5 ยักษ์รถใช้น้ำมันโกย 8.5 แสนล้าน โตโยต้า รั้งแชมป์ก่อนสู่ยุคอีวี

เปิดงบการเงิน 5 ยักษ์ ผู้ผลิตรถยนต์สันดาปในประเทศไทย ปี’64 กวาดยอดขาย 8.54 แสนล้านบาท พิษโควิดเอฟเฟ็กต์ทรุดเกือบทุกราย “โตโยต้า” ครองแชมป์สูงสุด 3.33 แสนล้านบาท “นิสสัน-มิตซูบิชิ” อ่วมโชว์ตัวเลขขาดทุน เผยยักษ์ใหญ่อุตฯรถยนต์ใช้น้ำมัน “ค่ายญี่ปุ่น” ทั้งสิ้น จับตาก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอีวี ค่ายจีนเปิดเกมรุกยึดส่วนแบ่งตลาด “โตโยต้า-อีซูซุ-ฮอนด้า” เร่งสร้างอีวีอีโคซิสเต็มก่อนเดินเครื่องรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว

เปิดงบฯ 5 ยักษ์ค่ายรถ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากรายงานผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยในปีงบประมาณ 2564 พบว่า 5 ค่ายรถยักษ์ใหญ่ที่มียอดขายสูงสุดเป็นค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นทั้งสิ้น โดยในปีงบการเงิน 2564 (1 เม.ย. 63-31 มี.ค. 64) มีรายได้รวมกว่า 8.54 แสนล้านบาท อันดับ 1 คือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายได้รวม 332,771 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11,300.20 ล้านบาท

อันดับ 2 คือ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด รายได้รวม 152,369.95 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15,766.53 ล้านบาท อันดับ 3 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม 137,720.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,649.48 ล้านบาท

อันดับ 4 บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2563) 135,328.42 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ -7,194.20 ล้านบาท อันดับ 5 บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม 96,105.95 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ -6,102.68 ล้านบาท

โควิดทุบยอดขาย

โดยจะพบว่าภาพรวมของรายได้ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ นั้น ในงบการเงินปี 2564 ส่วนใหญ่จะปรับลดลงเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชนโดยเฉพาะในเรื่องการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ จนทำให้ที่ผ่านมามีโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่งต้องหยุดไลน์การผลิตชั่วคราว

รวมถึงปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ก็ทำให้ระบบการขนส่งสะดุด เช่นกรณีโตโยต้ารายได้รวมและกำไรสุทธิปี 2564 “ลดลง” จากปีก่อนหน้ากว่า 9% ส่วนฮอนด้าจะพบว่ารายได้รวมลดลงกว่า 33% และกำไรสุทธิลดลงกว่า 68% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม 5 ยักษ์ผู้ผลิตจะพบว่าบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เป็นบริษัทที่ยังคงสามารถทำยอดขายและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นในยุคโควิด โดยในปีงบการเงิน 2564 มีรายได้รวม 152,369.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.18% จากปี 2563 (รายได้รวม 142,152 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 15,766.53 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 11.67% จากปี 2563

เอ็มจี-GWM น้องใหม่มาแรง

ขณะที่จากข้อมูลงบการเงิน พบว่าบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือว่าเป็นค่ายรถยนต์น้องใหม่ในประเทศไทยที่เพิ่งเข้ามาปักหลักในประเทศไทยปี 2556 โดยในปีงบการเงิน 2563 มีรายได้รวม 19,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 19.99% และมีกำไรสุทธิ 733.60 ล้านบาท เติบโตกว่า 877% จากที่ขาดทุนสุทธิในปี 2562

รวมทั้งค่ายจีนที่มาแรงอย่างบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) เข้ามาปักธงบุกด้วยการเข้าซื้อโรงงานผลิตของเชฟโรเลตเมื่อปี 2563 ซึ่งพุ่งเป้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และจะเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีของรัฐบาลอย่างเต็มที่ แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีการรายงานข้อมูลตัวเลขยอดขายในปี 2564

