ขึ้นเงินเดือนน้อย ๆ ดีไหม ?

เงิน
คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

คำถามนี้ผมตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทนี้น่าจะ…

1.เคยทำโครงสร้างเงินเดือนมานานหลายปีแล้ว และไม่เคย update โครงสร้างเงินเดือน ก็เลยทำให้ค่ากลาง (midpoint) ของแต่ละกระบอกเงินเดือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน

2.ผลจากการไม่เคย update โครงสร้างเงินเดือน จึงทำให้ actual pay คือการจ่ายเงินเดือนจริงของพนักงานโดยเฉลี่ยในแต่ละ job grade เข้าไปอยู่ใน quartile 3 หรือ 4 เป็นส่วนใหญ่ ทำให้พนักงานที่ทำงานมานาน เงินเดือนอาจจะใกล้ตัน หรือเกินกระบอก

เพราะบริษัทที่เช็กข้อมูลของตลาดทุกปี และมีการ update โครงสร้างเงินเดือนให้แข่งขันกับตลาดได้จะมีปัญหาในเรื่องนี้น้อยมากครับ

จากข้อสังเกตทั้ง 2 ข้อ จึงเป็นที่มาของนโยบายที่จะควบคุมไม่ให้ฐานเงินเดือนสูงเกินกระบอก (เกิน max) เพราะค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่จ่ายจริงของพนักงานในกระบอกนี้จะเกิน midpoint (ตามข้อสังเกตที่ผมบอกไว้ข้างต้น) เลยต้องขึ้นเงินเดือนให้น้อยลง

แล้วหาเงินตัวอื่นซึ่งคือ special allowance เติมเข้าไปเพื่อไม่ให้เงินเดือนตันเร็ว และต้องไม่ลืมว่า special allowance ที่เติมเข้าไปนี้คือ “ค่าจ้าง” ซึ่งจะมีผลที่จะต้องนำไปใช้เป็น “ฐาน” ในการคำนวณโอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยนะครับ แม้จะดูว่าเป็นตัวช่วยไม่ให้เงินเดือนตันเร็วก็ตาม

ถ้าถามความเห็นว่าผมเห็นด้วยไหมที่จะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานน้อย ๆ แล้วไปเพิ่ม special allowance ให้กับพนักงานดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาเงินเดือนตัน ?

ตอบว่า “ไม่เห็นด้วย” ครับ

คำแนะนำคือ บริษัทควรจะต้อง update โครงสร้างเงินเดือนให้แข่งขันกับตลาดได้ ซึ่งโครงสร้างเงินเดือนที่ update ใหม่ควรจะมี midpoint ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาดที่เขาจ่ายกันในแต่ละ job grade ของบริษัท

และถ้าจะให้ดีกว่านั้นคือ ควรจะ mark up ค่า midpoint ให้สูงกว่าตลาดสักประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้บริษัทมีโครงสร้างเงินเดือนที่ดึงดูดคนนอกให้อยากเข้ามาร่วมงาน และยังรักษาคนในเอาไว้ให้อยู่กับบริษัทได้ดีขึ้นอีกด้วย


ถ้าบริษัท update โครงสร้างเงินเดือนให้แข่งขันกับตลาดได้แล้ว จะได้ไม่ต้องมาจ่าย special allowance เพื่อแก้ปัญหาพนักงานเงินเดือนตัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเดิมเพื่อสร้างปัญหาใหม่ให้วุ่นวาย เมื่อ update โครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้วให้ list เงินเดือนพนักงานที่อยู่ในแต่ละ job grade มาดูอีกครั้งว่า actual pay โดยเฉลี่ย (average salary) อยู่ตรง quartile ไหนของแต่ละกระบอกเงินเดือน แล้วจะพบว่าปัญหาที่มีนั้นคลี่คลายไปเยอะเลยครับ