เทสลา บุกไทยตลาดอีวีเดือด แห่วิ่งขอเป็นตัวแทนจำหน่าย

Photo by JOSH EDELSON / AFP

วงการรถยนต์ ดีลเลอร์ คึกคัก เทสลาตั้งบริษัทขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ดีลเลอร์-เกรย์มาร์เก็ตเสนอตัวร่วมวง เชื่อกดราคาต่ำลง 7-8 แสนบาท ค่ายรถจีน-ญี่ปุ่นสะเทือน รถสันดาปต้องปรับตัวรับแรงกระแทกอีกระลอก ตลาดอีวีตื่นตัวสุด ๆ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมแพ็กเกจอีวีลุ้นตัวโก่ง รอโครงสร้างภาษีใหม่ กุมขมับส่งมอบรถลูกค้าไม่ได้เบรกจองชั่วคราว

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคึกคักร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากบริษัท เทสลา ยักษ์ใหญ่ในวงการผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังของโลก สัญชาติอเมริกัน ที่มีมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ เป็นซีอีโอ เข้ามาจดทะเบียนบริษัทลูกในไทย วันที่ 25 เมษายน 2565 ด้วยทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท

ตั้งชื่อว่า “บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด” เพื่อประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน

แห่ขอเป็นดีลเลอร์

แหล่งข่าวผู้ประกอบรถนำเข้า หรือเกรย์มาร์เก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากทราบข่าวว่าเทสลาพร้อมเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย หลายคนพยายามทาบทามเพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายเพราะมั่นใจในชื่อชั้นของเทสลา และถือเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่คนให้ความไว้วางใจ ประกอบกับปัจจุบันเทรนด์การใช้รถอีวีโดดเด่นขึ้นมาก

นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส ประธานบีอาร์จี กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ระดับพรีเมี่ยมเปิดเผยว่า เทสลาเป็นแบรนด์ที่น่าสนใจมาก บีอาร์จีขายเทสลาอยู่หลายรุ่น ทั้งโมเดล 3, โมเดล Y, โมเดล X และโมเดล S ซึ่งได้รับความนิยมค่อนข้างมาก

ซึ่งการเข้ามาของเทสลาคงต้องรอดูว่านโยบายการทำตลาดจะเลือกทำเองหรือให้พันธมิตรช่วยจำหน่าย ซึ่งบีอาร์จีพร้อมเสนอตัวหากมีการเปิดรับสมัคร และมั่นใจว่าเทสลาน่าจะเป็นอีกตัวเร่งหนึ่งให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตได้อย่างรวดเร็วเหมือนในประเทศอื่น ๆ

ทุบราคาลง 7-8 แสนบาท

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวของเทสลาช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้ดีมาก เพราะไม่ว่าเทสลาจะมีนโยบายเพียงแค่ขายอย่างเดียว หรือมีแนวโน้มเข้ามาตั้งโรงงานผลิต ทั้งหมดย่อมทำให้ราคาขายต่ำลงอย่างแน่นอน ปัจจุบันกลุ่มเกรย์มาร์เก็ตต้องนำเข้าจากอังกฤษ หรือฮ่องกง

เนื่องจาก 2 ประเทศนี้ใช้รถพวงมาลัยขวาแบบเดียวกับบ้านเรา เสียภาษีศุลกากร (นำเข้า) 80% แต่เมื่อเทสลาเข้ามาทำตลาดเอง โปรดักชั่นสามารถนำเข้ามาจากจีน หรืออินโดนีเซีย ที่เทสลาเพิ่งตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตเร็ว ๆ นี้ ทั้ง 2 ประเทศมีข้อตกลง FTA เขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งเป็นข้อตกลงคิดภาษีในอัตรา 0% ยกตัวอย่าง เทสลา โมเดล Y ที่กำลังเป็นที่นิยม ราคาที่เกรย์มาร์เก็ตขาย 3 ล้านกว่าบาท ก็น่าจะทำให้ถูกลง 7-8 แสนบาท

