หมดหนทางลดค่าไฟ

ค่าไฟ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

นอกเหนือไปจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาค่าพลังงาน และการเลือกตั้งภายในประเทศที่กำลังจะเดินทางมาถึง สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลเป็นอย่างมากและได้สะท้อนผ่านมายัง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็คือ การปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้ารอบใหม่สำหรับปี 2566

โดยที่ประชุม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเชื้อเพลิงที่กำหนด เฉพาะงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย ยังคงเรียกเก็บค่า Ft ในอัตราเดิม หรือที่ 93.43 สตางค์/หน่วย

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทนอกเหนือไปจากประเภทที่อยู่อาศัย รวมไปถึงภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคบริการ จะถูกเรียกเก็บค่า Ft เพิ่มขึ้นในอัตรา 190.44 สตางค์/หน่วย หรืออาจกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ภาครัฐโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เลือกที่จะทำการตรึงค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยไว้ในอัตรา 4.72 บาท/หน่วย แต่ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.69 บาท/หน่วย

ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเกินกว่า 5 บาท/หน่วยนี้ มีเหตุผลหลัก ๆ มาจากค่าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก๊าซ LNG ที่ประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงานโลก กับอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ความจำเป็นที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องทยอย “จ่ายหนี้” ค่าต้นทุนผลิตไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังจากที่ กฟผ.ถูกบังคับให้แบกรับภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าส่วนนี้ ซึ่งไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาท มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น สมการ 3 ส่วนในการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจึงเกี่ยวพันกับ 3 หน่วยงานหลัก คือ บริษัท ปตท. ผู้จัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้า, ผู้ผลิตไฟฟ้าหลักคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ หรือ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งควบคุมดูแล ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่า Ft

สิ่งที่ผู้คุมกฎ หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ถูกสั่งให้คิดหาวิธีการก็คือ ทำอย่างไรจะให้ ค่าไฟฟ้า “ลดลง” หรืออย่างดีที่สุด ก็คือ “ตรึง” ไว้ในราคาที่เท่าเดิม (ค่า Ft รอบที่ 4/2565) ขณะที่ “ตัวช่วย” อย่างผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งก็คือ กฟผ.นั้น “หมดสภาพ” ที่จะแบกรับภาระต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าแล้ว (แบกไว้กว่า 120,000 ล้านบาท จนกระทบกับสภาพคล่องของ กฟผ. ถ้าไม่ได้รับการใช้หนี้คืน)

ขณะที่บริษัท ปตท.เอง ก็ได้รับการ “ขอร้อง” จาก กพช. ให้นำผลการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซ ซึ่งเข้าใจว่า “มีกำไร” เป็น “ตัวเงินถึง 6,000 ล้านบาท” มาช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้

แต่สิ่งที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขอมานั้น มัน “มากเกินไปกว่าที่จะตอบคำถามนักลงทุน” ที่ว่า ทำไม ปตท.จะต้องจ่ายเงินถึง 6,000 ล้านบาท มาช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า ทั้ง ๆ ที่ ปตท.เองก็เป็นผู้ขายก๊าซ LNG ให้กับ กฟผ. จนกลายมาเป็นคำตอบจากการประชุมบอร์ด ปตท. ในวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ในลักษณะของ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ที่ว่า ปตท.จะใช้มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ (?) โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า รวมทั้ง “พยายาม” จัดหาก๊าซ LNG ที่มีราคาเหมาะสม เพื่อลดต้นทุนเชื้อพลิงการผลิตไฟฟ้า “เทียบเท่า” กับ 6,000 ล้านบาท

แปลได้ความว่า จะไม่มีการจ่ายเป็นตัวเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้โดยตรง

ขณะที่ข้อเรียกร้องของ กกร. ที่ขอให้ช่วยลดหรือตรึงค่าไฟฟ้าสำหรับปี 2566 ดังขึ้นเรื่อย ๆ จน กกพ. ต้องขอให้ กฟผ.-ปตท. “ทบทวน” ประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติ-น้ำมันดีเซล-อัตราแลกเปลี่ยน และภาระหนี้คงค้างชำระของ กฟผ. อีกครั้ง จนได้ข้อสรุปในวันที่ 29 ธ.ค. ที่ว่า

ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ยังคงจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมที่ 4.72 บาท/หน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม สามารถลดค่าไฟฟ้าลงมาได้ “เล็กน้อย” โดยจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 5.33 บาท/หน่วย หรือลดลงได้แค่ 36 สตางค์/หน่วย


ทั้งหมดนี้จึงเป็นเบื้องหลังถึงที่มาที่ไป หลังการแถลงเหตุผลอย่างเป็นทางการของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ว่า ทำไมค่าไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมจึงแพงกว่าภาคครัวเรือน และขอร้องให้รับสภาพที่เกิดขึ้น