จีนผงาดกวาดแชร์รถอีวี80% ค่ายญี่ปุ่นแทงกั๊กลุยปลั๊ก-อินไฮบริด

ค่ายจีนตีปีกแพ็กเกจรัฐดันตลาดอีวีทั้งปีทะลุหมื่นคัน เผย 12 วันในมอเตอร์โชว์โกย 3 พันคัน เอ็มจี-โอร่า กู๊ดแคทนำโด่ง ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้จีนครองส่วนแบ่งตลาดอีวี 80% ส่วนค่ายญี่ปุ่นรับยังไม่พร้อม “โตโยต้า” แบ่งรับแบ่งสู้คาด bZ4x ราคาอาจไม่เข้าเกณฑ์ “ฮอนด้า-มิตซูบิชิ” ขอลุยปลั๊ก-อิน ไฮบริดก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานตลาดรถยนต์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาว่า ความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ค่ายรถยนต์หลากหลายยี่ห้อพยายามเร่งสร้างอีวี อีโคซิสเต็มทั้งความพร้อมของสถานีชาร์จแบตเตอรี่ และเร่งเพิ่มความสะดวกสบายกับกลุ่มผู้ใช้รถอีวี

จนกระทั่งรัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งมีเงินอุดหนุนผู้ซื้อและลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ประกอบการ กลายเป็นสปริงบอร์ดให้รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตพรวดพราด

มอเตอร์โชว์อีวีเดือด

นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองประธานจัดงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43” เปิดเผยว่า ตลอดการจัดงาน 12 วัน (23 มี.ค.-3 เม.ย.) ปรากฏว่ามียอดจองรถยนต์ 31,896 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 13.6%

โดยค่ายรถยนต์ที่มียอดจองสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โตโยต้า จำนวน 5,128 คัน, ฮอนด้า จำนวน 3,019 คัน, มาสด้า จำนวน 2,906 คัน, อีซูซุ จำนวน 2,594 คัน มิตซูบิชิ จำนวน 2,553 คัน และในจำนวน 31,896 คัน เป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 10% หรือราว ๆ 3 พันคัน จากการนำเสนอของค่ายรถยนต์มากถึง 20 รุ่น

ส่วนแบรนด์ที่ได้รับแพ็กเกจส่งเสริมหลัก ๆ จะเป็นแบรนด์จีน อาทิ ค่ายเอ็มจีมีรถอีวี 2 รุ่น คือเอ็มจี อีพี และเอ็มจี แซดเอส อีวี และแบรนด์เกรทวอลล์ โอร่า กู๊ดแคท ทำให้ทั้ง 2 ค่ายมียอดจองภายในงานรวมกันมากกว่า 2,000 คัน และยังมีแบรนด์เนต้าจากจีนซึ่งจัดจำหน่ายโดยค่ายบีอาร์จี

เชื่ออีวีจีนกินแชร์ 80%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่เพิ่งออกมาช่วยกระตุ้นตลาดรถอีวีได้อย่างมาก ทำให้การแข่งขันคึกคัก โดยค่ายรถจีนที่อาศัยจังหวะค่ายรถญี่ปุ่นยังไม่พร้อมทำตลาดเร่งชิงลูกค้าก่อน ด้วยจุดแข็งการเลือกผลิตภัณฑ์บุกตลาดและการตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้ซื้อในวงกว้างมากขึ้น

ซึ่งได้แรงหนุนของมาตรการภาษีและเงินสนับสนุนของภาครัฐ 70,000-100,000 บาท ทำให้รถอีวีสัญชาติจีนขยับราคาลงไปสูสีกับรถยนต์ใช้น้ำมัน ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลง จึงยิ่งส่งให้รถอีวีสัญชาติจีนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้เปรียบในการสร้างความรับรู้และชิงส่วนแบ่งการตลาดในทันที

รายงานยังระบุว่า นับจากนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการบุกตลาดและเข้ามาลงทุนของค่ายรถสัญชาติจีนรายใหม่ ๆ ที่ชัดเจนขึ้น ทั้งที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตเองและที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ประกอบรถให้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังที่อาจได้เห็นรถยนต์หลายรุ่นที่ลงมาแข่งขันกันในตลาดกลุ่ม mass ยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีโอกาสที่อาจจะชิงส่วนแบ่งตลาดรวมได้ถึง 80% จากยอดขายรถ EV ที่คาดว่าจะทำได้เกินกว่า 10,000 คัน ในปี 2565 ซึ่งถือว่าขยายตัวมากกว่า 412% (YOY) จากปี 2564 ที่มีรถ EV จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 1,954 คัน

