ติดอาวุธหลักคิด BCG

คอลัมน์ : SD Talk

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และพันธมิตร สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (MSME) เข้าร่วมอบรมหลักสูตร “BCG เศรษฐกิจใหม่ใกล้ตัว”

ภายใต้โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ชูจุดเด่นหลักสูตรที่ออกแบบให้ผู้ประกอบการบูรณาการ BCG ในธุรกิจได้ง่าย ๆ เพื่อโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน ในสภาวะท้าทายทางเศรษฐกิจ ตั้งเป้าหมาย 1,000 ราย ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ

“วีระพงศ์ มาลัย” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยปรับใช้ BCG Economy Model ไปช่วยตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศ ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

“โดยอาศัยกลไกทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากทำมากแต่ได้น้อย ไปสู่ทำน้อยแต่ได้มาก โดย สสว.เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุน MSME ในด้านต่าง ๆ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมธุรกิจ MSME ผ่านกลไกการพัฒนา BCG”

“กิติพงค์ พร้อมวงค์” ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวถึงการร่วมดำเนินงานในโครงการนี้ว่า สอวช.จะทำงานร่วมกับเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand : UNGCNT) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการครอบคลุมทั้งการพัฒนาระบบกระตุ้นผู้ประกอบการที่จะปรับตัวธุรกิจ การดำเนินงาน BCG พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวรับโอกาสได้

“ธันยพร กริชติทายาวุธ” ผู้อำนวยการ UNGCNT กล่าวเสริมว่า หลักสูตร “BCG เศรษฐกิจใหม่ใกล้ตัว” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ได้รับการออกแบบให้เข้าใจเครื่องมือด้านความยั่งยืนได้ง่าย ๆ แบบ Back to Basic โดยเน้นการนำไปใช้ได้ทันที ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คือ

ส่วนแรกเป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ BCG Economy เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจ BCG กับการพัฒนาธุรกิจของตนเอง เช่น โอกาสทางธุรกิจในอนาคต ขณะเดียวกันก็มองเห็นเศรษฐกิจ BCG ว่าเป็นทิศทางที่ธุรกิจสามารถดำเนินการเพื่อการเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

ทั้งระบบนิเวศธุรกิจ รู้จักที่มา ความสำคัญ และความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับ BCG ตลอดจนกลไกและมาตรการ สนับสนุน MSME เช่น นโยบายประเทศ มาตรการทางการเงิน การลงทุน และการส่งเสริมการค้า (T-MARK)

ส่วนที่สองเป็นข้อมูลเกี่ยวกับ Circular Mark, Circular Economy และ Circular Design for BCG ที่จะเริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐานความเข้าใจ และความสำคัญของ Circular Economy การประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ด้วยเครื่องมือ “CIRCO : Creating Business Through Circular Design”

เครื่องมือเชิงระบบในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับทิศทาง BCG ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมองเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และปรับกลไกธุรกิจให้สามารถรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางกำไร และการรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรธุรกิจได้

ทั้งนี้ โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy ตั้งเป้าหมายที่จะจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ และเข้าใจเรื่อง BCG ให้กับผู้ประกอบการ MSME จำนวน 1,000 ราย ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ในรูปแบบ on-site และ online ระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2566

โดยจะเริ่มครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ https://forms.gle/T8W1fft7ENKi4NEDA หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย www.globalcompact-th.com หรือเว็บไซต์ CIRCO Hub Thailand [email protected]