ปรับเงินเดือนหนีพนักงานใหม่

คิดเงิน
คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ https://tamrongsakk.blogspot.com

การปรับเงินเดือนจะมีอยู่หลายสูตรหลายวิธี

วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันคือ วิธีการปรับแบบ “คลื่นกระทบฝั่ง” หรือ “compression adjustment”

การปรับแบบ compression adjustment หรือคลื่นกระทบฝั่งมีหลักการคือ จะปรับเงินเดือนให้กับคนเก่าที่มีเงินเดือนน้อยกว่า “จุดตัด” ลงไป ถ้าคนเก่าคนไหนได้รับเงินเดือนตั้งแต่จุดตัด หรือมากกว่าขึ้นไปจะไม่ได้รับการปรับเงินเดือนอีก เพราะถือว่าเงินเดือนปัจจุบันพ้นผลกระทบจากการที่บริษัทปรับอัตราเริ่มต้นสำหรับการรับคนเข้าใหม่แล้ว อาทิ

เดิมบริษัทของเรามีอัตราเริ่มต้นสำหรับคนที่เพิ่งจบปริญญาตรี (ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน) ที่ 16,000 บาท ต่อมาบริษัทของเราสำรวจข้อมูลในตลาดแล้วพบว่าปัจจุบันในตลาดเขาจ่ายกันอยู่ที่ 17,000 บาท บริษัทก็เลยอยากจะปรับอัตราการจ้างสำหรับปริญญาตรีใหม่เป็น 17,000 บาท ให้สามารถสู้กับตลาดได้ แน่นอนครับว่าคนที่เข้ามาทำงานก่อนหน้านี้สักปีสองปีจะต้องโวยวายแน่นอน

ถ้าบริษัทปรับอัตราแรกรับปริญญาตรีจาก 16,000 เป็น 17,000 บาททันที และพนักงานที่เข้ามาก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการปรับเงินเดือนเพื่อหนีเด็กรุ่นใหม่ (เพราะพนักงานเดิมที่เข้ามาก่อนหน้านี้จะมีอัตราเงินเดือนอยู่ระหว่าง 16,000 ถึง 17,000 บาท และยังไม่รวมถึงพนักงานที่อายุงานมากกว่านี้ไปอีก ถึงแม้จะเคยได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีไปบ้างแล้วปีสองปี แต่เงินเดือนปัจจุบันสูงกว่า 17,000 บาทไปไม่มากนัก)

ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วถ้างั้นจะปรับคนเก่ายังไงดีล่ะ ?

จึงเป็นที่มาของสูตรในการปรับแบบคลื่นกระทบฝั่งครับ

ผมขอยกตัวอย่างให้ดูชัด ๆ ดังนี้ นะครับ

สูตรในการปรับเงินเดือน (compression adjustment)

1.จุดตัด = ค่าจ้างเริ่มต้นใหม่ + ค่าคงที่ x (ค่าจ้างเริ่มต้นใหม่-ค่าจ้างเริ่มต้นปัจจุบัน)

2.ค่าจ้าง (ใหม่) = ค่าจ้างปัจจุบัน + (จุดตัด-ค่าจ้างปัจจุบัน) หาร 2

ตัวอย่าง

สมมติปัจจุบันบริษัทมีอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิ = 16,000 บาท บริษัทต้องการจะปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิใหม่เพื่อให้แข่งขันกับตลาดได้ = 17,000 บาท

แทนค่าสูตร

จุดตัด = 17,000 + 1.5 (17,000-16,000) (ผมสมมติให้ค่าคงที่ = 1.5 ก่อนนะครับ) = 18,500 บาท

สมมติปัจจุบันมีพนักงานได้รับเงินเดือนอยู่เดือนละ 17,150 บาท เขาจะได้รับการปรับเงินเดือนตามสูตร CA ดังนี้

เงินเดือนใหม่ = 17,150 + (18,500-17,150) หาร 2

เงินเดือนใหม่ = 17,825 บาท (พนักงานเก่าคนนี้จะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิม 675 บาท)

ดังนั้น พนักงานที่เงินเดือนตั้งแต่จุดตัดขึ้นไปคือ (18,500) จะไม่ได้รับการปรับเงินเดือน เพราะถือว่ามีเงินเดือนสูงมากพอที่จะพ้นจากผลกระทบของการปรับเงินเดือนเริ่มต้นตามคุณวุฒิของคนใหม่แล้ว

ค่าคงที่คืออะไร ? ต้องเป็น 1.5 หรือไม่ ?

คำตอบคือค่าคงที่จะกำหนดเท่าไหร่ก็ได้ครับ

และค่าคงที่ที่ผมยกตัวอย่างคือ 1.5 นั้นไม่ได้เป็นกฎเหล็กตายตัวนะครับ

ค่าคงที่จะกำหนดไว้ที่เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับข้อมูลจริงของแต่ละบริษัทที่ต้องไปดูกันเอาเอง อาจจะมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ก็ได้

วิธีการคือ ท่านจะต้องนำข้อมูลเงินเดือนของคนเก่าที่บริษัทรับเข้ามา ด้วยอัตราเริ่มต้นเดิมมาเรียงลำดับจากน้อยไปมากใน Excel แล้วก็ใส่สูตรคลื่นกระทบฝั่งนี้เข้าไป แล้วทดลองเปลี่ยนค่าคงที่เพื่อดูว่าจุดตัดตรงไหนที่จะเป็นจุดที่คนเก่ามีเงินเดือนที่น่าจะพ้นผลกระทบจากการปรับเงินเดือนคนเข้าใหม่ ก็ใช้ค่าคงที่ตัวนั้นแหละครับ