จีนกินรวบตลาดอีวี

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า จากมาตรการภาษีและเงินสนับสนุนของภาครัฐ 70,000-100,000 บาท ที่เพิ่งออกมาได้ช่วยกระตุ้นตลาดรถอีวีได้อย่างมาก ทำให้ค่ายรถจีนที่อาศัยจังหวะค่ายรถญี่ปุ่นยังไม่พร้อมทำตลาดเร่งชิงลูกค้าก่อนด้วยจุดแข็งการเลือกผลิตภัณฑ์บุกตลาดและการตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้ซื้อในวงกว้างมากขึ้น ทำให้รถอีวีสัญชาติจีนขยับราคาลงไปสูสีกับรถยนต์ใช้น้ำมัน ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ทำให้รถอีวีสัญชาติจีนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

รายงานยังระบุว่า นับจากนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการบุกตลาดและเข้ามาลงทุนของค่ายรถสัญชาติจีนรายใหม่ ๆ ที่ชัดเจนขึ้น ทั้งที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตเองและที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ประกอบรถให้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังที่อาจได้เห็นรถยนต์หลายรุ่นที่ลงมาแข่งขันมากขึ้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีโอกาสที่จีนอาจจะชิงส่วนแบ่งตลาดรวมได้ถึง 80% จากยอดขายรถ EV ที่คาดว่าในปี 2565 ตลาดรถอีวีจะมากกว่า 10,000 คัน ซึ่งถือว่าขยายตัวมากกว่า 412% (YOY) จากปี 2564 ที่มีรถ EV จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 1,954 คัน

ขณะที่ “ค่ายรถญี่ปุ่น” ที่เป็นผู้นำในตลาดรถใช้น้ำมันหรือเครื่องยนต์สันดาปในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอีวีนั้น อาจเข้ามาทำตลาดช้ากว่าค่ายรถจีนและค่ายรถยุโรป โดยคาดว่าจะเริ่มเข้ามาทำตลาดในช่วงครึ่งหลังปี 2565 และอาจมีโอกาสกลับมาทวงส่วนแบ่งการตลาดรถอีวีคืนได้ในปี 2566

โตโยต้าลุยสร้างอีวีอีโคซิสเต็ม

ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวไปสู่ความหลากหลายของรถยนต์ไฟฟ้า หรือ XEV เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโตโยต้ามองว่าประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน

และโตโยต้าก็ให้ความสำคัญกับการมุ่งเน้น beyond zero ซึ่งโตโยต้ามีรถยนต์ที่หลากหลาย ทั้งอีวี 100% หรือระบบไฮโดรเจน คิดว่าทิศทางและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลต่อ XEV พยายามนำเสนอการก้าวไปสู่การเป็นสังคมของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นพื้นฐาน ซึ่งถือว่ามาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้มีการนำเสนอโครงการพิเศษสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้ราคาจับต้องได้

ซึ่งปีนี้โตโยต้าก็มีนโยบายจะนำเข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า สินค้าพร้อมนำเสนอ คือ โตโยต้า bz4x เอสยูวีที่นอกจากเป็นรถไฟฟ้าแล้ว ยังมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ขับเคลื่อนสนุกสนาน ตอบสนองลูกค้าในหลาย ๆ รูปแบบ

ส่วนในอนาคตโตโยต้ามีแผนเตรียมการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในหลากหลายรุ่น ซึ่งมั่นใจว่าด้วยประสบการณ์การทำรถ XEV มาแต่ต้น โตโยต้ามีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านโรงงานประกอบ หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าโตโยต้ามีโรงงานประกอบแบตเตอรี่ (ชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า) มาไม่น้อยกว่า 5 ปี มีโรงงานไซเคิลแบตเตอรี่

เพราะฉะนั้น โตโยต้ามีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมาโตโยต้าญี่ปุ่นตั้งเป้าปล่อยรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30 รุ่น และมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2030 ถึง 3.5 ล้านคัน จากเดิมที่กำหนดไว้แค่ 2 ล้านคัน

