งานหนังสือทะลักศูนย์สิริกิติ์ มั่นใจโกย 300 ล้าน-จอดรถ 3 พันคันเต็ม

งานสัปดาห์หนังสือ

มหกรรมหนังสือระดับชาติสำเร็จเกินคาด คนล้นหลามทะลักศูนย์สิริกิติ์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ชี้เพราะอั้นมานานถึง 3 ปีจากพิษโควิด มั่นใจยอดขายปีนี้รายได้เกินเป้า 300 ล้านบาท ผู้เข้าชมงานต่อคิวแน่น ที่จอดรถ 3 พันคันเต็มทุกวัน เผย 12 วันทะลุ 1 ล้านคนแน่ คาดเสาร์-อาทิตย์คนแห่มางาน 2 แสนคนต่อวัน

นางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ปีนี้ประสบความสำเร็จเกินคาด เพราะจากการประเมินหลังเปิดงานวันแรกเมื่อ 13 ตุลาคม 2565 มีผู้สนใจเข้าต่อคิวลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก เฉพาะวันธรรมดาที่ผ่านมามีผู้เข้าชมประมาณ 1 แสนคนต่อวัน ซึ่งที่จอดรถ 3,000 คันเต็มตลอด คาดว่าช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีผู้เข้าชมงานมากขึ้นเท่าตัวคือ 2 แสนคนต่อวัน

“มั่นใจว่า หลังจัดงานครบ 12 วันแล้ว จำนวนผู้เข้าชมงานอาจมีสถิติมากกว่า 1 ล้านคนจากเป้าที่ตั้งไว้ รวมถึงยอดขายหรือรายได้จากการขายหนังสือของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ จะมากกว่า 300 ล้านบาท โดยรายได้จะทราบหลังงานจบ เนื่องจากสำนักพิมพ์และผู้ขายไม่ได้มีการแจ้งยอดรายวัน”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานหนังสือเป็นจำนวนมาก แต่นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวถึงเสียงสะท้อนของสำนักพิมพ์ว่า ยอดขายอาจไม่ได้พุ่งสูงมากนัก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคหรือผู้เข้าชมงานนั้นอาจไม่ได้มีมาก แต่ยอดขายโดยรวมน่าจะเกิน 300 ล้านบาทตามเป้าหมาย

ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดงานหนังสือที่ต้องจัดประจำทุกปีต้องเว้นช่วงไปนานถึง 3 ปี เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย บวกกับเป็นจังหวะที่ศูนย์สิริกิติ์ได้ปรับโฉมใหม่แล้วเสร็จพอดี งานหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 ปีนี้จึงคึกคักมากเป็นพิเศษ นับเป็นข่าวดีของสังคมไทยที่มีการตื่นตัวเรื่องการอ่าน

ยอมรับว่า บรรดานักอ่านและผู้คนล้วนรอคอยที่จะกลับมาที่นี่ (ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) อีกทั้งในโลกแห่งการสื่อสารได้มีการบอกกล่าวในทุกแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งโซเชียลมีเดียยังคงเป็นช่องทางหลักในการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการแชร์รูปสวย ๆ ภายในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ของโลกโซเชียลด้วย

ที่สำคัญ การที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติมาเปิดงาน พร้อมมีการไลฟ์สดขณะเปิดและเดินเยี่ยมบูทหนังสือของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งมีคนดูเป็นจำนวนมากนั้น ถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนตื่นตัวและดึงคนมางานกันมากขึ้น

ทั้งนี้ บรรดาสำนักพิมพ์ได้ออกหนังสือใหม่เป็นจำนวนมากอีกด้วย หลังชะลอตัวมาระยะหนึ่ง แม้ว่าทุกคนจะหาข้อมูลได้จากโลกออนไลน์ แต่หนังสือยังคงเป็นความรู้เชิงลึกขั้นสูง ทำให้เราคิดว่าหนังสือนั้นไม่มีวันตาย การอ่านยังเป็นการสร้าง creativity และ logical thinking อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีพรรคการเมืองมาออกบูทหลายพรรค ทำให้เกิดเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ที่มีการแชร์กันค่อนข้างมาก ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาจึงทำให้งานมหกรรมหนังสือปีนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก

สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติฯ ประกอบด้วย โซนหนังสือ 6 หมวด ได้แก่ หนังสือเด็กและการศึกษา หนังสือทั่วไป หนังสือเก่า หนังสือประวัติศาสตร์และการเมือง หนังสือนิยายและวรรณกรรม และหนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น

บริเวณแลนด์มาร์ก (Landmark) กลางพื้นที่การจัดงาน เป็นจุดสำคัญของการถ่ายรูปและเช็กอิน สามารถมองภาพของงานในมุมมองของ Bird Eyes View แบบ 360 องศา คล้ายการได้เฝ้ามองเมืองหนังสือจำลอง ในโซนเดียวกันยังมีถนนห้องสมุด (Reading Road) ถนนสายพิเศษที่ตกแต่งด้วยรายชื่อนักเขียน ชื่อหนังสือ และบางประโยคประทับใจจากหนังสือ แถมยังจะได้พบปะสังสรรค์ พูดคุย และกระทบไหล่นักเขียนที่ชื่นชอบ

ถนนนักอ่าน (Reader Road) โดย PUBAT x สมาคมป้ายยา พบกิจกรรม Envelope letters on the wall เขียนความในใจใส่ซองจดหมายติดไว้บนกำแพงในบูท Book Blind Date แลกเปลี่ยนหนังสือ โดยห่อหนังสือและเขียนแค่คำโปรย Book Playlist จัดลิสต์หนังสือตามหัวข้อและอารมณ์ที่พร้อมจะส่งต่อให้นักอ่านคนอื่น ๆ ได้อ่านตาม และล้อมวงเข้ามา ป้ายยาหนังสือกัน

นิทรรศการ Booktopia เมืองในฝันของนักอ่าน บริเวณด้านหน้าระหว่างฮอลล์ 6-7 เปิดพื้นที่ให้กับความคิดสร้างสรรค์และพลังของการมีส่วนร่วม เชิญชวนนักอ่านร่วมแชร์ แบ่งปัน และเติมเต็มไอเดียของภาพเมืองในฝัน แล้วส่งต่อไปยังหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบได้ผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะที่นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง

กิจกรรม Live-Brary โดย PUBAT x ความสุขประเทศไทย x ธนาคารจิตอาสา x กางใจ Creation ด้วยคอนเซ็ปต์ ชีวิต (ชีวา) ในวงการหนังสือ พบกับกิจกรรมอ่านมนุษย์ หรือห้องสมุดมนุษย์ (Human Library) เพื่อลดอคติที่มนุษย์มีต่อกันในความแตกต่างทุก ๆ ด้าน โดยรวบรวม “หนังสือมนุษย์ : Human Book” กว่า 10 เล่ม (คน) มาให้นักอ่านได้อ่านด้วยกระบวนการรับฟัง เพื่อสร้างความเข้าอกเข้าใจ ก้าวข้ามอคติที่มีอยู่ Book Club ล้อมวงคุยแบบสบาย ๆ กับนักเขียน อาทิ ปราปต์ ผู้เขียนกาหลมหรทึกและคาธ/เวิร์กช็อปวาดภาพและเรียนรู้การออกแบบปกหนังสือ และ Horror & Murders โดยเพจ pigabook ต้อนรับเดือนแห่งความหลอนกับเทศกาลฮัลโลวีน Book Factory การจำลองพื้นที่โรงพิมพ์ จัดวางสิ่งของเหลือใช้และเศษกระดาษเสมือนว่าอยู่ภายในโรงพิมพ์ เห็นสิ่งหลงเหลือจากกระบวนการพิมพ์ในแต่ละขั้นตอนก่อนมาเป็นหนังสือแต่ละเล่ม ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและมีส่วนร่วมสร้างเมืองในฝันไปด้วยกัน


งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 (Book Expo Thailand 2022) เริ่มตั้งแต่วันที่ 12-23 ตุลาคม 2565 (รวม 12 วัน) เวลา 10.00-21.00 น. ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รายละเอียดที่ www.facebook.com/bookthai