ค่ายญี่ปุ่นไม่รีบรอปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถอีวีแบรนด์ญี่ปุ่น ปัจจุบันมีเพียงนิสสัน ลีฟเพียงเจ้าเดียว ซึ่งทำตลาดไปแล้วราว ๆ 100 คัน แต่สำหรับการเข้าร่วมแพ็กเกจส่งเสริมอีวีของรัฐบาลไทยยังไม่มีแบรนด์ใดเข้าร่วม คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่

แหล่งข่าวฝ่ายบริหาร บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า รถอีวีรุ่น bZ4x ครอสโอเวอร์ที่นำมาอวดโฉมในงานมอเตอร์โชว์ ขณะนี้ในประเทศญี่ปุ่นยังไม่ได้เริ่มขึ้นไลน์ผลิต ดังนั้นในประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถทำตลาดได้ในเดือนไหน และยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะขายในราคาเท่าไหร่

ทั้งนี้ ถ้าต้นทุนผลิตสูงกว่า 2 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลกำหนดให้เงินอุดหนุน โตโยต้าก็อาจจะไม่ได้เข้าร่วมแพ็กเกจส่งเสริม แต่อย่างไรก็ตามโตโยต้ายังให้ความร่วมมือกับนโยบายเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งโตโยต้ามีทั้งรถยนต์ไฮบริดและ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด

รวมทั้งโตโยต้ายังมีรถเลกซัส UX 300e รถยนต์ไฟฟ้า 100% คันแรกของเลกซัส ที่มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงและความจุของแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนที่สามารถวิ่งไกลถึง 360 กม.ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง

แหล่งข่าวจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ฮอนด้าเตรียมความพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะทำตลาดในประเทศไทยไว้แล้ว แต่จะแนะนำในช่วงจังหวะระยะเวลาที่เหมาะสม

นั่นก็คือในช่วงเวลาและข้อจำกัดของรถอีวีลดลง ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่าง ๆ ปัจจุบันฮอนด้ามีเทคโนโลยีไฮบริด ซึ่งฮอนด้าได้มีการแนะนำรถยนต์ประเภทนี้หลากหลายรุ่นในหลายเซ็กเมนต์ ทั้งซิตี้, เอชอาร์-วี และซีวิค

“เรามองว่าไฮบริดคือเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ในขณะนี้ เพราะด้วยสมรรถนะการขับขี่และความประหยัดน้ำมัน ซึ่งไฮบริดจะเป็นตัวเชื่อมสำคัญเพื่อไปสู่รถยนต์อีวีของฮอนด้าในอนาคต”

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวฝ่ายบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวยอมรับว่า ตามแผนระยะกลางนโยบายของนิสสันยังคงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าทั้ง e-POWER และ BEV ภายในปี 2030 และนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยก็มีส่วนสำคัญต่อแผนการทำตลาดของนิสสันเช่นกัน เพราะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และราคาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

ล่าสุด นิสสันได้ปรับราคาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ จากราคา 1,990,000 บาท มาเป็นพิเศษ 1,499,000 บาท และมีการทำแคมเปญส่งเสริมการขาย ดาวน์ 25% ดอกเบี้ย 0% 72 เดือน แถมฟรี wallbox 77,000 บาท แต่ก็มีดีลเลอร์บางรายเอาไปทำแคมเปญ โดยมอบส่วนลดมูลค่า 700,000 บาท จำหน่ายในราคา 1,299,000 บาท โดยตัดส่วนของแถมที่เป็น wallbox ออก แล้ว ใส่ wallbox EV chargar AC EO MINI แทน

มิตซูบิชิลั่นอีก 2 ปีพร้อมขาย

ด้าน นายเออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) เป็นเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นอย่างมาก ตอบโจทย์การใช้งาน ทั้งในการขับขี่ด้วยระบบไฟฟ้า 100% สำหรับการใช้งานในเมือง

และยังสามารถขับขี่ในระยะทางไกลได้ด้วยระบบไฮบริด โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสถานีชาร์จ แต่อย่างไรก็ตามมิตซูบิชิมีแผนที่จะปรับผลิตภัณฑ์ของรถยนต์นั่งทั้งหมดให้เป็นระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า หรือ XEV ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

รถอีวีเหมาะกับลูกค้าฟลีต

รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรฯยังระบุเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้ซื้อหลักที่ซื้อรถอีวี นอกจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและได้รับผลกระทบน้อยจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว อีกกลุ่มที่ช่วยดันยอดให้ขึ้นสู่ตัวเลขดังกล่าวน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้า fleet องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีศักยภาพในช่วงที่ตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับภาวะกำลังซื้อชะลอลง

