Market-think : หนังสือไม่มีวันตาย

งานสัปดาห์หนังสือ
คอลัมน์ : Market-think 
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ไม่ใช่เพียงสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เท่านั้นที่ปลื้มปริ่มกับบรรยากาศในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27

คนรักหนังสือทุกคนก็เช่นกัน

เพราะเป็นการประกาศให้ทุกคนได้รับรู้โดยทั่วกันว่า “หนังสือยังไม่ตาย”

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนในแวดวงหนังสือค่อนข้างหวั่นไหวกับผลประกอบการทางธุรกิจ

ยอดขายหนังสือทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และพ็อกเกตบุ๊ก ลดลง

บางประเภทก็ลดมาก บางประเภทก็แค่ปรับลดเล็กน้อย

แต่ที่น่ากลัวก็คือ เอเย่นต์ และร้านหนังสือปิดตัวลงเรื่อย ๆ

เมื่อช่องทางการขายดั้งเดิมลดน้อยลง ยอดขายก็ต่ำลงเป็นธรรมดา

แม้ช่วงหลัง “หนังสือ” ก็เหมือนสินค้าทั่วไปที่ปรับตัวเข้าหาช่องทางออนไลน์มากขึ้น

แต่ยอดจำหน่ายก็ยังไม่สามารถทดแทนช่องทางเดิมได้

ในจำนวนหนังสือทั้งหมด “พ็อกเกตบุ๊ก” ดูจะเป็น “ความหวัง” ของคนในแวดวงหนังสือ

เพราะไม่ต้องแข่งเรื่อง “เวลา” กับสื่อออนไลน์เหมือนหนังสือพิมพ์และนิตยสาร

หนังสือพ็อกเกตบุ๊กยังรักษาระดับยอดขายไว้ได้ แม้จะลดต่ำลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้

สำนักพิมพ์ใหม่ ๆ ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แนวหนังสือก็พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความนิยม

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ นิยายวาย

ตอนที่ออกมาช่วงแรก ๆ ร้านหนังสือหลายแห่งประกาศเลยว่า ไม่ขายนิยายวาย เพราะมีแรงต้านจากพ่อแม่บางกลุ่ม

แต่วันนี้ “นิยายวาย” กลายเป็นหนังสือยอดนิยม เหมือนกับซีรีส์วาย

ร้านหนังสือที่เคยประกาศไม่ขาย ตอนนี้ทำเป็นชั้นหนังสือเฉพาะเลย

ติดป้ายชัดเจนว่า “นิยายวาย”

สถานการณ์ของวงการพ็อกเกตบุ๊กช่วงที่ผ่านมายังคงรักษาระดับความคึกคักได้

2 งานใหญ่แห่งปีของวงการหนังสือ คืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ คนยังแน่นขนัดเหมือนเดิม

ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เคยบอกว่าเป็นงานที่มีคนมาร่วมงานมากที่สุด

จนกระทั่ง…

เมื่อ 2 ปีก่อน ศูนย์สิริกิติ์ประกาศหยุดปรับปรุงครั้งใหญ่

งานหนังสือต้องย้ายไปที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

สถานที่จัดงานดีมาก แต่ระบบการเดินทางที่ไกลจากกลางเมือง และไม่มีขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าที่รองรับคนจำนวนมากแบบงานหนังสือ

ทำให้จำนวนคนที่ไปงานหนังสือลดลงอย่างน่าตกใจ

โดยเฉพาะวันธรรมดา ที่ตามปกติคนทำงานจะไปเดินงานช่วงเย็น และมีเวลาเดินดูหนังสือสัก 3-4 ชั่วโมง

แต่พอเปลี่ยนสถานที่เป็นเมืองทองธานี กว่าจะเดินทางไปถึงก็เหลือเวลาแค่ 1-2 ชั่วโมง

ปัจจัยด้านลบดังกล่าวทำให้งานหนังสือที่เคยแน่นขนัดด้วยผู้คนเหงาหงอยลงอย่างเห็นได้ชัด

แม้ครั้งล่าสุดจะเปลี่ยนไปจัดงานที่ศูนย์บางซื่อ ที่อยู่ใกล้กลางเมืองและมีระบบขนส่งมวลชนรองรับ

จำนวนคนอาจเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกขวัญกำลังใจของคนในแวดวงหนังสือได้

จนกระทั่ง…

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ปรับปรุงเสร็จเรียบร้อย

สวยงามและยิ่งใหญ่กว่าเดิม

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติจึงย้ายวิกกลับมาที่เดิม

ใครจะไปนึกว่าเพียงแต่เปลี่ยน “ทำเล” บรรยากาศเก่า ๆ ก็กลับมาทันที

งานหนังสือคึกคักสุด ๆ คนเบียดเสียดกันจน “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” เขียนเล่น ๆ ในเฟซบุ๊กของเขาว่า รัฐบาลควรประกาศให้ศูนย์สิริกิติ์เป็นพื้นที่ภัยพิบัติได้แล้ว

เพราะคนแน่นมากกก…

สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ยิ้มระรื่นกันถ้วนหน้า

เพราะรายได้จาก 2 งานนี้ คือ “เส้นเลือดใหญ่” ของสำนักพิมพ์

เป็น “เงินสด” เข้ากระเป๋าทันที ไม่ใช่ระบบ “เครดิต” เหมือนกับการขายฝากตามร้านหนังสือ

นอกจากสำนักพิมพ์ และคนรักหนังสือจะยิ้มแย้มแจ่มใสจากยอดขายและจำนวนคนที่ไปงานมหกรรมหนังสือ

มีอีกคนหนึ่งที่น่าจะดีใจ

นั่นคือ ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เพราะงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 ถือเป็นงานเปิดตัวศูนย์สิริกิติ์ใหม่ที่ดีที่สุด

อยู่ดี ๆ คนก็เดินทางมาสัมผัสกับศูนย์สิริกิติ์จำนวนเป็นแสนคน

ไม่ต้องเสียเงินจัดอีเวนต์สักบาทเดียว

แถมได้เงินค่าเช่าสถานที่จากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ด้วย


ครับ งานนี้ “วิน-วิน-วิน” กันทุกฝ่าย