
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ
สินค้าแบรนด์ไทยไม่ใช่น้อยที่ไปได้ไกลระดับโลก THANN (ธัญ) แบรนด์สปาจากสมุนไพรไทยของคุณโอ๋ “ฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์” เป็นหนึ่งในนั้น
หลังขยายตลาดไปกว่า 60 ประเทศ ยอดขายหลายร้อยล้านบาท โตปีละ 15-20% จึงขยับขยายการลงทุนไปยังธุรกิจเวลเนส ที่อยุธยา บนพื้นที่ 30 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
คุณโอ๋เล่าว่า ที่ดินตรงนี้เดิมตั้งใจซื้อที่ไว้ปลูกบ้านไว้อยู่เอง เหมือนคนกรุงเทพฯทั่วไปที่อยากมีบ้านริมน้ำ แต่เจ้าของที่ดินข้าง ๆ อยากขายจึงซื้อไว้ ทำให้ได้ที่ดินผืนใหญ่ หน้ากว้างติดแม่น้ำยาวถึง 300 เมตร จึงกลายมาเป็น “THANN Wellness Destination”
“เคยมีต่างชาติมาคุยว่า ถ้าเขาจะเปิดรีสอร์ตชื่อ ธัญ จะได้ไหม อยากใช้แบรนด์ ทำให้รู้ว่าแบรนด์เราขยายไปเป็นฮอสพิทาลิตี้ได้ แต่ตอนนั้นปฏิเสธเพราะคิดว่ายังไม่มีโนว์ฮาวอะไรจะไปให้เขา ไม่รู้ว่าจะเก็บค่ารอยัลตี้ฟีไปทำอะไร แต่ทำให้เห็นว่าแบรนด์ขยายไปทำธุรกิจบริการได้ คงเหมือนแคมเปอร์โฮเทลที่สเปนโรงแรมมูจิที่กินซ่า”
เมื่อโอกาสมาถึง เขาจึงสร้าง THANN Wellness Destination
“โอกาส” ที่ว่า คือ “เวลา-คน และเงิน”
“ที่เริ่มมีเวลา เพราะลูกน้องเก่ง เราเลยไม่ต้องไปลงมือเองทุกเรื่อง อินเทอร์เน็ตทำให้ไม่ต้องไปทุกประเทศ เปิดสิงคโปร์ เศรษฐีจาการ์ตาก็บินมาซื้อได้ เราไม่ได้บ้ายอ ที่ต้องเก็บจำนวนประเทศเยอะ ๆ”
เมื่อรู้จักคำว่า “พอ” ก็บริหารเวลา และความเครียดได้ดี
“เราอยู่ในธุรกิจที่ทำให้คนไม่เครียด แล้วเราจะเครียดทำไม”
สะกดคำว่า “พอ” ได้ ก็มีพลังทำอย่างอื่น THANN Wellness Destination เปิดได้ 3 เดือน ก็เจอวิกฤตโควิด
“โควิด เป็นเหตุการณ์ที่เกิดมาไม่เคยเจอ แต่โดยส่วนตัวมองโลกบวกเสมอ ทำให้ได้อยู่บ้าน ได้ให้เวลากับตัวเอง กับครอบครัว คนที่มีหนี้อาจจะหนัก แต่เราเป็นบริษัทที่ตั้งแต่เปิดมาไม่เคยกู้เงิน แม้แต่บาทเดียว”
คุณโอ๋เป็นคนที่ระมัดระวังเรื่องการใช้เงิน เพราะเคยผ่านประสบการณ์วิกฤตต้มยำกุ้ง จึงถือคติ “มีน้อยใช้น้อย มีเยอะก็ใช้เยอะ”
“พอเริ่มมีเยอะ ก็ไปสร้างโปรเจ็กต์อยุธยา เพื่อทำให้แบรนด์ธัญแข็งแรงขึ้นไปอีก”
แม้จะเปิดช็อปขายสินค้าในช่วงโควิดไม่ได้ กระทบยอดขายในไทยมาก แต่ช่องทางออนไลน์ก็ทำให้ได้ออร์เดอร์จากต่างประเทศมาทดแทน โดยเฉพาะในจีน
“ธัญ-THANN” มาจากคำว่า “ธัญพืช” สะท้อนถึงที่มาของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ส่วนแบรนด์ในภาษาอังกฤษ มี N เพิ่มอีกตัว เพื่อไม่ให้อ่านออกเสียงเป็น “แดน”
จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นวิศวกร เมื่อเรียนจบจึงไปสมัครงานที่เซเรบอส (เจ้าของผลิตภัณฑ์ “รังนก และซุปไก่”) ได้เรียนรู้งานด้านการตลาด จากนั้นจึงไปเรียนต่อโท MBA ที่ออสเตรเลีย โดยยังทำงานกับเซเรบอส ที่ออสเตรเลีย ก่อนย้ายไปอยู่กับบริษัทด้านอาหารยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลีย ในตำแหน่ง “เอ็กซ์ปอร์ตแมเนเจอร์”
ก่อนกลับมาทำตามความฝันที่เมืองไทย
“ผมคิดตั้งแต่เด็กว่า อายุสัก 30 จะเป็นเถ้าแก่ พอใกล้ 30 ก็เลยเขียนบิสซิเนสแพลนไปให้เจ้านายดู บอกว่าถ้ายูคิดว่าดีไอจะลาออก ถ้าไม่ดีจะอยู่เป็นลูกน้องยูต่อไป ตอนนั้นเราเงินเดือนหมื่นเหรียญแล้ว ก็ไม่ได้อยากออกไปลำบากเจ้านายบอกว่าเป็นบิสซิเนสแพลนที่ดี”
ครึ่งปีต่อมาจึงกลับเมืองไทย พร้อมแผนธุรกิจเล่มนั้น ใช้เวลาอีก 5 เดือน เปิดตัวแบรนด์ “ธัญ” พร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในงาน BIG
“เป็นเอ็กซ์ปอร์ตแมเนเจอร์ ต้องดูตั้งแต่การเงิน การตลาด และอื่น ๆ พอมาทำธุรกิจตัวเองก็ทำได้ ทั้งสร้างแบรนด์ หาตัวแทนการขาย การวางโครงสร้างราคา ธุรกิจอาหารกับคอสเมติกไม่ต่างมาก เป็นเรื่องของประสาทสัมผัส”
“ธุรกิจนี้แข่งขันกันสูง แต่ผมแข่งกับตัวเองมากกว่า ทุกคนต้องมีแนวทางของตัวเองถึงจะรอด ที่ผ่านมามีคนติดต่อขอซื้อกิจการเราเยอะมาก แต่ผมไม่ขาย เพราะมีความสุขที่ได้ทำ THANN คือ อิคิไก ของผม ตราบใดที่มีตังค์พอใช้ ลูกค้ารัก ลูกน้องยังอยากจะทำงานกับเรา ก็จะทำไปได้เรื่อย ๆ”