพัฒนารถกระบะอีวี ซึ่งคาดว่าจะผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยภายในปีนี้ โดยอาจจะเป็นช่วงปลายปี เพราะปัจจุบันกำลังเร่งออกแบบอยู่ อย่างไรก็ดี ทางกรมสรรพสามิตคงต้องติดตามดูความคืบหน้าอีกที ว่าสามารถทำได้ทันหรือไม่

“รถที่จะนำมาขายได้ในอีก 4-5 เดือน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในหลักการค่ายรถสามารถเปิดให้จองในงานมอเตอร์โชว์ได้ แต่ไม่รู้จะทำหรือไม่ เพราะจะยังไม่มีราคาขายที่แท้จริง กรมสรรพสามิตก็จะยังไม่อนุมัติราคาให้ ซึ่งอาจจะมีเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังจากนั้น ถ้าค่ายไหนจะทำก็ต้องรับความเสี่ยงไปเอง” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ค่ายรถยนต์ที่ไม่ได้มีการเซ็นสัญญากับกรมสรรพสามิต จะไม่สามารถนำรถอีวีไปขายและจัดโปรโมชั่นขายรถตามมาตรการรัฐได้ ดังนั้น การเข้าร่วมมาตรการค่ายรถยนต์จะต้องยื่นโครงสร้างราคาขายมาให้กรมอนุมัติก่อน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค และเพื่อให้เม็ดเงินในส่วนที่รัฐบาลอุดหนุนถึงมือผู้บริโภค 100%

แบงก์การันตีวางตามความเสี่ยง

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องมีความพร้อม โดยนอกจากพิจารณาเรื่องโมเดลรถแล้ว ทางกรมสรรพสามิตจะต้องให้ค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการต้องวางเงินประกัน หรือแบงก์การันตีด้วย แต่จะพิจารณาไม่ให้เป็นภาระผู้ประกอบการมากเกินไป โดยจะพิจารณาตามความเสี่ยงเป็นสำคัญ

“เรื่องนี้เป็นการบริหารความเสี่ยง ถ้าค่ายรถมีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อาจจะวางแค่ 10 ล้านบาท คือความเสี่ยงน้อย แต่ถ้าทุนจดทะเบียนต่ำ ก็อาจจะต้องเรียกแบงก์การันตีมากหน่อย เพราะถือว่ามีความเสี่ยง” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ การเข้าร่วมมาตรการจะเป็นการการันตีว่า เงินที่รัฐบาลอุดหนุน 70,000-150,000 บาทต่อคัน รวมถึงการลดอากรขาเข้า เป็นการช่วยลดต้นทุนของค่ายรถ และการลดภาษีสรรพสามิต ก็เป็นการลดค่าบริหารจัดการให้ค่ายรถ ดังนั้น ส่วนลดเหล่านี้จะถึงมือผู้บริโภคแน่นอน 100% โดยในงานมอเตอร์โชว์นี้จะเห็นรถอีวีถูกลง จากราคาคันละ 900,000 บาท จะลดลงเหลือคันละราว ๆ 700,000 บาทแน่นอน

ไม่ให้สิทธิ “ไมเนอร์เชนจ์” หวั่นเอาเปรียบผู้ซื้อ

ส่วนกรณีผู้ประกอบการระบุว่าทางกรมสรรพสามิตไม่ให้รถที่เป็นไมเนอร์เชนจ์ได้ประโยชน์เงินอุดหนุนและภาษีจากมาตรการด้วยนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากทางกรมสรรพสามิตกังวลว่ จะเป็นการไปเปิดโอกาสให้ผู้ขายปรับขึ้นราคารถ ทำให้เงินส่วนลด 150,000 บาท ที่ภาครัฐอุดหนุนให้ประชาชนผู้บริโภค จะไปถึงมือประชาชนไม่ครบ 150,000 บาท แต่จะกลายเป็นกำไรของค่ายรถไป จึงไม่ให้รถไมเนอร์เชนจ์ได้สิทธิด้วย

“ที่ไม่อยากให้มีไมเนอร์เชนจ์ ก็เพราะว่าเดี๋ยวผู้ประกอบการอาจจะเอารถที่ราคาอาจจะตั้งไว้ 850,000 บาท พอไมเนอร์เชนจ์ก็ปรับราคาขึ้นเป็น 900,000-950,000 บาท ซึ่งอันนี้จะทำให้เงินส่วนลดถึงมือผู้บริโภคแบบไม่เต็ม 100% เพราะตรงนี้พิสูจน์ยาก ยกตัวอย่าง นำเข้ารถจากต่างประเทศมา อาจจะบอกว่า เพิ่มไฟซีนอน 100,000 บาท แต่จริง ๆ แล้วต้นทุนอาจจะแค่ 10,000 บาท ดังนั้น ไมเนอร์เชนจ์อาจจะทำให้มีการขึ้นราคาเกินกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องเอาโครงสร้างราคามาให้ดูกันด้วย” แหล่งข่าวกล่าว