ค่ายญี่ปุ่น-จีนสะอึก

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ราคาที่ต่ำลงมาใกล้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่น ๆ จะส่งผลกระทบต่อการทำตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งแบรนด์จากจีนและญี่ปุ่น ยิ่งถ้าเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเพียว ๆ กระทบรุนแรงแน่ เชื่อว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่กำลังจะคลอด ที่เลือกเพิ่มอัตราภาษีกลุ่มรถสันดาปจะยิ่งทำให้ราคารถใช้เครื่องยนต์แพงขึ้น ในขณะที่แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้นเป็นลำดับ

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การช่วยกันทำตลาดและปลุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องดี ตลาดจะขยายตัวมากขึ้น ในส่วนของเอ็มจีนั้นยังคงยืนยันและเดินหน้าตามแผนธุรกิจเดิม คือในช่วงปลายปี 2566 เอ็มจีจะเริ่มดำเนินการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่โรงงาน จ.ระยอง อย่างแน่นอน

เอ็มจีได้ลงทุนเพิ่มอีกกว่า 2 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ รองรับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย สอดคล้องกับแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยตามที่มีข้อตกลงกับบีโอไอ และเอ็มจีมีแผนการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดอาเซียนในอนาคตด้วย

รัฐบาลไทยเสียโอกาส

แหล่งข่าวระดับบริหารจากค่ายรถยนต์รายใหญ่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกระแสเทสลาประกอบธุรกิจในประเทศไทยนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากไม่มีการลงทุนประกอบ หวังว่านี่จะเป็นบทเรียนให้รัฐบาลต้องตระเตรียมและกำหนดมาตรการที่จะดึงดูดเม็ดเงินของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป สอดคล้องกับนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มองการเข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อจำหน่ายรถยนต์ของเทสลาในประเทศไทยครั้งนี้

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเกมกดดันและต่อรองกับรัฐบาลของอินโดนีเซียที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังมีรายละเอียดปลีกย่อย ข้อตกลงบางอย่างที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าท้ายที่สุดเทสลาจะต้องเลือกเพียงประเทศเดียวเป็นฐานผลิต และต้องยอมรับว่าอินโดนีเซียดูเหมาะสมกว่าไทยมากในแง่ของแหล่งวัตถุดิบแร่นิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้งานในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เทสลาเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้มีการเข้ามาคุยกับกรมสรรพสามิต เพื่อขอเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของรัฐบาล อย่างไรก็ดี หากทางเทสลามีความสนใจที่จะเข้าร่วมมาตรการอีวี กรมพร้อมเจรจาเข้าร่วมเช่นเดียวกับค่าย

ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ 3-4 ค่าย ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้อีวี ซึ่งมีทั้งค่ายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ โดยคาดว่าจะเห็นการเซ็นสัญญาร่วมกันได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 65 ซึ่งจะทำให้ประชาชนสนใจ และมีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อรถอีวีได้มากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ มีค่ายรถยนต์ 5 รายเข้าร่วม ปัจจุบันมียอดจองรถยนต์แล้วมากกว่า 10,000 คัน

“คาดว่าในปีนี้จะมียอดจองรถอีวีเข้ามากว่า 20,000-30,000 คัน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเรื่องราคาน้ำมัน และวงเงินอุดหนุนจากรัฐบาล แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามคือปัญหาการขาดแคลนชิป”

จี้สรรพสามิตเร่งคลอดภาษีใหม่

ส่วนประเด็นผู้ประกอบการรถอีวี ที่เซ็นเอ็มโอยูกับกรมสรรพสามิตเข้าร่วมโครงการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขายรถอีวีไปมากกว่า 2 พันคัน แต่ถึงวันนี้ยังไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้กับทางลูกค้า ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ยังไม่คลอด จนทำให้ค่ายรถจีน 2 ค่ายทั้งเกรท วอลล์ฯ และเอ็มจี ต้องหยุดรับจองโอร่า กู๊ดแค็ต, เอ็มจี อีพี และเอ็มจี แซดเอส อีวี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า คาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ การลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถอีวีจาก 8% เหลือ 2% ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนกรณีค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการ เกิดปัญหาไม่สามารถส่งมอบรถให้กับลูกค้าได้ เนื่องจากรอการลดอัตราภาษีสรรพสามิตมีผลบังคับใช้นั้น กรมได้รับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว และพยายามติดตามเรื่องนี้ให้อยู่