สำหรับรถอีวีสัญชาติตะวันตกที่กลุ่มผู้ซื้อมีศักยภาพสูง แม้บางค่ายรถจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการของภาครัฐแต่ก็จะได้แรงกระตุ้นจากอานิสงส์ของการเร่งขยายสถานีชาร์จเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้สูงขึ้น ส่วนค่ายญี่ปุ่นที่บอกว่า ต้องรอปี 2565 แต่หากทำราคาได้ดีและเหมาะสมเชื่อว่าในปี 2566 อาจมีโอกาสกลับมาทวงส่วนแบ่งการตลาดคืนได้

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ตลาดรถอีวีปีนี้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดมาจากแนวทางการส่งเสริมการสร้างตลาดและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการใช้งานรถ EV ในประเทศ นอกจากมาตรการด้านภาษี รวมถึงการให้เงินสนับสนุนที่ช่วยทำให้ระดับราคาปรับลดลงมาก

สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนให้เกิดสถานีชาร์จไฟฟ้า และที่อาจจะได้เห็นตามมาในอนาคต เช่น การช่วยติดตั้งตู้ชาร์จไฟฟ้าให้ที่บ้าน รวมถึงการขอมิเตอร์พิเศษแยกออกจากมิเตอร์ไฟบ้าน เป็นต้น

หวั่นชิ้นส่วนขาดกระทบส่งมอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรถอีวีที่มียอดขายสูงในตอนนี้ บรรดาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเป็นกังวลเรื่องการส่งมอบรถ โดยคาดการณ์กันว่าน่าจะเริ่มส่งมอบได้ภายในต้นไตรมาส 3 เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กำลังปะทุอยู่ในปัจจุบัน อันนำมาซึ่งวิกฤตราคาพลังงานที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะจบเมื่อไหร่ มีผลทำให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้น

และอีกด้านก็ยังนำมาสู่ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงต้นทุนสินแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอื่นที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย รวมถึงโอกาสที่ความสามารถในการผลิตรถยนต์เพื่อนำเข้ามาขายในไทยอาจจะไม่เพียงพอรองรับคำสั่งซื้อที่เกิดขึ้นได้

เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรฯที่รายงานว่า ปัญหาชิ้นส่วนรถยนต์อย่างชิปอิเล็กทรอนิกส์ขาดแคลนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และมีผลทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์โลกมีทิศทางชะลอตัวลง รวมทั้งในไทย โดยเฉพาะรถยนต์นั่งซึ่งมีการใช้ชิ้นส่วนชิปอิเล็กทรอนิกส์มากกว่ารถปิกอัพ

นอกจากนี้ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากวิกฤตเดียวกันก็ยิ่งส่งผลทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอลงด้วย จึงมีโอกาสที่รถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงจะได้รับผลกระทบก่อน อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยไทยเป็นตลาดรถที่มีระดับราคาขายปลีกสูงกว่าประเทศผู้ผลิตต้นทาง

ประกอบกับการแข่งขันเพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ในตลาดปัจจุบันมีสูง เนื่องจากกำลังได้รับการสนับสนุนด้านราคาจากภาครัฐ จึงมีโอกาสที่ค่ายรถอาจดึงรถอีวีบางส่วนมาเร่งทำตลาดที่ไทยก่อน

ปิกอัพมาแรงกว่ารถยนต์นั่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยปี 2565 อาจทำได้ราว 825,000 คัน หรือขยายตัว 8.7% (YOY) จากฐานที่ต่ำมากในปี 2564 ที่มียอดขายเพียง 759,119 คัน (ต่ำสุดในรอบ 13 ปี) อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงขึ้นมากจนกระทบต่อการผลิตชิ้นส่วนและราคาน้ำมันมากขึ้น ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจปรับลดลงไปได้ถึงระดับ 800,000 คัน เหลือขยายตัวเพียง 5.4% (YOY)

แต่หากสถานการณ์การขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายได้เร็วก็อาจจะทำให้ยอดขายสูงเกินกว่า 825,000 คัน กรณีไม่มีสงครามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยมองไว้ว่าน่าจะทำได้ 860,000 คัน ขยายตัว 13.3% (YOY) โดยรถปิกอัพเป็นกลุ่มที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่ารถยนต์นั่งในปี 2565 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นน้อยกว่า


เพราะภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือด้านราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้การลงทุนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่ยังคงเดินหน้าก็เป็นอีกปัจจัยสนับสนุน