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องเตรียมคือการทำอีวีอีโคซิสเต็มทั้งระบบ ลูกค้าที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะถูกเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานไปอย่างสิ้นเชิง เช่น ต้องคิดก่อนขับ จะไปไหน กำหนดเส้นทางให้แน่นอน กี่กิโลเมตร มีที่ชาร์จตรงไหน บริษัทที่ทำไฟแนนซ์รถยนต์ต้องพิจารณา จะบริหารมูลค่าของแบตเตอรี่และความเสี่ยงของตัวรถยนต์

โดยเฉพาะมูลค่าของแบตเตอรี่ค่อนข้างสูง แน่นอนว่าการทำไฟแนนซ์ต้องคิดเรื่องพวกนี้ด้วยมุมมองใหม่ รวมถึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตต้องพิจารณาไปถึงรูปแบบการเช่าใช้แบตเตอรี่ก็เป็นไปได้ เท่าที่ทราบบางประเทศก็ใช้แนวทางแบบนี้เพื่อลดภาระและลดปัญหาในการ replace ตัวแบตเตอรี่ หรือแม้แต่การซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ กระบวนการรองรับทั้งหมดของระบบไฟฟ้าต้องมีการเตรียมที่จะเปลี่ยนไปพร้อมกัน

“เราเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นพันธกิจ ไม่ใช่เฉพาะแค่ของโตโยต้าเท่านั้น ทุก ๆ บริษัทถ้าร่วมมือกัน การเดิน เราจะเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง”

อีซูซุ-ฮอนด้า รอเวลาถล่มอีวี

นายทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า การก้าวผ่านไปสู่ยุคอีวี อีซูซุกำลังพิจารณาว่าเมื่อไหร่จะเป็นเวลาที่เหมาะสม มีหลายคนมองว่าอีซูซุอาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเครื่องยนต์สันดาปไปสู่มอเตอร์ไฟฟ้า

แต่อีซูซุเชื่อว่ารถอีวีไม่น่าจะส่งผลกระทบกับตลาดรถปิกอัพ เพราะลักษณะการใช้งานของรถปิกอัพมีลักษณะพิเศษ ตอนนี้อีซูซุขายรถปิกอัพเป็นหลักยังไม่มีรถอีวี และลูกค้าไม่เคยถามถึงรถอีวีด้วย แต่เราก็มีเทคโนโลยีที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งในเชิงพาณิชย์ที่ใช้งานจริงและอยู่ในระหว่างการทดลอง

ส่วนตลาดรถยนต์ปีนี้อีซูซุประเมินว่าน่าจะถึง 900,000 คัน ยอดขายรวมของรถอีซูซุปีที่แล้วคือ 184,160 คัน เป็นรถปิกอัพอีซูซุ ดีแมคซ์ 150,741 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดรถปิกอัพของอีซูซุ 44.1% และรถอเนกประสงค์อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ ขายได้ 16,439 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 31.6% สำหรับรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ อีซูซุขายได้ 16,980 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 50.6%

“ตลาดรถปิกอัพขายได้ดีขึ้น มีสาเหตุ 2 ประการ คือ 1.มียอดค้างส่งมอบจากปีที่แล้วเป็นจำนวนมาก 2.มาจากภาวะโควิดที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องใช้รถปิกอัพในการขนส่งสินค้าดีลิเวอรี่ไปตามที่ต่าง ๆ ทำให้ความต้องการของรถปิกอัพเพิ่มมากขึ้น”

แหล่งข่าวจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ฮอนด้ามีความพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะทำตลาดในประเทศไทยไว้แล้วแค่รอเวลาที่เหมาะสม หรือข้อจำกัดของรถอีวีลดลง ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่าง ๆ ปัจจุบันฮอนด้ามีเทคโนโลยีไฮบริดซึ่งฮอนด้าได้มีการแนะนำรถยนต์ประเภทนี้หลากหลายรุ่นในหลายเซ็กเมนต์ ทั้งซิตี้, เอชอาร์-วี และซีวิค

“ฮอนด้ามองว่าไฮบริดคือเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ในขณะนี้ เพราะด้วยสมรรถนะการขับขี่และความประหยัดน้ำมัน ซึ่งไฮบริดจะเป็นตัวเชื่อมสำคัญเพื่อไปสู่รถยนต์อีวีของฮอนด้าในอนาคต”